ลูกจ้างร้องทุกข์ ทำงานบริษัทใหญ่ 6 เดือน บ่ายเบี่ยงสัญญา ผ่านโปรฯกลับถูกไล่ออก





8 พฤศจิกายน 2565 คุณ สมาชิกหมายเลข 7293331 สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม ตั้งกระทู้หัวข้อ “(อุทาหรณ์มนุษย์เงินเดือน) สัญญาจ้างสำคัญมาก อย่าไปเชื่อ HR กับคำขายฝันถ้ามันไม่ได้เป็นลายลักษณ์อักษร” เล่าเรื่องราวที่เมื่อ 6 เดือนก่อน เธอได้สัมภาษณ์งานกับบริษัทด้านไอทีแห่งหนึ่ง โดยรายละเอียดงานโปรเจกต์ที่ได้รับเป็นงานที่โครงสร้างค่อนข้างใหญ่ มีบางส่วนที่เธอทำได้ แต่ก็มีหลายส่วนที่เธอไม่ถนัด แต่ก็ตกลงรับงานเพราะทางบริษัทบอกว่าเดี๋ยวจะมีทีมที่เข้ามาสนับสนุนอีก

หลังจากสัมภาษณ์เสร็จตกลงเงินเดือนทาง HR แจ้งเธอทำนองว่า จะยังไม่มีสัญญาจ้างที่เป็นลายลักษณ์อักษรทางกฎหมาย แต่ให้มาทำงานเลย เงินเดือนจะเป็นรูปแบบโอนตรง โดยให้เหตุผลว่าทางฝ่ายบริหารกำลังทำเรื่องอยู่ ซึ่งเธอก็ไม่ได้เอะใจอะไร และได้เริ่มงานเลย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะบริษัทดูน่าเชื่อถือมากในระดับหนึ่ง

เมื่อทำได้ประมาณ 1 เดือน สุดท้ายโปรเจกต์งานนี้ก็มีแค่เธอที่ทำคู่กับหัวหน้าอีกคนหนึ่ง ทางฝ่ายบริหารแจ้งปากเปล่าว่า ให้ทำไปก่อนเดี๋ยวหาคนมาเพิ่มและหา OT ให้ ระหว่างนั้นเธอก็พยายามเพิ่มทักษะการทำงานมาเรื่อย ๆ จนทำได้หลายอย่างในคนเดียว แต่กลายเป็นว่าไม่มีการจ้างพนักงานมาเสริม แต่กลับยัดงานให้เธอเยอะขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้เครียดมาก เพราะโดนกดดันให้ต้องทำงานที่ไม่ถนัดจนแทบไม่ได้พักผ่อน อ้างว่าถ้าช้าฝ่ายอื่นจะติดขัดหมด บรรยากาศการทำงานอึดอัดมาก เมื่องานช้าก็จะถูกฝ่ายอื่นโยนมาว่าช้าจากงานที่เธอทำ

เรื่องของค่าตอบแทนระหว่างนั้น แม้เงินเดือนจะไม่ได้แย่ แต่ก็การรับผิดชอบงานนั้นเกินรายละเอียดตอนแรกไปมาก นอกจากนี้ก็ยังไม่เคยได้ OT รวมทั้งไม่มีสวัสดิการใด ๆ แม้แต่ประกันสังคม เนื่องจากผ่านมา 6 เดือน ไม่เคยได้รับสัญญาจ้างงาน เคยไปสอบถามแล้วก็ชี้แจงว่าไม่ใช่เรื่องที่ว่าเธอไม่ผ่านโปรแต่อย่างใด ทำให้ระหว่างนั้นที่ทนทำงานอยู่เพียงเพราะแค่ได้เงินเดือนล้วน ๆ

สุดท้ายเมื่อไม่กี่วันก่อน เมื่อเธอกับหัวหน้าช่วยกันทำโปรเจกต์จนจบ สรุปว่าเธอกลับโดนให้ออกโดยไม่ให้ค่าชดเชย ได้เพียงแค่เงินเดือนเดือนสุดท้าย จึงรู้สึกว่าไม่ยุติธรรม แต่ก็ไม่อยากว่าร้ายอะไรบริษัท เพราะมองว่าเธอผิดเองที่หลงเชื่อและไม่ได้เซ็นสัญญาทำงาน จึงอยากให้เรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์สำหรับพนักงานว่า เรื่องของสัญญาจ้างตามกฎหมายนั้นสำคัญมาก เห็นบริษัทใหญ่โต ออฟฟิศกว้างขวาง ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะไม่เอาเปรียบเรา เช่นเคสของเธอที่คิดว่าจะเป็นพนักงาน แต่กลายเป็นแค่ทำฟรีแลนซ์เท่านั้น

ทั้งนี้หลังกระทู้ดังกล่าวถูกแชร์ออกไป มีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นที่น่าสนใจจำนวนมาก บางส่วนมั่นใจว่ากรณีนี้สามารถเรียกร้องค่าชดเชยได้ เพราะสัญญาจ้างไม่จำเป็นต้องทำเป็นหนังสือ รวมทั้งยังมีหลักฐานต่าง ๆ เช่นข้อมูลตอนสมัครงาน หรือเงินเดือนที่ได้รับ เป็นต้น

นอกจากนี้บางรายเชื่อว่า เคสแบบนี้คือทำงานเกิน 119 วัน สามารถแจ้งให้ HR จ่ายค่าชดเชยเลิกจ้างให้เทียบเท่าค่าจ้าง 30 วัน และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าอีก 30 วัน หรือสามารถปรึกษากรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาอีกด้วย

 

ข่าวจาก : kapook

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: