โคราชป่วย ไข้หูดับ ดับแล้ว 4 ราย เผยอาชีพพบผู้ป่วยสูงสุด เตือนอย่ากินดิบ





7 ต.ค.2566 นพ.ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 ถึง 25 กันยายน 2566 ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคไข้หูดับมากถึง 436 ราย และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 19 ราย

ที่ จ.เชียงใหม่ 1 ราย , จ.น่าน 1 ราย , จ.ตาก 2 ราย ,จ.อุตรดิตถ์ 2 ราย ,จ.กำแพงเพชร 1 ราย ,จ.อุทัยธานี 2 ราย ,จ.นครปฐม 2 ราย ,จ.สมุทรสาคร 1 ราย ,จ.มหาสารคาม 2 ราย ,จ.หนองคาย 1 ราย , จ.นครราชสีมา 3 ราย และ จ. ชัยภูมิ 1 ราย

ขณะที่สถานการณ์โรคไข้หูดับ ในเขตสุขภาพที่ 9 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 30 กันยายน 2566 พบผู้ป่วยโรคไข้หูดับ จำนวน 109 ราย และมีผู้เสียชีวิต 5 ราย ที่ จ.นครราชสีมา 4 ราย และ จ.ชัยภูมิ อีก 1 ราย เมื่อแยกผู้ป่วยเป็นรายจังหวัด

พบว่า จ.นครราชสีมา มีผู้ป่วยไข้หูดับ 55 ราย ซึ่งในจำนวนนี้เสียชีวิต 4 ราย , จ.สุรินทร์ มีผู้ป่วย 11 ราย ,จ.ชัยภูมิ มีผู้ป่วย 10 ราย เสียชีวิต 1 ราย และ จ.บุรีรัมย์ มีผู้ป่วย 3 ราย

โดยอาชีพที่พบผู้ป่วยสูงสุดคือ เกษตรกร รองลงมาคือ รับจ้าง และทำงานบ้าน ตามลำดับ ซึ่งป่วยโรคไข้หูดับจากการกินหมูดิบ ลาบเลือดดิบ ก้อยดิบ หรือดื่มสุราร่วมกับกินอาหารสุกๆดิบๆ รวมถึง พ่อครัวแม่ครัว-ผู้ปรุงอาหารที่มีบาดแผล ไปสัมผัสเนื้อหมูหรือเลือดหมูดิบๆ ที่มีเชื้อสเตปโตค็อกคัส ซูอิส ปนเปื้อนอยู่ ซึ่งเชื้อนี้จะอยู่ในทางเดินหายใจของหมู และอยู่ในเลือดของหมูที่ติดเชื้อ ทำให้เสี่ยงติดเชื้อโรคไข้หูดับได้ และยังสามารถติดต่อผ่านทางบาดแผล รอยถลอก และทางเยื่อบุตา

เมื่อได้รับเชื้อโรคไข้หูดับเข้าไปแล้ว ทำให้มีไข้สูงเฉียบพลัน มากกว่าหรือเท่ากับ 38 องศาเซลเซียส ปวดศีรษะ หนาวสั่น สับสนกระสับกระส่าย ปวดข้อ คอแข็ง หูหนวกหรือการได้ยินลดลงอย่างเฉียบพลัน ทรงตัวผิดปกติ หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว ความดันเลือดต่ำ มีจ้ำเลือดทั่วตัว ปวดตา ตาแดง หรือมองภาพไม่ชัด และอาจทำให้สูญเสียการได้ยินหรือที่เรียกว่าหูดับ จนถึงขั้น หูหนวกถาวรได้

ดังนั้น ต้องรับประทานเนื้อหมูหรือเลือดหมูที่ปรุงสุกเท่านั้น โดยปรุงให้สุกผ่านความร้อนมากกว่า 70 องศาเซลเซียส ไม่ควรรับประทานหมูดิบร่วมกับการดื่มสุรา ส่วนอาหารปิ้งย่าง ต้องมีอุปกรณ์คีบเนื้อหมูสุกและดิบแยกจากกัน ไม่ควรใช้ตะเกียบคีบหมูดิบ แล้วนำมารับประทาน ยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด”

และเลือกซื้อเนื้อหมูจากแหล่งที่มีมาตรฐาน เชื่อถือได้ ไม่ควรซื้อจากแหล่งที่ไม่ทราบที่มาของหมู และสำหรับผู้ที่จะต้องสัมผัสหมูโดยตรง เช่น ผู้เลี้ยงหมู ผู้ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ชำแหละเนื้อหมู สัตวบาล สัตวแพทย์ ควรสวมรองเท้าบู๊ทยาง สวมถุงมือ สวมเสื้อที่รัดกุมระหว่างทำงานหากมีบาดแผลต้องปิดแผลให้มิดชิด และล้างมือหลังสัมผัสกับหมูทุกครั้ง หากสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

 

ข่าวจาก : ข่าวสด

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: