‘สุรศักดิ์’ เล็งเจรจาแบงก์ต่อมาตรการช่วยครู ลดดอก-พักต้น เพิ่มสภาพคล่อง





นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ตนได้เป็นประธานเป็นการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายแก้ไขปัญหาหนี้ครูและบุคลากรทางการศึกษา ของศธ. เพื่อหาแนวทางและวิธีการช่วยเหลือครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีปัญหาหนี้สิน โดยที่ประชุมได้พิจารณา ถึงแนวทางการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูอย่างกว้างขวาง และเห็นตรงกันว่า จะยังคงใช้แนวทางการทำงานตามมาตรการเดิม ทั้ง 9 มาตรการ ไม่ว่าจะเป็น การลดดอกเบี้ย ยกระดับการหักเงินเดือนและควบคุมยอดหนี้ ชะลอการดำเนินงานทางกฎหมาย จัดตั้งสถานีแก้หนี้ครู ปรับโครงสร้างหนี้ ใช้ฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) เป็นหลักประกันเงินกู้ การติดอาวุธความรู้ทางการเงิน เป็นต้น

นายสุรศักดิ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ มาตรการเร่งด่วนที่ต้องเร่งทำทันที คือ เจรจากับสถาบบันการเงิน โดยเฉพาะธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงไทย เพื่อขอขยายเวลามาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ หลายโครงการซึ่งจัดทำขึ้นในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ซึ่งพบว่า หลายโครงการกำลังจะสิ้นสุดลง ทั้ง การผ่อนปรนการชำระหนี้ครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อช่วยยับยั้งไม่ให้ต้องกลายเป็นหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) จนเป็นเหตุให้อาจถูกดำเนินคดี มาตรการพักชำระเงินต้น และเลือกจ่ายดอกเบี้ยบางส่วน ตามแผนการชำระหนี้ที่ธนาคารกำหนด เป็นระยะเวลา 12 เดือน หรือนานที่สุดไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2566 โดยการเลือกแผนการชำระหนี้ตามความสามารถในการผ่อนชำระของตนเอง เป็นต้น โดยตั้งเป้าจะขอขยายเวลามาตรการช่วยเหลือดังกล่าวออกไปให้ได้มากที่สุด 1-2 ปี เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องให้ครูและบุคลากรทางการศึกษามีเงินเหลือพอใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน

“นอกจากเจรจากับสถาบันการเงิน เพื่อขอต่อมาตรการช่วยเหลือแล้ว จะเจรจาขอเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อให้กลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ นำไปใช้รีไฟแนนซ์ให้กับลูกหนี้กลุ่มวิกฤตสีแดง ที่เป็นหนี้เสีย อาจจะถูกฟ้องล้มละลาย สาเหตุที่เลือกช่วยเหลือกลุ่มสีแดงก่อน เพราะเท่าที่ดูพบว่า สีเขียวคือครูที่มีสภาพคล่อง และสีเหลืองคือครูที่มีหนี้บ้างเล็กน้อย เป็นกลุ่มที่พอจะมีกำลังในการชำระหนี้ อีกทั้ง กลุ่มนี้ยังได้รับสิทธิประโยชน์จากการกู้สหกรณ์ เช่น มีเงินปันผลในแต่ละปี ดังนั้นสองกลุ่มนี้จึงไม่ใช่ปัญหาเร่งด่วนที่ต้องให้ความช่วยเหลือ หรือบางคน ไม่จำเป็นต้องเข้าไปช่วยเหลือเพราะมีความสามารถในการผ่อนชำระต่อเนื่อง โดยขณะนี้อยู่ระหว่างสำรวจตัวเลขลูกหนี้ในแต่ละกลุ่ม ว่ามีจำนวนเท่าไร เมื่อได้ตัวเลขชัดเจนแล้วจะเปิดให้กลุ่มที่มีปัญหาเข้ามาลงทะเบียน เพื่อเข้าสู่มาตรการแก้หนี้ โดยจะเน้นกลุ่มหนี้วิกฤตสีแดงเป็นหลักก่อน”นายสุรศักดิ์ กล่าว

รัฐมนตรีช่วยว่าการศธ. กล่าวต่อว่า ส่วนการนำข้อมูลการกู้เงินจากสหกรณ์ออมทรัพย์เข้าเครดิตบูโร ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหา เพื่อให้สถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ในระบบรู้สถานะทางการเงินของผู้กู้แต่ละราย สามารถใช้ประกอบการพิจารณาปล่อยกู้ได้ ขณะเดียวกัน ที่ประชุมยังหารือแนวทางให้ครูและบุคลากรทางการศึกษา สามารถกู้สหกรณ์ข้ามจังหวัดได้ เพื่อให้ครูมีสิทธิเลือก เกิดการแข่งขันระหว่างสหกรณ์ให้ปล่อนกู้ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลง ตรงนี้ต้องมีการพูดคุย รวมถึงอาจจะต้องมีการปรับแก้ระเบียบหรือข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วย ทั้งนี้ จะนำผลการดำเนินงานตั้งแต่ปี 2564-2566 มาพิจารณาด้วย หากสิ่งใดที่เป็นเรื่องดี ก็จะทำต่อไป พร้อม ๆ กับการทบทวนแก้ไขปิดช่องว่างช่องโหว่ต่าง ๆ เพื่อให้การทำงานไปสู่เป้าหมายร่วมกัน

 

ข่าวจาก : มติชน

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: