‘พิพัฒน์’ ห่วงประกันสังคมถังแตก จ่อขยายเพดานเงินสมทบ ยืดอายุเกษียณ





4 มีนาคม ที่กระทรวงแรงงาน นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์ถึงการบริหารกองทุนประกันสังคม ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะผู้บริหารชุดต่างๆ ของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ว่า ตามที่มีข้อกังวลเรื่องกองทุนประกันสังคมว่ากองทุนจะเข้าสู่ภาวะล้มละลายในอีก 30-34 ปีข้างหน้า นั้น ตนเชื่อว่าหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือทำสิ่งใหม่ แนวโน้มของกองทุนก็จะเป็นไปตามสูตรการคำนวณดังกล่าว ดังนั้น จึงต้องเร่งแก้ไขในส่วนนี้

“วันนี้ ที่มีการประชุมคณะกรรมการของ สปส. เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงแรงงาน ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ สปส. โดยมีคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ดประกันสังคม) เข้าร่วมประชุมด้วย จึงมีความเห็นสอดคล้องกันว่า ควรจะมีการยืดอายุกองทุน จึงจำต้องมีการขยายเพดานการจัดเก็บเงินสมทบเข้ากองทุนเพิ่มขึ้น จากเดิมเพดานอยู่ที่ 15,000 บาท ก็จะขยายไปถึง 20,000 บาท รวมถึงการขยายอายุการเกษียณ ที่เดิมอยู่ที่ 55 ปี ก็อาจเพิ่มเป็น 60 ปี โดยเฉพาะดอกผลของกองทุนที่มีการใช้ตามกฎหมาย คือ ร้อยละ 60 เป็นการลงทุนในสินทรัพย์ที่ไม่เสี่ยง เช่น การฝากธนาคารของรัฐ การซื้อพันธบัตรของรัฐบาล ที่เหลืออีกร้อยละ 40 เป็นการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีโอกาสเสี่ยงบ้าง แต่จะต้องเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของประกันสังคม คือ เรตติ้งของบริษัทหรือกองทุนที่จะไปลงทุน จะต้องไม่ต่ำกว่า DDD อย่างเช่น ธนาคารพาณิชย์ปีที่ผ่านมา มีการลงทุนในอัตรา 60 ต่อ 40 แต่ในปีนี้ ผมขอให้ขยายมาเป็น 75 ต่อ 25 ไม่เช่นนั้น เราจะไม่สามารถยืดอายุของกองทุนได้ตามเป้าหมาย เราจึงต้องพยายามคิดทุกวิถีทาง เพื่อยืดอายุกองทุน แต่ขอให้มีความวางใจว่า สิ่งที่จะลงทุนนั้นต้องไม่ต่ำกว่าระดับ DDD ตามเรตติ้งสากล” นายพิพัฒน์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถึงความเป็นไปได้ในการขยายอายุผู้ประกันตนจาก 55 ปี เป็น 60 ปี นายพิพัฒน์ กล่าวว่า เรื่องนี้จะมีการหารือกันในบอร์ดประกันสังคม ปลัดกระทรวงแรงงาน และหารือร่วมกับกรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน (กสร.) สุดท้ายแล้วเราจะนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และรัฐสภาต่อไป แต่ต้องเป็นวาระเร่งด่วน เพราะเรื่องกองทุนประกันสังคม เราไม่สามารถรอได้

เมื่อถามต่อไปว่า การขยายเพดานการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม จะมีการสื่อสารถึงผู้ประกันตนอย่างไร เนื่องจากที่ผ่านมา มีการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้อย่างมาก นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ทางกระทรวงฯ จำเป็นต้องทำการประชาสัมพันธ์ผ่านองค์กรนายจ้าง สหภาพแรงงานต่างๆ แต่ขอย้ำว่า สิ่งเหล่านี้จะต้องผ่านการทำประชาพิจารณ์จากทุกฝ่าย

เมื่อถามย้ำว่า ในการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พูดถึงการล้มละลายของกองทุนประกันสังคม เป็นการยอมรับถึงความล้มเหลวในการบริหารกองทุนหรือไม่ นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ขอชี้แจงว่า ขณะนี้กองทุนยังอยู่ในช่วงพีคที่ไต่ระดับขึ้นไปอยู่ แต่คาดว่า อีกไม่นานก็จะถึงจุดสูดสุดของกราฟ แล้วเมื่อถึงเวลานั้น กราฟก็จะออกมาเป็น 2 แบบ คือ 1.ชะลอตัวในแนวราบและค่อยๆ ลดลง หรือ 2.เมื่อถึงจุดสูงสุดแล้ว จะหักดิ่งลงทันที แม้ว่าระยะนี้ยังมีเวลาให้มีเตรียมการ เพราะแต่ละปีมีการเก็บเงินเข้ากองทุนประมาณ 2 แสนล้านบาท ส่วนการใช้จ่ายอยู่ที่ 1.2 แสนล้านบาท เหลือเก็บปีละ 7 หมื่นล้านบาท ดังนั้น กองทุนยังมีเงินเหลืออยู่ แต่เราไม่ควรจะรอให้ถึงวันที่เงินกองทุนติดลบ จึงต้องหาวิธีแก้ไขปัญหา เพื่อทำให้กองทุนประกันสังคมเป็นลักษณะอินฟินิตี้ (Infinity) ของการล้มละลาย

ด้าน นายษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี กรรมการประกันสังคม ฝ่ายผู้ประกันตน กล่าวว่า ในการแก้ปัญหาการล้มละลายของกองทุนประกันสังคมนั้นมีหลายข้อสมมติ โดยตามข้อสมมติของรัฐมนตรีคือ การเพิ่มผลดอกจากการลงทุน แต่ขณะเดียวกัน เรามองถึงการขยายให้มีผู้ประกันตนเข้าสู่ระบบมากขึ้น อย่างที่มีการเสนอจาก นายศิววงศ์ สุขทวี ที่ทำงานกับเครือข่ายข้ามชาติ ที่มองถึงการนำแรงงานข้ามชาติเข้าสู่ระบบประกันสังคม หรือนโยบายประกันสังคมถ้วนหน้าที่จะขยายเงินสมทบของรัฐเข้ามาเพิ่มขึ้น เพื่อขยายกองทุนประกันสังคม

“หัวใจใหญ่คือ การทวีคูณความเสมอภาค ประกันสังคมมีฐานข้อมูลที่ใหญ่มาก หากเราเพิ่มสิทธิ เช่น การลาคลอด การเพิ่มสิทธิเลี้ยงดูเด็ก ก็สามารถทวีคูณให้ผู้ประกันตนมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างไร เพื่อให้ประกันสังคมมีอายุอนันต์ อินฟินิตี้ไม่มีวันล้มละลาย” นายษัษฐรัมย์ กล่าว

 

ข่าวจาก : มติชน

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: