เงิน 1,000 บาท กับอีก 1 สัปดาห์ก่อนเงินเดือนออก ใช้อย่างไร?ให้พอ





   บ่อยไปนะคะที่ยังไม่ทันถึงเวลาที่เงินเดือนจะออกแต่เงินก็แทบจะไม่เหลือแล้วหรือบางครั้งก็เหลืออยู่แค่นิดเดียว ไม่ว่าจะเกิดจากเงินเดือนน้อยอยู่แล้วไม่ค่อยพอใช้ หรือเป็นเพราะช่วงต้นเดือนกับกลางเดือนใช้หนักมือไปหน่อย มาขณะนี้เหลืออยู่แค่พันเดียว เหลือเวลาอีกตั้ง 1 สัปดาห์กว่าจะถึงวันเงินเดือนออก ทำอย่างไรดีล่ะคราวนี้

 

[ads]

 

   "ก่อนอื่นทำใจดี ๆ ก่อนค่ะ เพราะเหลือหนึ่งพันบาทก็ยังดีกว่าไม่เหลือเลย ถ้าเป็นแบบนั้นสงสัยต้องไปขอหยิบยืมคนใกล้ตัวซึ่งก็คงไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ไม่น่าจะมีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนั้นแน่ ๆ อย่างไรเรายังมีเงินหนึ่งพันอยู่ในตัว อุ่นใจได้ในระดับหนึ่ง ไปดูกันดีกว่าว่าเราเราจะบริหารเงิน 1,000 นี้ อย่างไรให้พอใช้ในในหนึ่งสัปดาห์"

 

หารเฉลี่ยเป็นรายวันก่อน

วิธีที่จะบริหารเงิน 1,000 บาท ใช้อย่างไรในพอในหนึ่งสัปดาห์เอาแบบที่ง่ายที่สุดก่อน ก็คือ หารเฉลี่ยเป็นรายวันก่อนเลยค่ะ 1,000 บาท หาร 7 วัน ก็ตกวันละ 142.86 บาท คิดเป็นเลขกลม ๆ ล่ะกัน ก็ใช้อย่าให้เกินวันละ 140 บาท ก็จะพอดีไม่ขาดไม่เกิน ถ้าไม่หารเฉลี่ยไว้ก่อนบอกเลยบางครั้งไม่เกิน 3 วันก็หมดได้ค่ะกับเงินแค่หนึ่งพันบาทนี้

 

พกเงินไปเท่ากับงบรายวัน

พอเราตั้งธงไว้แล้วว่าเราจะต้องใช้แค่วันละ 140 บาท ก็ต้องทำให้ได้ตามนั้น วิธีก็คือพกเงินใส่กระเป๋าไปแค่นั้นพอ อย่าเอาไปเกินเพราะถ้าเผื่อไปก็มีโอกาสใช้เกินอีกและต้องใจแข็งอย่าไปหยิบยืมใครเด็ดขาด ใช้ให้พอแค่ที่มีอยู่ในกระเป๋าเรานั่นแหละค่ะ เงิน 140 บาท หากประหยัดหน่อยก็พอได้นะ

 

วางแผนใช้จ่ายในหนึ่งวัน

ค่าเดินทาง คราวนี้มาดูว่า 140 บาท ในหนึ่งวันเราจะใช้อย่างไรกันดี เอาค่ารถก่อนเลย ถ้าต้องไปทำงานค่ารถถือเป็นสิ่งจำเป็น สัปดาห์แห่งความขาดแคลนนี้คงต้องเลือกนั่งรถที่ประหยัดหน่อย อย่างรถเมล์ ยอมตื่นเช้านิดหน่อย เพื่อค่ารถเมล์ 9 บาท หรือรถแอร์ก็ไม่เกิน 20 บาท ขากลับก็เหมือนกันนั่งรถเมล์ด้วย เบ็ดเสร็จไปกลับน่าจะตกไม่เกิน 40 บาท บางคนที่บ้านอยู่ในซอยถ้าไม่ลึกมากยอมเดินหน่อยนะ แต่ถ้าไม่ไหวซอยลึกจริง ๆ ก็คงต้องยอมจ่ายค่ามอเตอร์ไซด์รับจ้างอีก 10 บาท สองเที่ยวไปกลับก็ 20 บาท รวมเบ็ดเสร็จเท่ากับค่าเดินทางไปทำงานอยู่ที่ 60 บาท

ชา กาแฟ เงิน 140 บาทต่อวัน จ่ายเป็นค่าเดินทางไปทำงาน 60 บาท เหลืออยู่ 80 บาท ที่ต้องใช้เป็นค่าอาหาร 3 มื้อ ชา กาแฟ ตามข้างทางโบกมือลาไปก่อนสำหรับสัปดาห์นี้ บอกแม่ค้าเจ้าประจำว่าเดี๋ยวเงินเดือนออกเมื่อไหร่ค่อยกลับมาเป็นลูกค้ากันใหม่ ขณะนี้ชงพวก 3 in 1 ที่ออฟฟิศมีไว้ให้ประหยัดกันไปก่อนค่ะ

มื้อเช้า มาดูที่ค่าอาหารกันบ้าง มื้อเช้าเลือกซื้อขนมปังหรือแซนด์วิชแบบง่าย ๆ กิน เอาแบบราคาประหยัดไม่เกิน 25 บาท หรือจะเลือกซื้อขนมปังแถวกับแฮมมาทำแซนด์วิชทานเองก็เป็นแนวทางที่ดี ขนมปังแถวละ 17 บาท แฮมห่อละ 50 บาท (มี 5 ชิ้น) ทำแซนด์วิชแฮมได้ 5 คู่ ทานเป็นอาหารเช้าได้ 5 วัน ตกมื้อเช้าวันละไม่เกิน 15 บาท

มื้อกลางวัน ส่วนมื้อกลางวันถ้าสามารถเตรียมกับข้าวง่าย ๆ จากบ้านไปสลับบ้างบางวันนี่ก็ช่วยให้รอดไปได้อีกมื้อ หุงข้าวแล้วคดข้าวสวยใส่ปิ่นโต เจียวไข่ไป 2-3 ฟอง พร้อมซอสพริก อิ่มอร่อยไปได้อีกมื้อ ราคาต่อมื้อตกอยู่ไม่เกิน 25 บาท สลับกับหาร้านอาหารกลางวันแบบอาหารสำเร็จตักราดข้าวจะประหยัดกว่าแบบอาหารตามสั่ง หาร้านที่คิดราคาไม่เกินจานละ 35 บาท ยิ่งเป็นร้านที่มีน้ำเปล่าน้ำแข็งให้กินฟรีนี่ยิ่งดีเลย ประหยัดค่าน้ำดื่มไปได้ หรือจะรอกลับไปดื่มน้ำที่ออฟฟิศก็ได้ ค่าน้ำขวด ๆ ละ 10 บาทอย่าเพิ่งไปจ่ายค่ะ ขณะนี้ สลับกันไปค่ะระหว่างข้าวแกงราดข้าวร้านประหยัดกับข้าวไข่เจียวเตรียมมาจากบ้าน

มื้อเย็น มาถึงมื้อเย็นกันบ้างของชอบของทุกคนในครอบครัว ก็คือ มาม่า สลับค่ะมาม่าบ้าง แกงถุงบ้าง ข้าวสวยหุงเองที่บ้านถ้าทำได้ แกงถุงบางร้านขอซื้อเขา 50 บาท แบ่งทานได้สองมื้อ เท่ากับราคาต่อมื้อไม่น่าเกิน 30 บาท ถ้าเป็นมาม่าก็ยิ่งประหยัด เพิ่มคุณค่าอาหารด้วยการใส่ผัก ใส่ไข่ลงไปหน่อย งบที่มื้อละ 20 บาทน่าจะเอาอยู่

   เท่าไหร่แล้วล่ะค่ะคราวนี้ ค่าเดินทาง 60 บาท มื้อเช้าไม่น่าเกิน 15-25 บาท มื้อกลางวัน 25-35 บาท ส่วนมื้อเย็นอยู่ที่ 20-30 บาท น่าจะพอไหวอย่างที่ว่าบางมื้อต้องสลับถูกสุด ๆ กับถูกบ้าง เอาให้รอดช่วงสัปดาห์หฤหรรษ์นี้ไปก่อน พอเงินเดือนออกก็จะหายใจทั่วท้องมากขึ้น

   "เฮ้อ! ต้องถอนหายใจกันยาว ๆ เลย หากทำได้ตามนี้แล้ว เงิน 1,000 บาท ก็จะช่วยให้ผ่านพ้นช่วงเวลา 1 สัปดาห์สุดท้ายของเดือนไปได้โดยที่ไม่ต้องไปหยิบยืมเงินใคร พอถึงเวลาเงินเดือนออก เงินทั้งจำนวนก็เป็นสิทธิ์ของเราอย่างเต็มที่ที่ไม่ต้องแบ่งไปจ่ายหนี้ใคร"

เมื่อเงินเดือนออกแล้วก็อย่าลืมหันมามองช่วงสัปดาห์ที่เราเหลือเงินแค่ 1,000 บาท นี้ หากไม่อยากให้เกิดช่วงเวลาที่ต้องใช้เงินแบบกระเบียดกระเสียรแบบนี้กันอีก ก็คงต้องวางแผนการใช้จ่ายให้ดีตั้งแต่ช่วงต้นเดือน อย่าให้ต้องเจอเหตุการณ์ต้นเดือนกินอยู่อย่างราชา กินมาม่าเป็นยาจกตอนสิ้นเดือนแบบนี้ เฉลี่ยเงินให้พอใช้จ่ายตลอดจนถึงช่วงสิ้นเดือน สิ่งไหนที่ไม่จำเป็นที่หากต้องจ่ายออกไปแล้วทำให้เงินเราจะไม่พอใช้ตลอดเดือน น่าจะต้องเบรกไว้ก่อน เลือกเอาสิ่งจำเป็นแบบค่ารถ ค่ากินให้อยู่ได้ก่อน ของไม่จำเป็นอย่างเสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋านี่ต้องเอาไว้ก่อน แบบอยากได้ก็ต้องเก็บเงิน ไม่เอาค่ากินอยู่ไปจ่ายก่อนนะ

 

[ads=center]

 

ขอบคุณเนื้อหาจาก:https://moneyhub.in.th

 

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: