ประธานเครือข่ายครูชี้แจงปมครูไม่ยอมจ่ายหนี้!! เผยเงินกู้ดอกโหด ส่ง7ปีเงินต้นลดแสนเดียว!!





 

แจงปม ครูไม่ยอมจ่ายหนี้ หลังประกาศ ประกาศปฏิญญามหาสารคาม เผย เงินกู้ดอกโหด ส่ง 7 ปี เงินต้นลดแสนเดียว!! มีแต่จะสร้างภาระหนี้สินทับซ้อน คนได้ประโยชน์คือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

วันที่ 16 กรกฎาคม เวลา 11.30 น. ผู้สื่อข่าวได้พบกับ ดร.อวยชัย วะทา ประธานเครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูแห่งประเทศไทย ทราบว่า คลิปที่เผยแพร่ออกไป เป็นการประชุมผู้นำเครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมเธียเตอร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎมหาสารคาม โดยตนเป็นคนแถลงต่อที่ประชุมว่า เมื่อปี 2552 สกสค. (สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา) ได้ทำข้อตกลงกับธนาคารออมสิน

เพื่อให้สมาชิก ช.พ.ค. และช.พ.ส. กู้เงินจากธนาคารออมสินรายละไม่เกิน 3 ล้านบาท โดยมีกำหนดผ่อนชำระ 30 ปี หรือ 360 งวด มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1.ใช้หนี้สถาบันการเงินและหนี้นอกระบบ 2.เพื่อซื้อบ้านหรือสร้างที่อยู่อาศัย 3.เพื่อซื้อรถยนต์หรือยานพาหนะ 4.เพื่อซื้อหุ้นหรือลงทุนทำธุรกิจ 5.เพื่อใช้จ่ายในการศึกษาหรือธุรกรรมที่จำเป็นอื่นๆ โดยมีข้าราชการครู คณาจารย์ และบุคลากรสังกัดกระทรวงศึกษาธิการเข้าร่วมโครงการประมาณ 450,000 คน วงเงินกว่า 4 แสนล้านบาท

ซึ่งในการดำเนินการช่วยเพื่อนครูตามโครงการดังกล่าวกลับไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมาย ทำให้เพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา ต้องเดือดร้อน แบกรับภาระหนี้สินเป็นจำนวนมาก ซึ่งในการคิดดอกเบี้ยของธนาคารออมสิน ซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ให้กับเพื่อนครู คิดอัตราดอกเบี้ยเหมือนธนาคารพาณิชย์ และปรับสูงขึ้นเรื่อยๆ มีการหักเงินจากผู้กู้ในแต่ละเดือนเป็นค่าดอกเบี้ยแทบทั้งหมด จนกว่าจะได้ดอกเบี้ยครบก่อน แล้วจึงหักเงินต้น ทำให้ผู้กู้ต้องเสียค่าดอกเบี้ยอย่างน้อย 2 เท่าของเงินต้น ในระยะเวลานานถึง 30 ปี ยกตัวอย่างเคสของตน กู้เงินมาจำนวน 1.2 ล้านบาท หักเงินเดือนละกว่า 7,000 บาท ซึ่งส่งเงินมาแล้วระยะเวลา 7 ปี เงินต้นลดลงเพียง 100,000 บาท ยอดหนี้ยังอยู่ที่ 1.1 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังบังคับให้ทำประกันชีวิตอ้างว่า เพื่อประกันความเสี่ยงของธนาคารออมสิน โดยบังคับหักเงินค่าประกัน 10 ปี งวดเดียว 80,000 – 200,000 บาท รวมแล้วกว่า 1 แสนล้านบาท โดยผู้กู้ไม่ได้รับประโยชน์หรือดอกผลจากเงินจำนวนดังกล่าวเลย แต่ผู้ได้รับประโยชน์มหาศาลคือ บริษัทประกัน ธนาคารออมสิน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ สกสค. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่มีโครงการระดมทุน หรือโครงการร่วมทุนจากผู้กู้ ครูอาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา เพื่อเพิ่มพูนรายได้หรือหาทางปลดเปลื้องหนี้สิน และเพิ่มพูนรายได้อย่างเป็นระบบ นอกจากโครงการขายบ้าน ขายรถ ขายประกัน และโครงการส่งเสริมการเป็นหนี้อื่นๆ ซึ่งยิ่งแต่จะสร้างภาระหนี้สินทับซ้อนขึ้นไปยิ่งกว่าเดิมอีก

โดยในวันดังกล่าว มีนายตวง อันทะไชย ประธานกรรมาธิการการศึกษาและกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้เดินทางมารับหนังสือข้อเรียกร้องจากองค์กรครู โดยทางพี่น้องเครือข่ายครู ขอเรียกร้องให้ 1.ให้ดำเนินการพักหนี้ครู อาจารย์และบุคลากรทางการศึกษาผู้ได้รับความเดือดร้อนจากโครงการ ช.พ.ค. โดยเร่งด่วน 2.รัฐบาลประกาศพักหนี้ครูเป็นเวลา 6 เดือน หลังจากนั้นให้ลดดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 1 เหมือนเกษตรกร 3.ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติและรัฐบาล แต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญและคณะกรรมการร่วมแก้ไขปัญหาหนี้สินครู พร้อมทั้งประกาศเป็นวาระแห่งชาติภายในเดือนตุลาคม 2561 นี้

ก่อนที่จะมีการกล่าวปฏิญญามหาสารคาม โดยนายสุริยนต์ สุวรรณวงศ์ ประธานชมรมครูภาคกลาง เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการต่อสู้ ตามที่ปรากฏคลิปที่แพร่กระจายออกไป โดยมีสโลแกนร่วมกันว่า “ปลดหนี้ครู ปลดหนี้ กยศ. ปลดแอกการศึกษาไทย”

ด้าน ดร.ชนิสรา ดวงบุบผา ผอ.สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและสวัสดิการข้าราชการครูและบุคคลากรทางการศึกษา มหาสารคาม(สกสค.) ให้ความเห็นกรณีนี้ว่า ไม่สามาถให้ความเห็นใดๆ ได้เป็นเรื่องที่ทางเลขาฯ สกสค.จะต้องออกมาชี้แจงสร้างความเข้าใจกับสมาชิกทั้งหมด

 

 

ข่าวจาก : ข่าวสดออนไลน์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: