ไม่ใช่ปัญหา! รายรับน้อย แต่อยากเก็บเงินเยอะๆต้องทำไง…





รายได้ของแต่ละคนนั้นย่อมไม่เท่ากัน แต่สำหรับคนที่คิดจะเก็บเงินนั้น เขาคนนั้นจะไม่เอาความคิดที่ว่า รายได้น้อยเป็นอุปสรรคต่อการออม มาคิดให้หนักอกหนักใจ แม้ความจริงการมีรายได้น้อยจะทำให้เกิดข้อจำกัดบางประการ แต่สำหรับเรื่องการออมนั้น รายได้น้อย แต่อยากเก็บเงินให้ได้เยอะ ๆ ก็ไม่ใช่ปัญหา ติดตามจากบทความนี้ดูแล้วจะรู้ว่า รายรับน้อย แต่อยากเก็บเงินเยอะ ๆ ต้องทำไง ไปดูกัน

[ads]

วิธีแรก “ต้องทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย”

   การทำเรื่องยาก ๆ ที่หลายคนทำไม่ได้ ให้กลายเป็นเรื่องง่าย ๆ กลายเป็นเคล็ดไม่ลับสำหรับคนที่อยากออมเงินที่ถูกปรับมาใช้อย่างแพร่หลาย เรื่องยากของคนมีรายได้น้อยก็คือ การแบ่งเงินเก็บก่อนนำไปใช้ เพราะการที่เราจะเก็บเงินนั้นไม่ง่ายเลย สาเหตุก็เพราะเรานำรายได้ที่ได้รับมาแต่ละเดือน แต่ละงวด ไปใช้จ่ายก่อน ที่เหลือค่อยนำมาเก็บ ทำแบบนี้ส่วนใหญ่จะไม่มีเหลือจะให้เก็บ

   เคล็ดไม่ลับก็คือ ควรเก็บเงินก่อนนำไปใช้จ่าย รายได้น้อยก็เก็บน้อย รายได้มากก็เก็บมาก เหลือเท่าไรค่อยนำไปจับจ่าย หลายคนอาจคิดว่าเก็บทีละเล็กละน้อยจะได้มากมายอะไร แต่สิ่งที่ได้มากกว่าเงินเก็บก็คือ “วินัยทางการเงิน” คนไม่เก็บก่อนใช้จะไม่มีวันเข้าถึงสิ่งนี้ บางคนเก็บเดือนละ 1,000 บาท ปีหนึ่งก็ได้ 12,000 บาท สิบปีได้ 120,000 บาท ก็นับว่าไม่น้อย ระหว่างทางถ้าเรามีรายรับมากขึ้นก็ทยอยเก็บเพิ่มขึ้นได้ ผ่านไปหลายปี คนหนึ่งมีเงินเก็บหลักแสน แต่อีกคนไม่มีเงินเก็บเลย อยากเป็นคนแรกก็ต้องเริ่มต้นออมเสียแต่วันนี้เลยจะดีที่สุด

วิธีที่สอง “คิดก่อนซื้อ”

   บางครั้ง หรือหลายครั้งเราจับจ่ายซื้อของด้วย “อารมณ์” ถ้าเรื่องใดมีอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง รับรองว่าเราต้องช้อปฯ แหลกอย่างไม่ต้องสงสัย เรื่องของอารมณ์นั้นจะทำให้เราซื้อของโดยไม่คิดได้ง่าย ๆ บางครั้งของที่ไม่จำเป็นแต่อยากได้ บางคราไม่มีเงินก็กดเงินสดมาซื้อก่อน หรือผ่อนกับบัตรเครดิต แล้วไปจ่ายขั้นต่ำ แทนที่จะจ่ายเต็มจำนวน นั่นคือจุดเริ่มต้นของหายนะทางการเงินทีเดียว

   สิ่งที่ควรจะเป็นก็คือ เราต้องรู้จักคิดก่อนซื้อ อย่าให้อำนาจของอารมณ์มาบดบังความคิด ทำให้เราขาดวินัยในการใช้จ่าย อย่ายอมจำนนต่อภาพใน “เฟซบุ๊ก” ที่เพื่อนโชว์ของ โชว์อวดว่าไปเที่ยว ไปกินอาหารหรูหรา จงคิดไว้เสมอว่าเบื้องหลังของการใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือยมักจะจบไม่สวยเสมอ อย่าลืมว่าต้องคิดก่อนซื้อ

วิธีที่สาม “ต้องกำหนดเป้าหมายการออมเงิน”

   หากเราเดินทางโดยไร้เป้าหมาย คงไม่มีทางไปถึงจุดหมายที่ตั้งไว้ การมีเป้าหมายทางการเงินถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับนักออมเงินที่ควรทำให้ได้ วิธีการกำหนดเป้าหมายอาจกำหนดเป็นตัวเงินไปเลย หรือกำหนดเป็นวินัยในการลงทุนก็ได้ ถ้ากำหนดเป็นตัวเงิน เช่น เก็บเงินแสนแรกในอีก 5 ปี หรือเก็บเงินล้านแรกในอีก 10 ปี ต่อจากนี้ เป้าหมายที่เป็นตัวเงินควรชัดเจน จับต้อง ทำได้จริง จึงจะเกิดผลดี

   ถ้าเราตั้งเป้าหมายเป็นนามธรรมหน่อย เช่น จะเก็บก่อนใช้ให้ได้ทุกเดือน หรือต้องมีเงินเก็บแบ่งเป็นก้อน ๆ ได้แก่ เงินเก็บเย็น เงินลงทุน เงินฉุกเฉิน เงินใช้จ่าย การตั้งเป้าหมายแบบนี้จะเป็นการฝึกนิสัยที่ดีทางการเงิน และไม่เคร่งเครียดจนเกินไป เมื่อเราทำได้สำเร็จก็จะเห็นเป็นรูปธรรมจับต้องได้ในที่สุด

วิธีที่สี่ “ใช้ตัวช่วย ลงทุนให้เงินงอกเงย”

   การเก็บออม แล้วนำเงินไปฝากธนาคารอาจดูเข้าท่าสำหรับคนที่ไม่เคยเก็บเงินได้เลย แต่จะดีกว่าถ้าเงินเก็บเรางอกเงย และเอาชนะเงินเฟ้อได้ อย่างที่เรารู้ว่าเงินออมกับธนาคารด้วยภาวะดอกเบี้ยต่ำในปัจจุบันโอกาสที่เราจะเอาชนะเงินเฟ้อแทบไม่มี หรือเป็นไปได้น้อยมาก แต่ไม่เหมือนกับการนำเงินไปลงทุนต่อยอดให้งอกเงย แม้จะมีความเสี่ยง แต่ก็มีผลตอบแทนที่น่าสนใจ โดยตัวช่วยดังกล่าวได้แก่

1.ลงทุนในกองทุนรวม การลงทุนในกองทุนรวมเท่ากับเราจ้างผู้จัดการกองทุนเก่ง ๆ ช่วยต่อยอดให้เงินเรางอกเงยได้เร็วขึ้น โดยเฉลี่ยแล้วกองทุนรวมจะให้ผลตอบแทนราว 5-10% ต่อปี 

2.ลงทุนในหุ้น การซื้อหุ้นนั้นดูง่าย แต่ทำให้สำเร็จจริงไม่ง่าย เคล็ดไม่ลับก็คือ ให้ซื้อหุ้นระยะยาว หุ้นที่มีอนาคตดี มีปันผลดี ซื้อแล้วปล่อยไปเลยไม่ต้องติดตามมาก แต่ต้องเป็นหุ้นที่แข็งแกร่งไม่เจ๊งง่าย ๆ เลือกหุ้นตัวใหญ่ไว้ก่อน โดยเฉลี่ยแล้วหุ้นจะให้ผลตอบแทนราว 5-10% ต่อปี

3.ซื้อฉลากออมเงินรูปแบบต่าง ๆ ฉลากออมเงินในปัจจุบันก็มีให้เลือกมากมาย โดยรวมแล้วผลตอบแทนสู้กองทุนรวมกับหุ้นไม่ได้ แต่มีความเสี่ยงต่ำกว่า

   อย่างไรก็ตามสำหรับคนมีเงินน้อยอย่าไปคิดว่ามันเป็นอุปสรรคในการเก็บเงินของเรา หัดเริ่มเก็บเงินเเต่น้อย  ดีกว่าไม่มีเงินเก็บเอาเสียเลย หากเกิดเรื่องฉุกเฉินอย่างน้อยเราก็เบาใจได้บ้าง

ขอบคุณเนื้อหาจาก:www.krungsri.com

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: