พ่อค้า-แม่ค้าออนไลน์ ต้องยื่นภาษี ปี’67 อะไรบ้าง





6 มกราคม 2567 หลังจากที่ กรมสรรพากร ได้มีการกำหนดให้อิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มจัดทำบัญชีพิเศษ เพื่อนำส่งข้อมูลรายรับของผู้ประกอบการให้กับกรมสรรพากร โดยจะมีผลบังคับใช้กับข้อมูลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 เป็นต้นไป

สำหรับแพลตฟอร์มที่ให้บริการในไทยมีจำนวนมาก อาทิ ธุรกิจ e-Commerce, บริการส่งอาหารและสินค้า อาทิ Shopee, Lazada, LINE MAN, Grab, TikTok เป็นต้น

โดยกำหนดเงื่อนไข ให้อิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มที่จดทะเบียนในไทย และมีหรือเคยมีรายได้ในรอบบัญชีเกิน 1,000 ล้านบาท ต้องทำบัญชีพิเศษ หรือ บัญชีที่แสดงข้อมูลรายรับของอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มที่ได้รับจากผู้ประกอบการ พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่ขายสินค้า หรือบริการบนแพลตฟอร์ม โดยต้องนำส่งไปให้กรมสรรพากร ภายใน 150 วัน นับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี

ดังนั้นหากเป็น “พ่อค้า-แม่ค้า” ที่มีการขายของในแพลตฟอร์มออนไลน์ นอกจากจะมีรายได้จากการขายของแล้ว สิ่งสำคัญตอนนี้คือต้องรู้ “การยื่นภาษี” อย่างถูกต้อง ถูกวิธี เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา ประชาชาติธุรกิจได้ทำการสรุปขั้นตอน เงื่อนไข เรื่อง “ภาษี” กับการ “ขายของออนไลน์” เอาไว้ดังนี้

ขายของออนไลน์เสียภาษีอย่างไร

สำหรับผู้ค้าขายทางออนไลน์จำเป็นต้องรู้จักภาษี 2 ประเภทสำคัญ ได้แก่ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เพื่อไม่ให้มีปัญหาถูกประเมินภาษีย้อนหลัง ทั้งนี้รายได้ที่เกิดจากการขายของออนไลน์ผ่าน Social Media Platform และ Market Place Platform เป็น เงินได้ประเภทที่ 40(8) ซึ่งเป็นเงินได้ของ บุคคลธรรมดา ที่เปิดร้านขายของออนไลน์โดยส่วนใหญ่ เพราะเป็นเงินได้จากการค้าขายที่ต้องนำไปคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม

พ่อค้า-แม่ค้าออนไลน์ยื่นภาษีเมื่อไร

คนขายของออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นใครหรืออายุเท่าไรหาก มีรายได้เกิน 60,000 บาท หรือแม้กระทั่งคนที่มีคู่ (สมรส) หรือ ผู้ที่มีรายได้รวมทุกช่องทางเกิน 120,000 บาท มีหน้าที่ต้องยื่นภาษี 2 รอบ

-ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี (ภ.ง.ด.94) วันที่ 1 กรกฎาคม – 30 กันยายนของปีเดียวกัน

-ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี (ภ.ง.ด.90) วันที่ 1 มกราคม – 31 มีนาคมของปีถัดไป

และสำหรับรายได้ประเภทที่ 8 (40(8) ต้องยื่นภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด.94) ช่วงเดือนกรกฎาคม – กันยายน เป็นการยื่นภาษีกลางปี เพื่อสรุปรายได้ที่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีภาษีแรกที่ผ่านมาด้วย

ยอดขายเกิน 1.8 ล้านต้องจด VAT

กรณีรายได้จากการยอดขายทั้งปีเกิน 1,800,000 บาท ต้องจดภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.01) ภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่มีรายรับเกิน 1,800,000 บาท ณ สรรพากรเขตพื้นที่ ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ หรือยื่นผ่านออนไลน์

เมื่อจดมูลค่าเพิ่ม (VAT) แล้ว ผู้ประกอบการต้องเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 7% จากผู้บริโภค โดยคำนวณจากมูลค่าสินค้า แล้วนำส่งให้กรมสรรพากรอีกที โดยต้องยื่นภาษีเป็นรายเดือน ซึ่งเรียกว่า ภ.พ.30 ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป

ดังนั้นควรวางแผนไว้ก่อน เพราะภาษีมูลค่าเพิ่มส่งผลโดยตรงต่อการตั้งราคาสินค้า ด้วยการเพิ่มราคาสินค้าเข้าไปอีก 7% ตั้งแต่แรก เพราะลูกค้าอาจจะไม่พอใจ ถ้าขึ้นราคาสินค้า หลังจากที่ร้านไปจดภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องคำนวนให้ดี

ยื่นภาษี สำหรับขายของออนไลน์ ได้ที่ไหน

-ยื่นภาษีด้วยตัวเองที่กรมสรรพากร

กรอกแบบฟอร์ม ภ.ง.ด. แล้วจัดเตรียมเอกสารยื่นภาษีที่เกี่ยวข้อง เดินทางไปยื่นภาษีด้วยตัวเองที่สำนักงานสรรพากรทุกพื้นที่ ในวันและเวลาราชการ

-ยื่นภาษีผ่านช่องทางออนไลน์

เข้าเว็บไซต์ของกรมสรรพากร ที่ www.rd.go.th สามารถใช้บริการได้ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่เว้นวันหยุดราชการ ซึ่งการยื่นภาษีขายของออนไลน์ผ่านเว็บไซต์จะมีความสะดวกรวดเร็ว และยังมีการขยายเวลายื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีให้ช้าออกไปกว่าการยื่นด้วยตัวเองที่กรมสรรพากรอีกด้วย

 

ข่าวจาก : ประชาชาติธุรกิจ

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: