กพท.แจงค่าตั๋วโดยสาร เส้นทางภูเก็ต-กรุงเทพฯ ช่วงเทศกาล ราคาแพงกว่าปกติ





3 กุมภาพันธ์ 2567 มีรายงานว่า สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ได้ออกหนังสือชี้แจง ระบุว่า จากกรณีมีผู้เผยแพร่ภาพราคาตั๋วเครื่องบินเส้นทางภูเก็ต-กรุงเทพฯ ในสื่อสังคมออนไลน์ พร้อมข้อความ “ตั๋วจากภูเก็ตไปกรุงเทพเที่ยวละเป็นหมื่น แล้วแบบนี้การท่องเที่ยวจะเป็นยังไง คนทั่วไปจะอยู่ยังไง” นั้น

สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) ในฐานะหน่วยงานกำกับ ดูแล ควบคุม และส่งเสริมการดำเนินงานของกิจการการบินพลเรือนให้เป็นไปตามกฎระเบียบและมาตรฐานสากล ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงในประเด็นดังกล่าวและขอชี้แจงว่า ธุรกิจการให้บริการการเดินทางทางอากาศ เป็นธุรกิจที่มีการลงทุนสูง เนื่องจากต้องปฏิบัติตามมาตรฐานสากลอย่างเคร่งครัด ซึ่งผู้ประกอบการสายการบินต้องลงทุน ทั้งเครื่องมือ อุปกรณ์ สถานที่ ตลอดจนเทคโนโลยี เพื่อให้บริการแก่ผู้โดยสารด้วยความปลอดภัยสูงสุด

ทำให้มีต้นทุนในการให้บริการสูงกว่าการเดินทางในรูปแบบอื่น แต่อย่างไรก็ตามผู้ให้บริการได้ใช้แนวทางทางการตลาดโดยการจัดกลุ่มค่าโดยสารให้มีทั้งกลุ่มที่มีราคาถูกและกลุ่มราคาสูง เพื่อให้ผู้โดยสารกลุ่มที่สามารถวางแผนการเดินทางล่วงหน้า สามารถซื้อตั๋วเดินทางที่มีราคาถูกได้ โดยตั๋วราคาถูกนั้นจะนำไปเฉลี่ยกับตั๋วราคาสูง ซึ่งถูกจำหน่ายให้กับผู้โดยสารที่มาซื้อในระยะเวลากระชั้น ทั้งนี้เพื่อให้สายการบินสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้

หากเปรียบเทียบราคาตั๋วโดยสารเครื่องบินในปัจจุบัน กับราคาในช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 อาจจะเห็นว่าราคาตั๋วเครื่องบินแพงขึ้นมาก แต่ข้อเท็จจริงคือ ในช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 เงื่อนไขต่างๆ รวมทั้งกลไกทางตลาด ในอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทยบิดเบือนไปมาก จากการที่สายการบินเข้าใจว่า ปริมาณเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้นมากนั้น จะสามารถสร้างผลกำไรได้มาก

จึงพากันแข่งขันราคาโดยคาดหวังว่าท้ายที่สุดแล้ว หักลบเที่ยวบินที่มีกำไรกับเที่ยวบินที่ขาดทุนตลอดทั้งปีคงจะพออยู่ได้ และได้กลายเป็นสายการบินต้นทุนต่ำ ที่มีฐานลูกค้ากว้างสำหรับธุรกิจในระยะยาว แต่จากการแข่งขันที่มากเกินไป ทำให้สายการบินต่างพากันขาดทุน แม้จะมีผู้โดยสารจำนวนมาก นอกจากนั้นเงื่อนไขที่สายการบินได้รับอนุญาต ให้ทำการบินในเส้นทางหลัก จะต้องบินในเส้นทางสายรองและสายย่อยด้วย ซึ่งเส้นทางเหล่านั้นมักไม่ค่อยมีกำไรหรือหลายเส้นทางก็ขาดทุน

ดังนั้นราคาตั๋วเครื่องบินที่ประชาชน และผู้โดยสารคุ้นเคยในช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 จึงเป็นราคาที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลของรัฐ จึงใช้นโยบายควบคุมเฉพาะราคาเพดานไม่ให้สูงเกินไป โดยพิจารณาจากต้นทุนต่างๆ ของสายการบิน ไม่ได้มีการควบคุมราคาต่ำสุด

เพราะเห็นว่าการใช้แนวทางนี้จะช่วยให้ประชาชน สามารถเข้าถึงการขนส่งทางอากาศได้ง่ายขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม จากการแข่งขันที่รุนแรงเช่นนั้น ก็ส่งผลต่อเสถียรภาพในการดำเนินงาน ตามแผนธุรกิจของสายการบินที่อยู่ในการกำกับดูแลด้วยเช่นกัน จึงได้ปรับนโยบาย และผลักดันให้สายการบินยุติการแข่งขันด้านราคา มีผลให้สภาพการแข่งขันแบบเดิม ที่มีตั๋วโดยสารราคาถูกจำนวนมาก อย่างเช่นช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 ค่อยๆ ลดลง เพื่อปรับให้เข้าสู่กลไกทางการตลาดที่สมดุลตามปกติ

กฎหมายการเดินอากาศ ได้กำหนดกลไกการควบคุมราคาค่าโดยสารเป็นเพดานขั้นสูงสุดไว้ โดยราคาค่าโดยสารสำหรับสายการบินต้นทุนต่ำ ในเส้นทางภูเก็ต-กรุงเทพฯ (ดอนเมือง) หรือภูเก็ต-กรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ) ต่อเที่ยว ถูกกำหนดไว้ที่ราคา 6,561 บาท หากเลือกจองทั้งขาไปและขากลับ จะอยู่ที่ราคา 13,122 บาท

และกรณีสายการบินที่ให้บริการเต็มรูปแบบ CAAT กำกับเพดานราคาค่าโดยสารในเส้นทาง ภูเก็ต-กรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ) ต่อเที่ยว จะอยู่ที่ราคา 9,074 บาท หากเลือกจองทั้งขาไปและขากลับ จะอยู่ที่ราคา 18,148 บาท ซึ่งอัตราดังกล่าว เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการการบินพลเรือน เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณค่าโดยสารในเส้นทางภายในประเทศ พ.ศ. 2561 โดยราคาดังกล่าวนั้น ยังไม่รวมถึงรายการอื่นๆ เช่น ค่าภาษีสนามบิน ภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมถึงการเลือกที่นั่ง เลือกอาหาร หรือการซื้อประกันภัย

สำหรับกรณีที่มีการเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ว่า “ตั๋วจากภูเก็ตไปกรุงเทพเที่ยวละเป็นหมื่น” นั้น CAAT ได้ตรวจสอบข้อมูลในเบื้องต้นแล้วพบว่า มีการให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง และสร้างความสับสนให้กับประชาชน และ CAAT ได้ตรวจสอบกับสายการบินที่ถูกอ้างอิงแล้วพบว่า ไม่มีการขายตั๋วที่ราคาสูงเช่นนั้น นอกจากนี้ยังได้ตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า ราคาตั๋วดังกล่าวเป็นการจองในช่วงเวลาวันศุกร์ ที่มีความต้องการในการเดินทางสูง และเป็นช่วงเวลากระชั้นเพียง 2-3 วัน ซึ่งทำให้พบตั๋วราคาสูง

ทั้งนี้ ภูเก็ตเป็นจังหวัดท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมตลอดทั้งปี ในช่วงที่มีการร้องเรียนเป็นช่วงใกล้เทศกาลตรุษจีน ทำให้ความต้องการเดินทางสูงกว่าปกติ จะเห็นว่าหากทำการจองล่วงหน้า 1 สัปดาห์ก่อนวันเดินทาง ราคาตั๋วจะพุ่งสูงขึ้นเนื่องจากที่นั่งเหลือน้อย ประกอบกับปัจจุบันสายการบินมีอากาศยานไม่เพียงพอต่อความต้องการเดินทางในช่วงเทศกาล และอยู่ระหว่างการจัดหาอากาศยานเพิ่มเติม

สาเหตุที่ส่งผลทำให้ราคาตั๋วโดยสารช่วงเทศกาลแพงกว่าปกติ และทำให้ตั๋วที่ซื้อช้า มีราคาแพงกว่าตั๋วที่ซื้อเร็ว มีเหตุผลสำคัญ ดังนี้

– สายการบินมีต้นทุนสูงและค่อนข้างคงที่ ขณะที่รายได้ของสายการบินไม่สม่ำเสมอ ดังนั้นในช่วงที่ความต้องการ (demand) มีน้อย เช่น นอกช่วงเทศกาลหรือในเส้นทางที่ตลาดยังไม่เติบโต สายการบินต้องลดราคาเพื่อดึงดูดให้มีผู้โดยสารมากที่สุดเพื่อให้คุ้มกับต้นทุนที่ใช้ไป

บางเที่ยวบินที่อาจจะเห็นว่ามีผู้โดยสารจำนวนมากนั้น อาจไม่ได้กำไรมากนักเพราะราคาตั๋วถูก บางเที่ยวบินที่มีผู้โดยสารน้อย ก็จำเป็นต้องบินเพื่อรักษาสิทธิเส้นทางบินเอาไว้ กรณีนี้ถึงขาดทุนก็ต้องบิน ในช่วงที่มีความต้องการ (demand) มาก จึงเป็นช่วงที่สายการบินต้องเพิ่มราคาเพื่อทำกำไร เพื่อชดเชยและรักษาสมดุลรายได้ให้ครอบคลุมต้นทุนทั้งปี

เพราะในช่วงที่ demand มากนั้น สายการบินย่อมมั่นใจว่าจะสามารถขายตั๋วได้แน่นอน และเป็นโอกาสที่จะทำกำไรได้ ผู้โดยสารอาจมองว่ารัฐและหน่วยงานกำกับดูแลไม่ทำหน้าที่ ปล่อยให้สายการบินกอบโกยเอารัด เอาเปรียบ แต่หากมองจากมุมของสายการบินจะเข้าใจได้ว่า สายการบินก็ไม่สามารถเลือกทำการบินเฉพาะช่วงเทศกาลหรือเส้นทางดีๆ ที่มีกำไรดีได้แต่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องบินทั้งในเส้นทางที่ไม่มีกำไรหรือขาดทุนและในช่วงเวลาที่ผู้โดยสารน้อยด้วย

ทั้งนี้ก็เพื่อให้ระบบการขนส่งทางอากาศของประเทศมีความต่อเนื่อง เพราะความต้องการเดินทางแม้จะไม่ได้มีมากทุกช่วงเวลาแต่ก็มีอยู่ตลอดเวลา การกำกับดูแลจึงต้องเข้าใจบริบทและธรรมชาติของธุรกิจสายการบินด้วย มิเช่นนั้นจะกลายเป็นอุปสรรคต่อสายการบินซึ่งถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในการสร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศ

– กรณีเที่ยวบินเดียวกันต้องจำหน่ายตั๋วราคาแตกต่างกันนั้น มีสาเหตุหลักเดียวกันคือต้นทุนที่สูงในการปฏิบัติการบินแต่ละเที่ยว สายการบินจึงต้องมั่นใจว่าแต่ละเที่ยวบินมีผู้โดยสารมากพอที่จะสร้างรายรับเท่ากับหรือมากกว่าจุดคุ้มทุน ซึ่งมักจะแสดงในรูปของตัวเลขเปอร์เซ็นต์ของที่นั่ง (cabin factor)

สาเหตุนี้ทำให้กว่าจะเกิดเที่ยวบินจริงแต่ละเที่ยว จึงต้องใช้เวลานานกว่า 6 เดือน ตั้งแต่การขอจัดสรรเวลาขออนุญาตทำการบินไปจนถึงการบินจริง ในช่วงเวลาที่ค่อนข้างนานนี้จึงเป็นประโยชน์สำหรับสายการบินในการทำการตลาดเพื่อขายตั๋วให้มีรายได้วิ่งไปถึงจุดคุ้มทุนให้เร็วที่สุดเพื่อสรุปเป็นเที่ยวบินที่จะบินจริง

ดังนั้นจึงจำเป็นต้องใช้กลยุทธ์ด้านราคา มีการทำโปรโมชันต่างๆ เพื่อให้จำหน่ายตั๋วได้มากที่สุด จึงเป็นเหตุผลว่าตั๋วใบแรกๆ จะถูกกว่า ส่วนตั๋วใบท้ายๆ จะแพงมากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับปริมาณความต้องการในช่วงเวลานั้นๆ

อย่างไรก็ตามในบางกรณีแม้ว่าจะมีรายรับไม่ถึงจุดคุ้มทุน สายการบินก็อาจจำเป็นต้องบินเพื่อรักษาสิทธิเส้นทางบิน (Slot) เอาไว้ แต่ในบางกรณีก็อาจใช้สิทธิยกเลิกเที่ยวบินได้ไม่เกิน 20% ของเที่ยวบินทั้งหมดและต้องแจ้งล่วงหน้า รวมทั้งต้องชดเชยชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้โดยสารตามที่กฎหมายกำหนดด้วย

CAAT ตระหนักถึงความเดือดร้อนของประชาชนที่พบปัญหาค่าโดยสารเครื่องบินแพง โดยเฉพาะช่วงเทศกาลหยุดยาว ดังนั้น CAAT จึงเร่งทบทวนหลักเกณฑ์เรื่องการกำหนดเพดานค่าโดยสารเพื่อให้หลักเกณฑ์ค่าโดยสารใหม่มีความเหมาะสมและเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น

หากประชาชนพบเห็นการแสดงราคาตั๋วเครื่องบินที่ผิดปกติ CAAT ขอความร่วมมือทุกท่านถ่ายภาพราคาที่แสดงเส้นทางการบิน (ขาเดียวหรือไปกลับ) รวมถึงภาพที่มีการแสดงราคาสุดท้าย ซึ่งมีรายการย่อยประเภทต่างๆ เช่น ค่าภาษีสนามบิน ภาษีมูลค่าเพิ่ม ประกันภัย ฯลฯ เพื่อง่ายต่อการตรวจสอบ โดยสามารถ ส่งข้อมูลผ่านระบบแจ้งเรื่องร้องเรียน www.caat.or.th/complaint ซึ่งข้อมูลของท่านจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการพิจารณาและเป็นหลักฐานในการลงโทษสายการบินได้ หากพบว่ามีการจำหน่ายในราคาที่เกินจากกฎหมายกำหนด.

 

ข่าวจาก : ไทยรัฐออนไลน์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: