ไขความลับ! ผมตรงและผมหยิกเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาได้อย่างไร?!!





   ลักษณะผมตรงหรือผมหยิกนั้นเป็นลักษณะที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม จึงเป็นลักษณะเฉพาะของแต่ละบุคคลที่มีมาแต่กำเนิด แต่ในปัจจุบันนี้ลักษณะผมดังกล่าวนี้สามารถเปลี่ยนแปลงได้เมื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางกายภาพของเส้นผม โดยการเปลี่ยนสไตล์ให้ผมหยิกเป็นลอน หรือทำให้ผมเรียบตรงอาจจะใช้น้ำ ความร้อน และอุปกรณ์ต่างๆ ช่วยในการจัดทรงแบบชั่วคราวได้ง่ายๆ ด้วยตนเอง หรืออาจเข้าร้านทำผมซึ่งช่างจะใช้สารเคมีเพื่อทำให้ผมเรายืดตรงหรือหยิกเป็นลอนที่คงอยู่ได้นานกว่า ซึ่งการใช้ความร้อนหรือสารเคมีดังกล่าวเพื่อเปลี่ยนแปลงรูปร่างของเส้นผมต่างก็อยู่บนพื้นฐานเดียวกันคือการจัดการกับโครงสร้างทางเคมีของเส้นผมของเรา แล้วความร้อนหรือสารเคมีทำให้ลักษณะผมเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร ก่อนที่จะตอบคำถามนี้เราจะต้องเข้าใจเกี่ยวกับโครงสร้างของเส้นผมเสียก่อน

   เส้นผม (hair shaft) งอกออกจากปุ่มรากผม (hair follicle) ที่อยู่ใต้หนังศรีษะในชั้นหนังแท้ (dermis) โดยเส้นผมส่วนที่โผล่พ้นหนังศีรษะออกมาเป็นส่วนที่ไม่มีชีวิตแล้ว ประกอบด้วยเคอราทิน (keratin) เป็นส่วนใหญ่ บริเวณปุ่มรากผมจะเชื่อมต่อกับต่อมไขมัน (sebaceous gland) ชึ่งทำหน้าที่ผลิตไขผิวหนัง (sebum) ออกมาเคลือบเส้นผมไว้เพื่อช่วยให้เส้นผมลื่น เป็นเงางาม และไม่พันกัน ดังภาพที่ 2

เมื่อดูจากโครงสร้างเส้นผมจะพบว่าเกิดจากเคอราทิน 2 สายพันบิดรวมกัน โดยเคอราทินเป็นพอลิเพปไทด์ (polypeptide) สายยาวที่มีลักษณะเป็นเกลียว (alpha-helix) และจัดเป็นโปรตีนประเภทเส้นใย (fibrous protein) เคอราทิน 2 สายที่พันบิดกันรวมกันแต่ละเส้นจะพันบิดรวมกันอีกครั้งกลายเป็นโครงสร้างที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เรียกว่า protofilament และ protofibril ตามลำดับ จากนั้นแต่ละ protofibril จะรวมกันกลายเป็นโครงสร้างที่เรียกว่า intermediate filament และสุดท้ายจะรวมกันกลายเป็นเส้นผมแต่ละเส้น โดยหน่วยย่อยของเคอราทินก็เหมือนกับโปรตีนประเภทอื่นๆ นั่นคือประกอบด้วยกรดอะมิโนหลากหลายชนิด ชนิดของกรดอะมิโนที่พบว่ามีปริมาณมากในสายเคอราทิน ได้แก่ ซิสเทอีน (cysteine) ซึ่งเป็นกรดอะมิโนที่มีอะตอมของซัลเฟอร์ (S) เป็นองค์ประกอบ เมื่อซิสเทอีนที่อยู่บนสายเคอราทินแต่ละสายอยู่ใกล้กันจะสามารถเกิดพันธะไดซัลไฟด์ (disulfide bond, S-S) เชื่อมระหว่างกันได้ ซึ่งเป็นพันธะที่ค่อนข้างแข็งแรงสามารถยึดเคอราทินแต่ละสายให้อยู่ด้วยกันได้ โดยตำแหน่งของพันธะไดซัลไฟด์ที่แตกต่างกันคือสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เส้นผมมีรูปร่างหลากหลายแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล นอกจากพันธะไดซัลไฟล์แล้วยังมีพันธะอื่นๆ อีกที่ส่งผลต่อรูปร่างของเส้นผม เช่น พันธะไฮโดรเจน (hydrogen bond) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพันธะที่เกิดระหว่างอะตอมของออกซิเจนและอะตอมของไฮโดรเจนที่อยู่ใกล้กัน แต่มีความแข็งแรงน้อยกว่าพันธะไดซัลไฟล์

การเปลี่ยนแปลงรูปร่างของเส้นผมนั้นสามารถเกิดขึ้นได้หากทำให้พันธะไดซัลไฟด์หรือพันธะไฮโดรเจนเหล่านี้เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งรูปร่างของเส้นผมจะเปลี่ยนแปลงแค่ชั่วคราวหรือคงอยู่ได้นานนั้นขึ้นอยู่กับว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นที่พันธะชนิดใด

    กรณีรูปร่างเส้นผมเปลี่ยนแปลงชั่วคราว ยกตัวอย่างเช่น หากเข้านอนขณะที่ผมยังเปียกชื้นจะพบว่าเมื่อตื่นเช้ามาเส้นผมจะมีรูปร่างที่เปลี่ยนไปอาจกระดก ชี้ฟู ไม่เป็นทรง หรือเวลาไปสระผมที่ร้านทำผมซึ่งช่างผมจะหวีและเป่าผมที่เปียกด้วยความร้อนให้แห้งเพื่อจัดให้เป็นทรงตามที่ต้องการ การเปลี่ยนแปลงรูปร่างของเส้นผมในกรณีนี้จะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับพันธะไฮโดรเจนซึ่งเป็นพันธะที่ไม่ได้ยึดเหนี่ยวกันอย่างแข็งแรง สามารถถูกทำลายได้ด้วยน้ำหรือความชื้น เนื่องจากโมเลกุลของน้ำจะเข้าแย่งจับกับอะตอมของออกซิเจนหรืออะตอมของไฮโดรเจนของสายเคอราทินได้  แต่เมื่อผมแห้งพันธะไฮโดรเจนระหว่างสายเคอราทินสามารถเกิดขึ้นได้ใหม่เมื่ออะตอมของออกซิเจนและอะตอมของไฮโดรเจนที่อยู่บนแต่ละสายของเคอราทินอยู่ใกล้กันจนสามารถเกิดพันธะไฮโดรเจนได้ซึ่งอาจไม่ได้เกิดขึ้นที่ตำแหน่งเดิม จึงส่งผลให้รูปร่างของเส้นผมเปลี่ยนแปลงไปได้ เช่น จากเดิมผมตรงกลายเป็นผมหยิกเป็นลอน แต่อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงในกรณีนี้จะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สามารถเกิดได้เพียงชั่วคราว พันธะไฮโดรเจนที่เกิดขึ้นใหม่เหล่านี้สามารถถูกทำลายลงได้เมื่อโดนน้ำหรือความชื้นจากอากาศอีกครั้ง นอกจากนี้พันธะไดซัลไฟล์ซึ่งเป็นพันธะที่แข็งแรงกว่าพันธะไฮโดรเจนและไม่ได้ถูกทำลายด้วยน้ำหรือความชื้นก็เป็นอีกปัจจัยที่จะค่อยๆ ทำให้เส้นผมกลับมามีรูปร่างเหมือนเดิม คือ กลับเป็นเส้นตรงเหมือนเดิมนั่นเอง

          กรณีรูปร่างเส้นผมเปลี่ยนแปลงและคงการเปลี่ยนแปลงได้นาน ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่าพันธะไดซัลไฟล์เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เส้นผมที่เปลี่ยนแปลงชั่วคราวกลับมีรูปร่างเหมือนเดิม ดังนั้นหากต้องการเปลี่ยนแปลงรูปร่างของเส้นผมทั้งจากผมตรงเป็นผมหยิกหรือผมหยิกเป็นผมตรงและต้องการคงรูปร่างที่เปลี่ยนแปลงนี้ไว้ได้นาน จะต้องเปลี่ยนแปลงที่พันธะไดซัลไฟล์นี้นั่นเอง  โดยการทำลายพันธะไดซัลไฟล์ระหว่างสายเคอราทินซึ่งเป็นพันธะที่แข็งแรงจึงจำเป็นต้องใช้น้ำยาที่มีสารเคมีซึ่งสามารถทำให้พันธะนี้ถูกทำลาย ทำให้เคอราทินแต่ละสายอ่อนตัวและสามารถจัดรูปร่างใหม่ได้ตามที่ต้องการ ซึ่งในขั้นตอนนี้ช่างผมจะใช้โรลม้วนผมเพื่อจัดรูปร่างให้เส้นผมหยิกหรือใช้แผ่นเหล็กเรียบเพื่อจัดรูปร่างเส้นผมให้ตรง และเพื่อให้เส้นผมสามารถคงรูปร่างที่เปลี่ยนแปลงนี้ไว้ได้นานช่างผมจะใช้น้ำยาที่มีสารเคมีอีกชนิดหนึ่งซึ่งสามารถทำให้เกิดพันธะไดซัลไฟล์ขึ้นใหม่ในตำแหน่งใหม่เพื่อให้ได้รูปร่างของเส้นผมตามที่ต้องการ

       อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วในตอนต้น ลักษณะเส้นผมนั้นเป็นลักษณะที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ดังนั้นแม้ว่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของรูปร่างเส้นผมที่คงการเปลี่ยนแปลงไว้ได้นาน แต่เมื่อเวลาผ่านไปเส้นผมที่งอกยาวขึ้นใหม่จะยังคงมีลักษณะเหมือนเดิม จึงทำให้อาจต้องไปดัดหรือยืดเพิ่มเติมซ้ำอีกครั้ง เพื่อให้เส้นผมที่งอกขึ้นใหม่นั้นเปลี่ยนแปลงรูปร่างตามต้องการ แต่อย่างไรก็ตามการใช้น้ำยาเพื่อปรับเปลี่ยนลักษณะเส้นผมนั้นก็ส่งผลเสียต่อสภาพเส้นผมเช่นกัน ทำให้เกิดภาวะผมแห้งและแตกปลายได้ จึงจำเป็นดูแล บำรุง รักษาเส้นผมโดยอาจเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เหมาะสมสำหรับเส้นผมที่ผ่านการดัดหรือยืดมา

ขอบคุณนื้อหาจาก:สถาบันการสอนวิทยาศาสตร์เเละเทคโนโลยี [Online]http://biology.ipst.ac.th

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: