มีคำตอบ! ทำไมคุณถึงชอบนอนขี้เกียจในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์?





การนอนในช่วงสุดสัปดาห์เป็นหนึ่งในความสุขของใครหลายคน เช่นเดียวกับวัยรุ่นส่วนใหญ่ที่มีแนวโน้มจะโผล่ออกจากเตียงนอนในช่วงเที่ยงวันมากกว่าวัยกลางคนเช่นพ่อหรือแม่ของพวกเขา แต่ถึงเป็นแบบนั้น แม้จะอยู่ในกลุ่มอายุเดียวกัน ความแตกต่างของบุคคลก็ยังมีอยู่

[ads]

นาฬิกา

   เช่นเดียวกับสัตว์อื่นๆ มนุษย์จะมีนาฬิการ่างกาย (circadian clock หรือ human clock) ที่คอยควบคุมระบบเมทาบอลิซึม กระบวนการทำงานของอวัยวะต่างๆ พฤติกรรม อุณหภูมิร่างกาย การรับรู้ ความตื่นตัว รวมทั้งวงรอบของการนอนหลับ โดยที่มีแสงสว่างและความมืดเป็นตัวควบคุมสำคัญ ที่คอยช่วยให้สมองส่วนไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) สามารถควบคุมการทำหน้าที่ต่างๆ ของร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

   เมื่อร่างกายมีนาฬิกาชีวภาพที่คอยควบคุมการทำงานของระบบต่างๆ ภายในร่างกายแล้ว ในชีวิตประจำวันของมนุษย์เราก็ยังมีนาฬิกาทางสังคม (social clock) ซึ่งเป็นหน้าปัดแสดงเวลาที่ถูกกำหนดโดยวัฒนธรรมและโครงสร้างทางสังคม เป็นตัวช่วยให้เราสามาถทำหน้าที่ได้ตรงเวลาตามรูปแบบของการใช้ชีวิต และเวลาทางสังคมนี่เองที่ทำให้นาฬิการ่างกายในแต่ละบุคคลมีความแตกต่างกัน กล่าวคือในชีวิตของการเรียนหรือการทำงาน แต่ละคนจะมีหน้าที่และความรับผิดชอบ ชั่วโมงการทำงาน ตลอดจนตารางงานที่ทำให้เรามีเวลาในการพักผ่อนที่แตกต่างกันนั่นเอง

   คุณเข้านอนหลังจากที่พระอาทิตย์ตกดินและต้องไปทำงานในเช้าวันถัดมา เสียงนาฬิกาปลุกจะปลุกให้คุณตื่นขึ้น ไม่ใช่เพราะร่างกายพร้อมที่จะตื่นเอง และนั่นก็ไม่ใช่ความผิดของนาฬิกาปลุกที่ทำให้คุณนอนไม่พอ

   คนที่มีตารางการทำงานที่ยุ่งเหยิง ทำงานไม่เป็นเวลา ใช้ชีวิตโต้รุ่ง หรือมีพฤติกรรมการนอนที่ไม่สอดคล้องกับวงจรของแสงตามธรรมชาติ จะเกิดหนี้การนอน (Sleep Debt) ยิ่งอดนอน หนี้การนอนก็ยิ่งสะสม ในท้ายที่สุดผลลัพธ์จากการที่เราปล่อยให้นาฬิการ่างกายเดินไม่สอดคล้องกับแสงสว่างตามธรรมชาติและความมืดนี้ ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ร่างกายจะปรับให้มีการพักผ่อนอย่างเพียงพอจนกระทั่งใช้หนี้การนอนจนหมด แล้วนาฬิการ่างกายจะบอกเวลาที่คุณควรตื่นเอง ซึ่งไม่ใช่เวลาที่คุณต้องตื่นนอนตามเสียงนาฬิกาปลุก ซึ่งเป็นเวลาทางสังคมที่เตือนให้เราไปทำหน้าที่นั่นเอง

นอกจากนี้การพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ ยังส่งผลต่อการเกิดภาวะที่เรียกว่า Social jetlag ซึ่งเป็นอาการแจ็ตแล๊กทางสังคมที่เกิดจากวิถีชีวิต จะทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยล้าจากการเรียนหรือการทำงาน ทั้งยังเป็นสาเหตุของโรคอ้วนอีกด้วย

วัยและการนอนหลับ

   โดยทั่วไปมนุษย์เราจะมีความต้องการการนอนที่ลดลงเรื่อยๆ ตามอายุที่มากขึ้น ช่วงวัยรุ่นต้องการการนอนหลับประมาณ 6-8 ชั่วโมงหรือมากกว่า และจากนั้นก็จะลดลงตามอายุที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นเมื่อวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่มีตารางการทำงานและการนอนที่เหมือนกัน วัยรุ่นจะเป็นวัยที่มีหนี้การนอนและต้องการเวลาในการใช้หนี้การนอนที่มากกว่าวัยผู้ใหญ่

   อย่างไรก็ตาม ภายในกลุ่มผู้ใหญ่ที่มีอายุเท่ากันหรือใกล้เคียงกัน บางคนอาจจะนอนดึกและนอนนานกว่าคนอื่นๆ ในช่วงสุดสัปดาห์ ในที่นี้ไม่ได้พูดถึงปัจจัยจากผลกระทบของแสงหลอดไฟที่ไปขัดขวางการสร้างเมลาโทนิน (Melatonin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยในการนอนหลับ บางคนอาจมีนาฬิการ่างกายที่เดินเร็วเป็นปกติ นาฬิกานั้นก็จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพแม้ว่าจะต้องทำงานที่เวลาน้อยกว่า 24 ชั่วโมง กับบางคนที่นาฬิกาเดินช้าแม้มีเวลามากกว่า 24 ชั่วโมงก็ทำงานไม่ได้ประสิทธิภาพ ดังนั้นคนที่มีนาฬิการ่างกายไม่ได้ประสิทธิภาพนี้ก็จะมีความต้องการการนอนที่มากในระหว่างสัปดาห์การทำงาน และจะต้องการการนอนที่ยาวนานมากขึ้นในช่วงสุดสัปดาห์

   ทีนี้ก็พอจะทราบแล้วว่า ทำไมหลายคนจึงรอคอยที่จะได้นอนอืดอยู่บนเตียงช่วงเสาร์-อาทิตย์ อย่าโทษนาฬิกาปลุกที่ทำให้คุณนอนไม่พอ แต่ให้ลองปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตและนิสัยการนอนเพื่อที่คุณจะได้มีเวลานอนมากขึ้น และสามารถตื่นในตอนเช้าได้อย่างสดชื่น ได้ทั้งลดความล้าหลังทางสังคม แถมความรู้สึกกระปี้กระเปร่าพร้อมรับแสงแรกในเช้าวันถัดไป

 

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: