แห่สมัคร ครูผู้ช่วย ว16-ว17 กว่า 2 หมื่นราย สพฐ.ออกมาตรการห้ามติว





22 เมษายน นายสุรินทร์ มั่นประสงค์ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.)ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ (สพร.) เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ประกาศปฏิทินการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็น หรือมีเหตุพิเศษ (ว16) และในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ว17) และการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษาและผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัด สพฐ. พ.ศ. 2567

โดยสำหรับการคัดเลือกบุคคลฯ ตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ สังกัด สพฐ. พ.ศ. 2567 รับสมัครตั้งแต่วันที่ 5 – 11 เมษายน 2567 ที่ผ่านมานั้น มีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) เปิดรับรวม 241 เขต ใน 54 กลุ่มวิชา มีตำแหน่งที่จะทำการคัดเลือก 3,796 อัตรา แบ่งเป็น ว16 จำนวน 3,515 อัตรา ว17 จำนวน 281 อัตรา สมัครรวม 20,188 ราย แบ่งเป็น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.) 181 เขต มีผู้สมัคร รวม 15,004 ราย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) 59 เขต มีผู้สมัคร 2,350 ราย และสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) มีผู้สมัคร รวม 2,834 ราย

ทั้งนี้จะดำเนินการประเมินประวัติและผลงาน วันที่ 24 – 29 เมษายน 2567 สอบข้อเขียน ภาค ก ความรอบรู้ และความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความประพฤติและการปฏิบัติของวิชาชีพครู และภาค ข ความรู้ความสามารถที่ใช้เฉพาะตำแหน่ง ในวันที่ 4 พฤษภาคม 2567 สอบสัมภาษณ์ วันที่ 5 พฤษภาคม 2567 ประกาศผลการคัดเลือก ภายในวันที่ 7 พฤษภาคม 2567 และรายงานตัวเพื่อบรรจุและแต่งตั้ง วันที่ 14 พฤษภาคม 2567

นายสุรินทร์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของการคัดเลือกฯ ตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษาและผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัด สพฐ. ปี พ.ศ. 2567 (ว 16/2565) ซึ่งรับสมัครคัดเลือกตั้งแต่วันที่ 5 – 11 เมษายน 2567 นั้น มีเขตพื้นที่ฯ ประกาศรับรวม 148 แห่ง อัตราว่าง รวม 1,668 อัตรา แบ่งเป็น รองผู้อำนวยการสถานศึกษา 802 อัตรา ผู้อำนวยการสถานศึกษา 866 อัตรา มีผู้สมัครคัดเลือกฯ รวม 6,432 ราย แบ่งเป็น รองผู้อำนวยการสถานศึกษา 3,640 ราย ผู้อำนวยการสถานศึกษา จำนวน 2,792 ราย สอบข้อเขียน ภาค ก ความรู้ความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ ภายในวันที่ 27 เมษายน 2567 ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือก ภาค ก และมีสิทธิเข้ารับการประเมิน ภาค ข และภาค ค ภายในวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 ยื่นเอกสารประกอบการประเมิน ภาค ข และภาค ค ระหว่างวันที่ 2 – 4 พฤษภาคม 2567 จากนั้นทำการประเมิน ภาค ข (ประวัติ ประสบการณ์ ผลงาน) และภาค ค (ความเหมาะสมกับตำแหน่ง) ระหว่างวันที่ 7 – 9 พฤษภาคม 2567 สอบสัมภาษณ์ วันที่ 11 พฤษภาคม 2567 ประกาศผลการคัดเลือก ภายในวันที่ 13 พฤษภาคม 2567 บรรจุและแต่งตั้ง วันที่ 14 พฤษภาคม 2567

“การจัดสอบครูผู้สอน ว16 และ ว 17 สพฐ.จะเป็นผู้ดำเนินการบริหารจัดการข้อสอบเอง เพื่อแก้ปัญหามาตรฐานข้อสอบ และป้องกันการทุจริต ส่วนการคัดเลือกรองผู้อำนวยการสถานศึกษาและ ผู้อำนวยการสถานศึกษา สพฐ.จะมอบหมายให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯเป็นผู้บริหารจัดการข้อสอบเอง ขึ้นอยู่กับอ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่จะคัดเลือกมหาวิทยาลัยมาดำเนินการออกข้อสอบ อย่างไรก็ตาม สพฐ.ได้มีหนังสือแจ้งมาตรการป้องกันการทุจริตการสอบคัดเลือกทั้งหมด ไปยังเขตพื้นที่ต่าง ๆ แล้ว ดังนี้ 1.ห้ามไม่ให้ผู้อำนวยการเขตพื้นที่ ผู้อำนวยการสศศ. รวมทั้งข้าราชการเจ้าหน้าที่ในสังกัดสพฐ. เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องหรือกระทำการใด ๆ ที่มีเจตนาเป็นการกวดวิชา จัดทำเอกสาร จำหน่าย แตก หรือกระบวนการอื่น ๆ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้เข้าสอบโดยเด็ดขาด และให้ผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ ผู้อำนวยการสศศ. แจ้งบุคลากรในคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.)เขต/สศศ. ให้รับทราบเรื่องดังกล่าวด้วย

อีกทั้งยังขอให้ช่วยสอดส่องกำกับ ดูแลเจ้าหน้าที่ในสังกัด และเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ เกี่ยวกับการป้องกันการทุจริต รวมทั้งป้องกันไม่ใช่มีการแสวงหาผลประโยชน์ในการสอบ และให้กำหนดบุคคลในทางลับเพื่อตรวจสอบ ติดตาม บุคคลที่มีพฤติการณ์ดังกล่าว และไม่ให้มีการแต่งตั้งเป็นกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการสอบ อย่างไรก็ตามก่อนหน้าที่จะมีผู้ส่งหนังสือแจ้งมาตรการป้องกันการทุจริตไปยังเขตพื้นที่ พบว่า ผู้อำนวยการโรงเรียนบางแห่ง ซึ่งมีประสบการณ์มีการจัดติวให้กับบุคลากรของตัวเอง แต่เมื่อสพฐ. มีหนังสือสั่งการอย่างเป็นทางการลงไป ก็ได้มีการยกเลิก ซึ่งยังถือว่าไม่มีความผิด แต่หากพบว่ามีการจัดติวหลังจากนี้จะถือว่า มีความผิดทันที ซึ่งขอให้ช่วยกันสอดส่องหากพบเบาะแสการทุจริงให้แจ้งมาที่สพฐ. เพื่อดำเนินการตรวจสอบต่อไป รวมถึงประสานคณะกรรมการป้องกันการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ออกตรวจทุกพื้นที่ โดยสพฐ.จะเอกซเรย์ ทุกพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นสีแดง และสีเหลือง จะจัดทีมผู้บริหารลงพื้นที่เพื่อดูแลป้องกันอย่างรอบด้าน” นายสุรินทร์ กล่าว

 

ข้อมูลจาก : มติชน

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: