ครม.เคาะ “พักหนี้เกษตรกร” 3ปี เริ่ม1ต.ค.นี้ จับตามีความแตกต่างจาก13ครั้งที่ผ่านมา





นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การพักหนี้เกษตรกรครั้งนี้ จะแตกต่างจาก 13 ครั้งที่ผ่าน ที่เป็นเพียงการประวิงเวลา แต่การช่วยเหลือครั้งนี้ ตั้งเป้าว่าในระยะ 3 ปี เกษตรกรจะได้พักในเรื่องของภาระ และกลับมาอย่างแข็งแกร่ง เพราะได้พักทั้งเงินต้นเเละดอกเบี้ย โดยมีกรอบงบประมาณที่จะช่วยเหลือคือจ่ายดอกเบี้ยแทนเกษตรกร ปีละ 11,000 ล้านบาทเศษ รวม 3 ปี 30,000 กว่าล้าน

นอกจากนี้ จะมีโครงการที่ทำให้พี่น้องเกษตรกรเข้าถึงแหล่งทุน เพื่อต่อยอดอาชีพของตนเองได้ ให้กู้รายละไม่เกิน 1 แสนบาท เพราะมองว่าเมื่อไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ ก็ไม่สามารถหาเงิน เพื่อมาชำระคืนหรือชดใช้ได้

ทั้งนี้ มาตรการพักหนี้ฯ ครั้งนี้ จะให้สิทธิ์กับลูกหนี้รายย่อยที่เป็นหนี้ ธกส. ที่มีมูลหนี้ไม่เกิน 3 แสนบาท ซึ่งมีเกษตรกรเข้าเกณฑ์ 2.698 ล้านราย ได้รับสิทธิ์ในการพักชำระหนี้ระยะแรก 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2567 โดยเกษตรกรที่ต้องการพักหนี้ ต้องไปแจ้งประสงค์เข้าร่วมมาตรการด้วยตนเอง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมนี้ ถึงวันที่ 31 มกราคม 67 สำหรับลูกหนี้ NPLs ต้องผ่านปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของ ธ.ก.ส. ก่อน ถึงจะเข้าร่วมมาตรการพักหนี้ได้ ส่วนกลุ่มลูกหนี้ปกติ ระหว่างพักหนี้ ลูกหนี้สามารถชำระหนี้สินได้ โดยเงินที่ชำระครึ่งหนึ่ง จะตัดเงินต้นให้ ส่วนมาตรการพักหนี้ผู้ประกอบการSMEs ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อยู่ระหว่างการศึกษาแนวทาง ซึ่งจะนำเสนอในคราวต่อไป

ขณะที่เงินดิจิทัล 10,000 บาท ครม. ยังไม่มีการพิจารณา โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า ยังไม่เสร็จ ยังไม่เรียบร้อย ส่วนเรื่องที่มาของแหล่งเงินที่ใช้ จะกู้มาจากธนาคารออมสินหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยังไม่ถึงเวลา เดี๋ยวพร้อมแล้วจะแถลง อย่างไรก็ดี ยืนยันทุกอย่างเป็นไปตามกรอบกฎหมาย เรื่องของหลักการก็พยายามทำให้ดี รวมถึงเรื่องระยะทางการใช้เงินด้วย ซึ่งจะได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้ ขณะที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังกล่าวว่า จะเสนอครม. พิจารณารายชื่อคณะกรรมการชุดใหญ่ในสัปดาห์หน้า ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีนั่งเป็นประธาน หลังจากนั้นจะต้องตั้งคณะทำงานชุดเล็ก เพื่อดำเนินมาตรการต่อไป

 

ข่าวจาก : ch3plus

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: