สินสมรส คืออะไร เงินเดือนเป็นสินสมรสหรือไม่ ต้องแบ่งครึ่งจริงหรือ





การแต่งงานและจดทะเบียนสมรสถือเป็นการใช้ชีวิตคู่ร่วมกันอย่างเป็นทางการ ซึ่งต่อจากนี้สามีและภรรยาจะเป็นเสมือนหุ้นส่วนของชีวิตกันและกันในทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการอยู่ การกิน การตัดสินใจต่าง ๆ รวมไปถึงเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ของทั้งคู่ อย่างที่รู้กันว่าการจดทะเบียนสมรส ทำให้ทรัพย์สินหลายอย่างที่ได้มาระหว่างการสมรสนั้นถือเป็น “สินสมรส” ซึ่งอีกฝ่ายจะมีสิทธิ์ด้วยครึ่งหนึ่ง แล้วอย่างนี้ เงินเดือนที่ได้มาจากการทำงานของแต่ละคน ถือเป็นสินสมรสไหม ต้องแบ่งให้คู่สมรสด้วยหรือเปล่า วันนี้กระปุกดอทคอมจะชวนมาหาคำตอบกันว่า สินสมรส คืออะไร ?

สินสมรส คืออะไร

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474 (1) วางหลักไว้ว่า หลังจากคู่รักแต่งงานจดทะเบียนสมรส ทรัพย์สินจะแบ่งออกเป็น

1. สินสมรส คือ ทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาในระหว่างสมรส นอกจากที่เป็นสินส่วนตัวแล้ว ถ้าคู่สมรสไม่ว่าฝ่ายใดได้ทรัพย์สินมาก็ถือว่าเป็นสินสมรสทั้งสิ้น เช่น เงินเดือน โบนัส เงินรางวัลจากลอตเตอรี่ เป็นต้น โดยสามีภรรยาเป็นเจ้าของทรัพย์สินร่วมกัน มีส่วนแบ่งกันคนละครึ่ง

2. สินส่วนตัว คือ ทรัพย์สินของใครของมัน เช่น บ้าน ที่ดิน เงิน ทอง ถ้ามีอยู่ก่อนสมรส กฎหมายถือว่าเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของผู้นั้น หรือเครื่องใช้ส่วนตัวทั้งหลาย เช่น เครื่องประดับ เครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพ รวมถึงของหมั้นที่ถือเป็นสินส่วนตัวของฝ่ายหญิง นอกจากนี้กฎหมายยังขยายความถึงทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรสที่มีคนยกให้ หรือได้มาเป็นมรดกในภายหลัง ในกรณีนี้หมายถึงการได้มาในส่วนตัวโดยแท้ ดังนั้นจึงให้ถือเป็นสินส่วนตัวของแต่ละคน

เงินเดือนสามี เป็นสินสมรสหรือไม่

อย่างที่ทราบกันข้างต้นว่าหลังจากแต่งงาน ทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างการสมรส ถือเป็น “สินสมรส” คู่สมรสต้องนำมาแบ่งกัน ซึ่งนั่นก็หมายความว่า เงินเดือนสามีจะไม่ใช่ของคนคนเดียวอีกต่อไป แต่สาว ๆ ก็อย่าเพิ่งดีใจไป เพราะไม่ว่าจะเงินเดือนของสามี หรือเงินเดือนของภรรยา เมื่อได้มาแล้วให้เอามาหาร 2 แบ่งกันคนละครึ่ง ทั้งนี้ ก็ต่อเมื่อจดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมายแล้วเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ในชีวิตจริงจะแบ่งเงินเดือนให้เท่าไร อย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับการตกลงของแต่ละบ้าน คู่สมรสควรจะปรองดองกันไว้ เดี๋ยวจะมีปัญหาตามมาทีหลังได้

สินสมรส มีอะไรบ้าง

นอกจากเงินเดือนแล้ว ยังมีสินสมรสอื่น ๆ อีก ซึ่งจะมีอะไรอีกบ้าง มาดูกัน

  • สินส่วนตัวที่ติดตัวมาก่อนสมรส เมื่อเกิดดอกผลในระหว่างสมรสถือเป็นสินสมรส เช่น มีคอนโดที่ซื้อมาก่อนสมรส จำนวน 1 ห้อง มูลค่า 2 ล้านบาท เมื่อแต่งงานแล้วนำคอนโดออกปล่อยเช่า เดือนละ 10,000 บาท รายได้ส่วนนี้ถือเป็นสินสมรส แต่ถ้านำคอนโดนี้ไปขายเกิดกำไรจากการขาย กำไรนั้นเป็นสินส่วนตัว
  • เงินเดือนที่ได้มาระหว่างสมรสเป็นสินสมรส ถ้าสามีเอาเงินไปซื้อของ โดยใช้เงินเดือนของตัวเองไปผ่อน ศาลพิพากษาว่าทรัพย์สินนั้นเป็นสินสมรส
  • เงินฝากธนาคารที่เป็นสินส่วนตัวก่อนสมรส เมื่อเกิดดอกเบี้ยในระหว่างสมรสถือเป็นสินสมรส (เงินฝากธนาคารเป็นสินส่วนตัว ดอกเบี้ยเป็นสินสมรส)
  • รายได้ที่เราสร้างขึ้นมาระหว่างสมรส เช่น เงินเดือน หรือกำไรจากการค้าขายทำกิจการ เมื่อนำไปฝากธนาคาร ลงทุน หรือซื้อทรัพย์สินใด ๆ ดอกผลที่งอกเงยจากรายได้เหล่านั้นถือเป็นสินสมรส
  • ทรัพย์สินที่เช่าซื้อระหว่างสมรส ไม่ว่าจะซื้อที่ดิน, รถยนต์, ทอง, เครื่องประดับ หรือใด ๆ ก็ตาม ทรัพย์สินนั้นจัดเป็นสินสมรส แม้จะกู้เงินมาซื้อเพียงคนเดียวและชำระหนี้เงินกู้เพียงคนเดียว โดยคู่สมรสอีกฝ่ายไม่ช่วยออกก็ตาม
  • บ้านที่ซื้อด้วยกันระหว่างสมรส ถึงแม้จะใส่ชื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียวก็นับเป็นสินสมรส
  • บ้านที่บุพการีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยกให้คู่สมรสเป็นของขวัญแต่งงานถือเป็นสินสมรส แม้จะมอบให้ก่อนสมรสก็ตาม นอกจากระบุในรายการทรัพย์สินส่วนตัวของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในสัญญาก่อนสมรสว่าเป็นสินส่วนตัวของใครจึงจะเป็นสินส่วนตัว
  • มรดกที่ได้รับระหว่างสมรสถือเป็นสินส่วนตัว แต่ดอกผลของสินส่วนตัวระหว่างสมรสถือเป็นสินสมรส หมายความว่าถ้าเราได้รับมรดกเป็นที่นาให้เช่า ที่นาเป็นสินส่วนตัว ค่าเช่าที่ได้รับเป็นสินสมรส
  • สินทรัพย์ใด ๆ ที่พิสูจน์ไม่ได้ชัดเจนว่าเป็นสินส่วนตัว ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส

เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว การตรวจสอบและจำแนกสินสมรสกับสินส่วนตัวไว้อย่างชัดเจนถือเป็นเรื่องที่สำคัญมากต่อการวางแผนการเงิน เพราะหากมีเหตุที่ไม่อยากให้เกิด เช่น การหย่าร้าง การชดใช้หนี้สิน การส่งมอบมรดกหลังจากเสียชีวิต จะได้จัดสรรอย่างยุติธรรมและไม่สร้างความเสียหายให้กับอีกฝ่ายในภายหลัง

 

ข้อมูลจาก : ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์lawyers.in.thdharmniti.co.thcloselawyer.com

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: