รมว.ศธ. ชงยูเนสโก ขึ้นทะเบียน ‘พิธีไหว้ครู’ หวังโลกยอมรับ





13 มีนาคม พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมผู้บริหาร ศธ. ว่า ที่ประชุมรายงานความคืบหน้าการการขับเคลื่อนการยกระดับผลประเมินผลนักเรียนระหว่างประเทศ หรือ PISA เชื่อว่าผลการประเมิน PISA ที่จะเกิดขึ้นในปี 2025 จะดีขึ้นอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม ผลการประเมิน PISA เป็นเพียงตัวบงชี้หนึ่ง ในการวัดมาตรฐานการศึกษาของประเทศ ซึ่งยังมีหลายหน่วยงานที่เข้ามาดำเนินการขับเคลื่อนวัดผลประเมินผลผู้เรียน ทั้งสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ซึ่งก็อาจจะต้องมีการดำเนินการทบทวนหลายๆ เรื่อง เช่น การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต

โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไปสืบค้นข้อมูล ว่า เพราะเหตุใดผลสอบโอเน็ต จึงไม่แสดงอยู่ในใบระเบียนแสดงผลการเรียน (รบ.1) ซึ่งส่วนตัวยังมีแนวคิดว่า ให้การสอบโอเน็ตเป็นไปตามความสมัครใจ แต่ก็อยากให้ไปแสดงผลในใบ รบ.1 ส่วนนักเรียนคนใดที่ไม่สมัครใจ ก็ให้ระบุในใบ รบ.1 ว่า ไม่สมัครใจ เพื่อแสดงผลในการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น ทั้งนี้ คงต้องไปดูในภาพรวมเพื่อขับเคลื่อนให้การจัดการศึกษามีมาตรฐานที่สูงขึ้น

“อย่างไรก็ตาม ข้อมูลในเชิงลึก โรงเรียนต่างๆ ของ สพฐ.มีมาตรฐานที่ดี ซึ่งผม และ สพฐ. คงต้องลงไปดูว่า ปัจจัยของความสำเร็จ คืออะไร เบื้องต้นสันนิษฐานไว้ก่อนว่า คือ ผู้อำนวยการโรงเรียน ซึ่งถ้าเป็นไปตามโจทย์ ก็คงต้องมีการปรับวิธีคิด-รีสกิลผู้บริหารสถานศึกษา โดยนำรูปแบบสถานศึกษาที่สามารถดำเนินการได้ดีมาขับเคลื่อน

และจากการตรวจเยี่ยมโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ พบว่า บางโรงเรียน มีระบบการดำเนินการทดสอบยังไม่ค่อยดีนัก โดยเฉพาะเรื่องการทดสอบ PISA ดังนั้นขอให้ สพฐ.ไปสำรวจความพร้อม ทั้งสัญญาณอินเตอร์เน็ต หากไม่สามารถรองรับได้ อาจจะต้องปรับ ขยายฐานข้อมูลการจัดเก็บข้อสอบ PISA เพื่อให้รองรับนักเรียนได้ทั่วประเทศ ในทุกสังกัด ให้สามารถเข้ามาทดลองทำข้อสอบPISA ให้ได้ เพราะโจทย์หนึ่งที่ทำให้ผลคะแนน PISA ต่ำเพราะเด็กขาดทักษะในการทำข้อสอบ ดังนั้นต้องให้เด็กมีโอกาสได้เรียนรู้ ” พล.ต.อ.เพิ่มพูนกล่าว

รัฐมนตรีว่าการ ศธ.กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันจะต้องทำให้ครูมีเวลาสอนหนังสือมากขึ้น ตามนโยบายลดภาระครู ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการยกเลิกการอยู่เวรของครู และพยายามจะเพิ่มนักการภารโรง ซึ่งที่ผ่านมาสำนักงานประมาณได้เสนอให้ขอใช้งบปี 2567 แต่จากการประสานงานทราบว่า งบดังกล่าวไม่ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ดังนั้น ศธ. จึงได้จัดทำรายละเอียด เสนอสำนักงานประมาณ เพื่อเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณางบกลางปี 2566 ใช้ในการดำเนินการดังกล่าวไปพลางก่อน เพื่อให้สามารถจัดจ้างภารโรงได้ในช่วงเดือนพฤษภาคมตามเวลาที่กำหนด อย่างไรก็ตาม การของบจ้างภารโรงถือเป็นความจำเป็น เพื่อลดภาระ เพื่อให้ครูมีเวลาสอนหนังสือมากขึ้น

“นอกจากนี้ ที่ประชุมยังทบทวนการจัดพิธีไหว้ครู ซึ่งเป็นประเพณีที่มีความหมายดีงาม ที่ต้องให้ความสำคัญ ที่ต้องดำเนินการให้เป็นระบบมากยิ่งขึ้น โดย ศธ. เตรียมจัดทำรายละเอียด เสนอให้องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ประกาศยกย่อง “พิธีไหว้ครู” เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม รายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ เพื่อจะได้ตอบกระแสสังคมว่า พิธีไหว้ครู ถือเป็นประเพณีที่ดีงาม ที่ทั่วโลกยังให้ความสำคัญยอมรับ ไม่ใช่ทำไปแบบไม่มีความหมาย ตรงนี้เป็นสิ่งที่ท้าทาย

มีวัตถุประสงค์เพื่อสงวนรักษาแนวปฏิบัติการแสดงออกถึงความรู้และทักษะที่ได้รับการยอมรับว่า เป็นส่วนหนึ่งของมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ เช่นเดียวกับสงกรานต์ โขน นวดไทย และโนรา” รัฐมนตรีว่าการ ศธ. กล่าว

 

ข่าวจาก : มติชน

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: