สิ้น “วิจิตร ศรีสอ้าน” อดีต รมว.ศึกษาธิการ บิดาแห่งสหกิจศึกษาไทย





30 กันยายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.ธีระชัย เชมนะสิริ นายกสภามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้โพสต์ภาพและข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “Teerachai Chemnasiri” ระบุว่า

“ขอกราบคารวะดวงวิญญาณของท่าน ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน นายกสภามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ นายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี อดีตนายกสภามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และอดีตนักการศึกษาผู้มีแต่เมตตาธรรม

ขอให้ท่านจงสู่สวรรค์ชั้นสูงสุดด้วยคุณงามความดีที่ท่านได้กระทำเทอญ”

ขณะเดียวกัน ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีกิตติคุณผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยรังสิต อดีตรองประธาน​รัฐสภา​และประธานสภาผู้แทนราษฎร โพสต์ภาพและข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊กส่วนตัว “Arthit Ourairat” ระบุว่า

“ขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งในการจากไปของ ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน เพื่อนรักรุ่นเดียวกัน แม้ ดร.วิจิตร อยู่อักษรศาสตร์ ผมอยู่รัฐศาสตร์

ดร.วิจิตร สนับสนุนมหาวิทยาลัยรังสิตมาโดยตลอด เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยรังสิตตั้งแต่ต้นจนไปเป็น รมว.ศึกษาธิการ

ขอดวงวิญญาณท่านจงไปสู่สุคติ ณ สัมปรายภพ”

ต่อมา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศ. วิจิตร ศรีสอ้าน นายกสภามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และอดีตรัฐมนตรีว่าการศธ. ถึงแก่อนิจกรรมด้วยภาวะหัวใจล้มเหลว เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. วันที่ 30 ตุลาคม 2566 เบื้องต้นทางครอบครัวแจ้งว่าจะมีการขอพระราชทานน้ำหลวงอาบศพในวันจันทร์ที่ 2 ตุลาคม 2566 ณ วัดมกุฏกษัตริยาราม ศาลา 150 ปี

สำหรับประวัติของ ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน ทางมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) ได้ให้ข้อมูลผ่านเว็บไซต์ ดังนี้ ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน อธิการบดีคนแรกและผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ผู้ซึ่งเป็นปูชนียบุคคลด้านการบริหารการศึกษาที่มีบทบาทสำคัญยิ่งในการพัฒนาระบบการศึกษาของประเทศไทย

ชีวิตในวัยเยาว์ แบบอย่างความเพียร

ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ.2477 ที่ตำบลสนามจันทร์ อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา การศึกษาในวัยเด็ก เข้าเรียนชั้นประถมศึกษาช้ากว่าเด็กอื่นๆ เนื่องจากสุขภาพไม่แข็งแรงและบ้านอยู่ห่างไกลจากโรงเรียน จึงต้องเรียนหนังสืออยู่ที่บ้าน โดยบิดาเป็นผู้สอนหนังสือให้ด้วยตนเอง ต่อมาได้เข้าเรียนที่โรงเรียนวัดท่าสะอ้าน โรงเรียนประกอบราษฎร์บำรุง โรงเรียนประชาบาลวัดกลางบางปะกง และโรงเรียนบางปะกงบวรวิทยายน ตามลำดับ ซึ่งจากการเรียนหนังสือที่บ้านทำให้รู้หนังสือก้าวหน้ามากกว่าเพื่อนร่วมชั้น จึงได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าห้องและผู้ช่วยครูมาตลอด เป็นส่วนที่หล่อหลอมรากฐานแห่งความเป็นผู้นำและความเป็นครู

สำหรับชีวิตในวัยเด็กต้องต่อสู้ดิ้นรนกับความลำบาก เนื่องจากบิดาเสียชีวิตตั้งแต่เรียนชั้นประถมปีที่ 3 ทำให้ได้รับหน้าที่เสาหลักของครอบครัว ดูแลงานที่บ้าน ดูแลน้อง และดูแลร้านขายของชำ พร้อมกับการเรียนหนังสือ เมื่อจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่โรงเรียนบางปะกงบวรวิทยายน ได้ศึกษาต่อสายศิลปะที่โรงเรียนสวนกุหลาบ เพราะชอบวิชาภาษาไทย ในระยะแรก ท่านมีปัญหาวิชาภาษาอังกฤษ สอบได้คะแนนอันดับสุดท้ายในชั้นเรียน แต่ด้วยความพากเพียร จึงขวนขวายเรียนพิเศษจนสามารถสอบวิชาอังกฤษได้คะแนนเป็นอันดับหนึ่ง และยังหารายได้พิเศษระหว่างเรียนด้วยการรับสอนพิเศษตามบ้าน ทำให้ท่านสั่งสมความสามารถในการสอนหนังสือตั้งแต่ยังวัยเยาว์ ซึ่งจากอุปสรรคในวัยเด็กนั้นหล่อหลอมให้ท่านเป็นคนแข็งแกร่ง และเป็นนักแก้ปัญหาที่ดี สามารถวิเคราะห์ปัญหาได้รวดเร็ว และตัดสินใจแก้ปัญหาในสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง

หลังจากการศึกษาจบชั้นมัธยมปีที่ 8 ได้เข้าศึกษาต่อที่คณะอักษรศาสตร์และคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิชาเอกการสอนภาษาอังกฤษและภาษาไทย โดยทุนของกระทรวงศึกษาธิการ ด้วยความมุ่งมั่นที่จะประกอบอาชีพครู และสำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ดังนี้

  • พ.ศ.2502 ปริญญาตรี อักษรศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • พ.ศ.2504 ปริญญาตรี ครุศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • พ.ศ.2507 ปริญญาโท สาขาบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัย Minnesota สหรัฐอเมริกา ได้รับทุนจากมูลนิธิฟุลไบรท์
  • พ.ศ.2510 ปริญญาเอก สาขาบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัย Minnesota สหรัฐอเมริกา ได้รับทุนของมหาวิทยาลัย Minnesota
  • พ.ศ.2519-2520 หลักสูตร วปอ.รุ่นที่ 19 วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร

เส้นทางสู่เกียรติศักดิ์นักบริหารการศึกษา

เมื่อปี พ.ศ.2504 ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน เริ่มรับราชการในตำแหน่งอาจารย์ ที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าเลขานุการ ดูแลงานธุรการและงานบริหารของคณะ ด้วยความรู้ความสามารถในการบริหารและการแก้ปัญหาทางการศึกษา จึงได้รับดำรงตำแหน่งบริหารที่สำคัญๆ อาทิ อาจารย์ใหญ่ โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม เลขานุการบริหารมหาวิทยาลัย เลขาธิการมหาวิทยาลัย เลขานุการรัฐมนตรีทบวงมหาวิทยาลัย รองอธิการบดี รองปลัดทบวงมหาวิทยาลัย ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย

นอกจากนี้ ยังมีตำแหน่งหน้าที่ทางการเมือง ได้แก่ สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในปี พ.ศ.2549-2551

ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน ได้ปฏิบัติงานด้านการบริหารการศึกษาในหน้าที่สำคัญๆ อาทิ การแก้ปัญหาทางการบริหาร ความขัดแย้งภายในมหาวิทยาลัย ด้วยความรู้ความสามารถและคุณธรรมของผู้นำ จึงได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญ ได้แก่ รองอธิการบดี อธิการบดีมหาวิทยาลัย รองปลัดทบวงมหาวิทยาลัย ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย นายกสภามหาวิทยาลัย

เมื่อปี พ.ศ.2514 ได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นงานที่ต้องประสานขอความร่วมมือจากอาจารย์อาวุโส ได้ยึดถือหลักการทำงานด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน มีการทำงานเป็นทีม ทำให้ได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายจนสามารถดำเนินงานบริหารมหาวิทยาลัยได้อย่างสะดวก

เมื่อปี พ.ศ.2517 ได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งรองปลัดทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐ ถือเป็นผู้บริหารระดับสูงในขณะอายุยังน้อยในวัยเพียง 40 ปี และได้รับมอบหมายให้รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายในมหาวิทยาลัยทั้งสองแห่ง จนได้รับขนานนามในหนังสือ Who is Who in Thailand ว่า “นักดับปัญหาทางการศึกษา” (Educational Troubleshooter)

ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน ดำรงตำแหน่งอธิการบดีในสถาบันอุดมศึกษาหลายแห่ง ได้แก่

  • พ.ศ.2520 รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • พ.ศ.2521 รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น
  • พ.ศ.2521-2530 อธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
  • พ.ศ.2535-2543 อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
  • พ.ศ.2536-2541 รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
  • พ.ศ.2549-2550 อธิการบดีสถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์

บิดาแห่งสหกิจศึกษาไทย

ปี พ.ศ.2552 สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาได้ประกาศเกียรติคุณให้ ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน เป็น “บิดาแห่งสหกิจศึกษาไทย” ถือเป็นบุคคลแรกที่นำระบบสหกิจศึกษาเข้ามาใช้ในประเทศไทยเป็นครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ริเริ่มเมื่อปี พ.ศ.2536

สหกิจศึกษา (Cooperative Education) เป็นระบบการศึกษาที่จัดให้มีการเรียนการสอนในสถานศึกษาสลับกับการไปหาประสบการณ์ตรงจากการปฏิบัติงานจริง ณ สถานประกอบการ ด้วยความร่วมมือจากสถานประกอบการและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เป็นระบบการศึกษาที่ผสมผสานการเรียนกับการปฏิบัติงาน (Work Integrated Learning)

 

ข่าวจาก : มติชน

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: