มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจี้ ‘กสทช.’สอบ TRUE-DTAC- AIS หลังพบขึ้นค่าบริการมือถือ’ใกล้เคียงกัน’





เมื่อวันที่ 19 ต.ค. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยแพร่เอกสารข่าว มีเนื้อหาสรุปได้ว่า นับจากวันที่ 20 ต.ค.2565 ที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เห็นชอบการควบรวม บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) และบมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) ท่ามกลางเสียงคัดค้านทั้งจากองค์กรผู้บริโภค พรรคการเมือง ภาคประชาชน และ กสทช. เสียงข้างน้อย 2 ราย นั้น

แม้ว่า กสทช. ได้กำหนด 2 เงื่อนไข ให้ TRUE-DTAC ต้องลดค่าบริการเฉลี่ย 12% และให้แยกแบรนด์ทำตลาดกันไปก่อน 3 ปี แต่หลังจาก TRUE-DTAC แจ้งแผนควบรวมเสร็จสมบูรณ์ไปเมื่อ 1 มี.ค.2566 แต่ของการแข่งขันในตลาดโทรคมนาคมก็เปลี่ยนไปทันทีแบบไม่ต้องรอ 3 ปี เพราะ TRUE- DTAC- AIS ปรับขึ้นอัตราค่าบริการเท่ากันแบบไม่ได้นัดหมาย ทำให้แพคเกจที่เป็นธรรมหายไปทันที และผู้บริโภคหมดทางเลือกใช้บริการ

นอกจากนี้ แม้จะมีการเรียกร้องให้ กสทช. เข้ามาจัดการแก้ปัญหานี้ โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมา สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้ทำหนังสือไปถึง กสทช. เพื่อถามหาความรับผิดชอบในเรื่องนี้ แต่ไม่มีสัญญาณตอบกลับแต่อย่างใด

นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุว่า หลังควบรวม TRUE-DTAC ผ่านไป 9 เดือน ได้เกิดปัญหาด้านราคาและคุณภาพบริการ ซึ่งมีต้นเหตุจากความเพิกเฉยของ กสทช. อีกทั้งยังไม่เห็นการลดค่าบริการเฉลี่ย 12% ตามเงื่อนไขมาตรการเฉพาะของผู้ประกอบการในการควบรวมธุรกิจ TRUE- DTAC แต่อย่างใด และยังพบ AIS คิดค่าบริการที่ใกล้เคียงกัน จนเหมือนเป็นการผูกขาดทางราคา

“ตอนนี้เรายังไม่เห็นกระบวนการติดตามตรวจสอบของ กสทช. นอกจากการรอฟังรายงานของผู้ประกอบการ ดังนั้น หาก กสทช. มีความจริงใจปกป้องสิทธิประโยชน์ผู้บริโภค ต้องออกมาตรการตรวจสอบและบังคับให้ผู้ประกอบการมือถือทุกค่ายเปิดเผยโครงสร้างแพคเกจต่อผู้บริโภค แต่เวลานี้ยังถูกปิดกั้นการเข้าถึง ดังนั้น จึงขอเสนอให้ กสทช. เปิดเผยข้อมูลแพ็คเกจค่าบริการของค่ายมือถือทุกค่ายผ่านเว็บไซต์ กสทช.

รวมถึงเงื่อนไขมาตรการเฉพาะที่ผู้ประกอบการจัดทำรายงานส่งให้ กสทช. และสร้างช่องทางให้ผู้บริโภคสามารถเข้าไปตรวจสอบแพ็คเกจและเงื่อนไขการให้บริการของค่ายมือถือโดยง่าย และมีระบบการส่งข้อมูลความคิดเห็น และข้อร้องเรียนโดยตรงไปที่ กสทช. ที่นอกเหนือจากเบอร์ติดต่อ 1200 โดยที่ไม่ใช่ข้อมูลที่มาจากการรายงานของผู้ประกอบการแต่เพียงฝ่ายเดียว” นางนฤมล กล่าว

ด้าน เภสัชกรหญิง ชโลม เกตุจินดา อุปนายกสมาคมผู้บริโภคสงขลา กล่าวว่า การที่ กสทช. อาศัยช่องโหว่อนุญาตให้มีการควบรวมให้ TRUE-DTAC โดยระบุว่า “ไม่มีข้อบังคับเรื่อง “อนุญาต” หรือ “ไม่อนุญาต” จนกลายเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ TRUE-DTAC ควบรวมไปแบบเนียนๆ นั้น ได้ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคแล้ว เพราะสัญญาณอินเทอร์เน็ตของ DTAC แย่ลง ทั้งๆที่ยังอยู่ระหว่างแยกแบรนด์ 3 ปี อีกทั้งยังมีการกระตุ้นให้ลูกค้าไปใช้เครือข่ายของ TRUE ด้วย

“สัญญาณอินเทอร์เน็ตของ DTAC แย่ลง ทั้งๆที่ยังอยู่ระหว่างแยกแบรนด์ 3 ปี ความเร็วถูกลด ทั้งที่ซื้อแพคเกจราคาแพงแต่กลับหมดอย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังมีการกระตุ้นให้ลูกค้าไปใช้เครือข่ายของ TRUE ที่สำคัญประเด็นที่ผู้ประกอบการใช้วิธีการแบบ ‘ส่วนลดเฉลี่ย’ หมายถึง เอาคนที่มีกําลังจ่าย มาหารเฉลี่ย ให้คนไม่มีกําลังจ่าย ทั้งที่ส่วนลดค่าบริการ เฉลี่ย 12% ต้องมีแพคเกจที่เป็นธรรมกับผู้บริโภคที่เป็นลูกค้าทุกคนโดยไม่มีข้อยกเว้น

ดังนั้น กสทช. ควรต้องเร่งมือในการกำกับดูแลตามเงื่อนไขเฉพาะที่วางไว้ และต้องรายงานให้สังคมทราบด้วย เพราะความล่าช้าในการกำกับดูแลของ กสทช.นั้น ไม่เพียงแต่ส่งผลต่อผู้บริโภคในกรณี TRUE -DTAC เท่านั้น แต่จะเป็น บรรทัดฐานไปสู่การอนุญาตควบรวมอื่นๆ เช่น AIS กับ 3BB ในกิจการอินเทอร์เน็ตบ้าน ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคตก อยู่ในสภาวะถูกลอย” เภสัชกรหญิง ชโลม กล่าว

เภสัชกรหญิง ชโลม ยังกล่าวถึงกรณีที่ กสทช. เตรียมจัดทำ ‘ดัชนีราคาค่าบริการโทรคมนาคม’ ให้แล้วเสร็จภายในไตรมาสแรกปี 2567 และจะจัดทำในทุกไตรมาสต่อไป เพื่อหาคำตอบประเด็นที่ถูกร้องเรียนว่า คนไทยจ่ายค่าบริการแพงขึ้นหรือไม่ ว่า อาการเพิ่งตื่นแบบนี้คือปัญหา เพราะทำให้ผู้บริโภคไม่เชื่อมั่นดัชนีราคาที่ออกมาจะเป็นกลาง เพราะฉะนั้น กสทช. ต้องพิสูจน์ให้เห็นถึงความจริงใจ ซึ่งผู้บริโภคและองค์กรผู้บริโภคต้องร่วมกันจับตา

“ในสถานการณ์ที่เป็นเศรษฐกิจดิจิตอล กสทช. ต้องสนับสนุนทุกกลุ่ม ต้องไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ และขอฝากไปถึงรัฐบาลให้จับตา กสทช.ให้ดี เพื่อพิสูจน์ว่าจะเป็นตัวคานงัดในการสร้างเศรษฐกิจดิจิตอล หรือ จะทำให้นโยบายที่รัฐบาล ต้องการขับเคลื่อนเกิดสะดุดหรือไม่” เภสัชกรหญิง ชโลมกล่าว

 

ข่าวจาก : isranews

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: