เล่าละเอียดยิบครั้งแรก!! ‘นพดล ธรรมวัฒนะ’ ย้อนรอยปม ‘ห้างทอง’ เหมือนหรือต่าง ‘เลือดข้นคนจาง’แค่ไหน?





 

นับว่าเป็นละครที่มีกระแสร้อนแรงในโลกออนไลน์ และบนจอแก้วอย่างมาก สำหรับซีรีส์ “เลือดข้นคนจาง” ที่กำลังฉายอยู่ทางช่อง ONE HD ซึ่งออกอากาศทุกวันศุกร์ 20:45 น. และวันเสาร์ 20:10 น. ทั้งยังสามารถติดตามย้อนหลังผ่านทาง Line TV ได้อีกด้วย

 

 

ทั้งนี้ จากกระแสซีรีส์ดังกล่าว จึงทำให้หวนนึกถึง เรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เมื่อปีพุทธศักราช 2542 หรือประมาณ 19 ปีที่แล้ว กับการนำบทละครของซีรีส์เรื่องนี้ มาเปรียบเทียบกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงของตระกูลดังอย่างตระกูล “ธรรมวัฒนะ” ที่เคยเกิดประสบเหตุสะเทือนขวัญ กับการเสียชีวิตของ “ห้างทอง ธรรมวัฒนะ” ที่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง สังคมเข้าใจว่าเป็นการ “ฆาตกรรม” เนื่องด้วยเหตุความขัดแย้งภายในครอบครัวพี่น้อง แต่บัดนี้ ความจริงก็ได้ปรากฏแล้ว หลังจากศาลได้ตัดสินว่า การเสียชีวิตของนายห้างทอง เป็นการ “ฆ่าตัวตาย”

ล่าสุด “ข่าวสดออนไลน์” ได้มีโอกาสเปิดบ้านคุยกับ “นพดล ธรรมวัฒนะ” ผู้ที่ครั้งหนึ่ง “เคย” ตกเป็น “จำเลยสังคม” ของกรณีนี้

 

 

นพดล : ผมเป็นคนที่มีภารกิจมากมาย จึงไม่ค่อยมีเวลาติดตามละครเรื่องไหนเลย เรื่องนี้ก็เช่นกัน แต่ระหว่างที่เดินทางไปภาคใต้ ก็มีสื่อมวลชนโทรมาสอบถามเกี่ยวกับกระแสของละครเรื่องนี้ ก็ทราบว่ามีการอ้างอิงไปถึง เรื่องราวของตระกูลธรรมวัฒนะด้วย

 

 

มารู้จักกับ “ตระกูล ธรรมวัฒนะ?”

นพดล : ความจริงครอบครัวธรรมวัฒนะ ก็เป็นเพียงครอบครัวธรรมดา ที่บังเอิญคุณแม่ (นางสุวพีร์ ธรรมวัฒนะ) เป็นคนมีวิสัยทัศน์กว้างไกล และก็สร้างอาณาจักรของท่าน บนความบริสุทธิ์ทุกอย่าง กระทั่งเป็นผู้ก่อกำเนิด ตลาดยิ่งเจริญ ขึ้นมา จนตลาดแห่งนี้มีความสำคัญในการกำหนดราคาสินค้าในชีวิตประจำวัน เป็นครอบครัวที่ใหญ่ ประกอบด้วยลูก 10 คน โดยคุณแม่ยังได้รับบุตรบุญธรรมมาเพิ่มอีก จนแทบจะตั้งทีมฟุตบอลได้อยู่แล้ว

ระหว่างที่คุณแม่ยังอยู่ ทุกอย่างก็ดำเนินไปด้วยดี และราบรื่น และท่านก็เห็นว่าลูกๆ คนโต ก็จะมีส่วนในการดูแลกิจการที่มีอยู่ได้ บังเอิญลูกคนโตคือ นายเทอดชัย ธรรมวัฒนะ หรือผู้ใหญ่แดง ก็ได้ไปใช้ชีวิตในอเมริกา ซึ่งชอบเรื่องของการพนัน จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คุณแม่ อาจจะให้ความสำคัญน้อยหน่อย ลูกคนต่อมาคือ นายห้างทอง ธรรมวัฒนะ ซึ่งเสียชีวิตในห้องนี้

การเลี้ยงลูก ของตระกูลนี้ เป็นอย่างไร?

นพดล : จริงอยู่ที่วัฒนธรรมของคนจีนจะให้ความสำคัญกับลูกชายมากกว่า โดยเฉพาะลูกชายคนโต คุณแม่ก็มีเชื้อสายจีน 50 เปอร์เซ็นต์ ส่วนคุณพ่อเป็นจีนที่มาจากแผ่นดินใหญ่ แต่คุณพ่อก็เสียชีวิตไปตั้งแต่พวกเรายังเด็ก บทบาทหัวหน้าครอบครัวจึงตกอยู่ที่คุณแม่ รวมถึงการสร้างฐานะทำกิจการต่างๆ ด้วย

ฉะนั้น ความเชื่อมั่นในตัวเองจึงมีสูงมาก การดูแลลูกๆ ของคุณแม่ก็มีบ้างที่ให้ความสำคัญกับลูกผู้ชาย แต่มุมมองการมองโลกของท่านก็ค่อนข้างกว้าง และทันสมัย เพราะมีช่วงหนึ่งที่คุณแม่ได้ไปใช้ชีวิตที่อเมริกา ยกตัวอย่างเช่น เวลาที่ลูกผู้หญิงไปทำธุรกรรมต่างๆ ก็ใส่ชื่อไปด้วย ขณะเดียวกันคุณแม่ก็ให้ตน ซึ่งเป็นลูกคนที่ 4 ดูแลครอบครัว และทรัพย์สินของตระกูลแทนที่จะยกให้พี่ชายคนโต เพราะตนอาจจะมีทักษะในเชิงธุรกิจมากกว่าคนอื่นๆ

 

 

คุณแม่รักลูก “เท่ากัน” หรือไม่? 

นพดล : คุณแม่จะให้ความเท่าเทียมกับลูกๆทุกคน โดยให้ทุกคนมีโอกาสได้รับการศึกษาดีที่สุดเท่าที่จะให้ได้ และดูแลทุกคนอย่างเสมอภาค แต่ก็มีบ้างที่จะให้ความสำคัญกับลูกชาย เพราะ มักจะเป็นลูกที่อยู่ในลำดับต้นๆ และความคาดหวังของท่านก็คงไม่ต่างจากคนอื่นที่ต้องหาผู้สืบทอดตระกูล และกิจการ

ยกตัวอย่างเช่น การที่คุณแม่ให้พี่ห้างทอง ไปสืบความเป็นไปของลูกๆคนอื่น ส่วนนี้ก็อาจจะทำให้บางคนเกิดความไม่พอใจ เช่น กรณีที่นัยนา (ลูกคนที่ 8 ปัจจุบันเสียชีวิต) คบหากับ พ.ต.ท.สมาน พี่ห้างทองก็จะนำมาแจ้งกับคุณแม่ จนท่านตัดสินใจที่จะยับยั้งการแต่งงานของคนทั้งคู่ลง คุณแม่มีความไม่ไว้วางใจบุคคลภายนอกที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับคนในตระกูล เพราะจะมามีส่วนในเรื่องของสมบัติที่ท่านหามาด้วยตัวเองอย่างยากลำบาก

ข่าวจาก : ข่าวสดออนไลน์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: