สังเกตวิธีแยกความแตกต่าง ฝีดาษลิง สุกใสและเริม สังเกตจากอะไรได้บ้าง





แพทย์เผยข้อแตกต่างวินิจฉัยแยกโรค “ฝีดาษลิง” สุกใสและเริม ระบุฝีดาษลิงจะมีต่อมน้ำเหลืองโต ผื่นแปรสภาพเป็นตุ่มนาน 1-2 วัน ระยะตุ่มเหมือนกันทั่วร่างกาย เผยฝีดาษคนรุนแรงสุด อัตราตาย 30% ฝีดาษลิงตายน้อยกว่าพอยู่ที่ 6-10%

เมื่อวันที่ 29 พ.ค นพ.สุประกิต จิรารัตน์วัฒนา นายแพทย์ปฏิบัติการ สถาบันโรคผิวหนัง กล่าวถึงการวินิจฉัยแยกโรคระหว่างเริม อีสุกอีใส งูสวัด และฝีดาษลิง ที่มีผื่นตุ่มคล้ายกัน ว่า เริม อีสุกอีใส และงูสวัด เกิดจากไวรัสตระกูลเดียวกัน โดยเริมเป็นตุ่มใสที่แตกง่าย จะเป็นบริเวณเดิมๆ ส่วนใหญ่เป็นที่ริมฝีปาก อวัยวะเพศ ก้นกบ คนไข้อาจเป็นซ้ำๆ ได้ เนื่องจากเชื้อยังฝังในเส้นประสาท พอร่างกายอ่อนแอ อดนอน เครียด จะถูกกระตุ้นให้โผล่ออกมา ส่วนใหญ่เป็นบริเวณที่เดิมๆ ไม่กระจายทั่วร่างกาย หายเองภายใน 7-15 วัน ถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อน และไม่มีอาการไข้นำ

ส่วนฝีดาษลิง จะมีไข้นำมาก่อนและต่อมน้ำเหลืองโต ประมาณ 1-3 วัน จากนั้นผื่นจะเริ่มขึ้น จะเป็นทั้งใบหน้า แขนขา ขณะที่อีสุกอีใสจะเป็นทั้งตัวและมีไข้นำมาก่อนเช่นกัน จากนั้นเริ่มมีผื่นและตุ่มขึ้น

“ข้อแตกต่างคือ อีสุกอีใสเวลามีผื่นตุ่มขึ้น แปรสภาพได้รวดเร็ว ภายใน 12 ชม.จากตุ่มแดงจะกลายเป็นตุ่มใส ตุ่มหนอง และในคนเดียวกันรอยโรคมีหลายระยะในเวลาเดียวกัน ทั้งผื่นแดง ตุ่มใส ตุ่มหนอง ปนกัน แต่ฝีดาษลิงรอยโรคเปลี่ยนสภาพพร้อมกันทั้งร่างกาย เช่น เป็นตุ่มใสทั้งตัว ตุ่มหนองทั้งตัว แต่ละระยะใช้เวลาแปรสภาพนานกว่าประมาณ 1-2 วัน อีกจุดที่ต่างคือ อีสุกอีใสมีไข้ แต่ไม่มีต่อมน้ำเหลืองโต ฝีดาษลิงที่มีต่อมน้ำเหลืองโต ซึ่งเป็นจุดที่ใช้วินิจฉัยแยกโรค” นพ.สุประกิตกล่าว

นพ.สุประกิตกล่าวว่า ทั้งเริม อีสุกอีใสและฝีดาษลิง แพร่เชื้อได้ระหว่างคนสู่คนโดยการสัมผัส การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน ใช้ของใช้ร่วมกับผู้มีรอยโรคระยะแพร่เชื้อ แต่ฝีดาษลิงยังสามารถแพร่เชื้อผ่านละอองฝอยจากทางเดินหายใจส่วนบนได้ โดยการไอจามในช่วงที่มีอาการตั้งแต่เริ่มมีไข้ ในระยะ 3 ฟุตหรือ 1 เมตร และติดได้จากการรับประทานเนื้อสัตว์นำเข้าที่มีเชื้อฝีดาษโดยไม่ได้ปรงสุก หรือผู้ปรุงไปสัมผัสเนื้อสัตว์ที่มีเชื้อ จึงต้องระวังการนำสัตว์ป่าโดยไม่ผ่านด่านกักโรค

นพ.สุประกิต กล่าวว่า ตระกูลฝีดาษ (Pox Virus) มีทั้งฝีดาษวัว (Cowpox) ฝีดาษคนหรือไข้ทรพิษ (Smallpox) และฝีดาษลิง (Monkeypox) อาการจะคล้ายกัน ตัวรุนแรงสุดคือ ฝีดาษคน เคยระบาดไปทั่วโลกตั้งแต่ปี 2460-2489 ระบาดในประเทศไทย จนนำไปสู่การปลูกฝีทั่วประเทศ และกำจัดได้ในปี 2523 องค์การอนามัยโลกก็ประกาศว่ากำจัดโรคฝีดาษได้แล้ว นำไปสู่การยกเลิกปลูกฝี ความรุนแรงฝีดาษลิงน้อยกว่า อัตราการเสียชีวิตฝีดาษคนสมัยนั้นสูงถึง 30% แต่ฝีดาษลิงในประเทศที่ระบบสาธารณสุขดีอัตราเสียชีวิตอยู่ที่ 3-6% ประเทศที่ระบบสาธารณสุขไม่ดีอยู่ที่ 6-10% แต่ถือว่าสัดส่วนสูงพอสมควร

“โรคฝีดาษลิงหายเองได้ในเวลา 2-4 สัปดาห์ หากไม่มีภาวะแทรกซ้อน ภาวะแทรกซ้อนของโรคที่พบได้คือ สมองอักเสบ ปอดอักเสบ และติดเชื้อในกระแสโลหิต หรือติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนบนแผล เป็นเหตุที่ทำให้อัตราเสียชีวิตสูง” นพ.สุประกิตกล่าว

นพ.สุประกิต กล่าวว่า ประเทศไทยไม่เคยปรากฏฝีดาษลิง ส่วนความเสี่ยงในไทยที่จะพบฝีดาษลิงนั้น การเปิดประเทศให้เดินทางเสรีมีความเสี่ยงในทุกประเทศ ไม่ใช่เฉพาะไทย และระยะฟักตัวของโรคนานถึง 21 วัน หลังติดเชื้ออาจจะยังไม่แสดงอาการและเมื่อเดินทางเข้าประเทศใดๆ ก็เป็นไปได้ที่จะพบ ข้อกังวลหนึ่งที่โรคนี้อาจจะสร้างภาระทางสาธารณสุข หากเกิดการระบาด เนื่องจากระยะฟักตัวโรคนานถึง 21 วัน ต้องกักตัวนาน แต่ภาครัฐและหน่วยงานต่างๆ ทุกประเทศ รวมถึงบ้านเรามีการป้องกันสอบสวนโรค โดยเฉพาะประเทศที่มีความเสี่ยง หากเรารู้เท่าทัน มีมาตรการควบคุมดี เว้นระยะห่าง ล้างมือ ใส่หน้ากาก คัดกรองกลุ่มเสี่ยง ก็จะสามารถควบคุมได้

 

ข่าวจาก : ข่าวสด

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: