นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมฯ ชงฟันวินัย “ครูก่อหนี้ฟุ่มเฟือย” แนะออกระเบียบคุมเข้ม





20 ก.ย.2566 นายณรินทร์ ชำนาญดู ผู้อำนวยการโรงเรียนกาญจนานุเคราะห์ ในฐานะนายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันที่ครูทั้งระบบกว่า 9 แสนคน ยอดหนี้รวมกว่า 1.4 ล้านล้านบาท โดยเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดคือ สหกรณ์ออมทรัพย์ครู ยอดหนี้รวม 8.9 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 64 ของยอดหนี้ทั้งหมด อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่ ร้อยละ 5.64

รองลงมาคือ ธนาคารออมสิน 3.9 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 28 ของยอดหนี้ทั้งหมด อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 6.9 ตามมาด้วย ธนาคารกรุงไทย 6.3 หมื่นล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 4 ของยอดหนี้ทั้งหมด อัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 7.12 และ ธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) 6.1 หมื่นล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 4 ของยอดหนี้ทั้งหมด อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 6.4

ทั้งนี้หนี้สินครูเป็นปัญหา เรื้อรังมาอย่างยาวนานทุกรัฐบาล พยายามแก้ไข แต่ไม่เคยประสบผลสำเร็จเนื่องจากไม่รู้สภาพที่แท้จริงของหนี้สินครู สภาพโดยรวมของหนี้สินครู มีหลายลักษณะ เพราะมีทั้ง ลูกหนี้ชั้นดี และมีเป็นส่วนน้อยที่เป็นหนี้เสียก่อให้เกิดปัญหา และคนกลุ่มนี้พยายามเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือ เพราะฉะนั้นตนขอเสนอแนวทาง การแก้ไขหนี้สินที่สามารถทำได้ เป็นรูปธรรม และ มีความสำเร็จได้อย่างแน่นอน

นายณรินทร์ กล่าวต่อว่า แนวทางสำคัญอยากให้มีการสำรวจสภาพหนี้ โดยแบ่งเป็น

1.หนี้ที่ก่อให้เกิดรายได้ รัฐบาลไม่ต้องดำเนินการอะไร เพราะไม่เป็นปัญหาในการชำระหนี้

2.หนี้เพื่อการสร้างอนาคต คืนหนี้ที่กู้ไป สร้างบ้าน ซื้อรถ เรียนต่อ เป็นหนี้สินที่ครูสามารถชำระได้ ไม่ก่อให้เกิดปัญหา รัฐบาลไม่ต้องดำเนินการแก้ไขอะไร

3.หนี้สินที่เกิดก่อนมาเป็นครู เช่นเงินกู้เรียน เมื่อมาเป็นครูแล้วสามารถชำระหนี้ได้ แต่ก็ควรมีการติดตามเพื่อไม่ให้เกิดหนี้ใหม่

4.หนี้ในการเลี้ยงดูบิดามารดา หนี้สินประเภทนี้ รัฐบาลก็ไม่ต้องดำเนินการอะไร เพราะถือว่าบุคคลนั้นเป็นผู้มีความรับผิดชอบสูงอยู่แล้ว แต่ควรติดตามกำกับ ไม่ให้ก่อให้เกิดหนี้ใหม่

5.หนี้สินที่เกิดจากความ ไม่มีวินัยทางการเงิน หนี้สินเกิดจากการฟุ่มเฟือยเล่นการพนัน เช่น หวย ลอตเตอรี่ หนี้สินประเภทนี้ ทำให้ครูหมดอนาคตและไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ได้ รัฐบาล ควรเข้าไปดำเนินการแก้ไข

6.หนี้สินที่เกิดจากภาระการค้ำประกันทำให้ครู ไม่มีความสามารถในการชำระได้ เป็นหนี้ที่เกิดจากความประมาทไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้น รัฐบาลควรให้ความ ช่วยเหลือแก้ไข

นายกสมาคมส.บ.ม.ท. กล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางแก้ไข มีดังนี้ โดยหนี้สินที่เกิดจากความไม่มีวินัย ให้รัฐบาลโดยกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) มอบหมายให้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูเป็นเจ้าภาพในการดำเนินการรวบรวมหนี้สินทั้งหมด ของหนี้สินที่อยู่ในข้อนี้ แล้วจัดสรรลำดับความจำเป็น ในระยะเร่งด่วนและระยะยาว ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือทั้งสถาบันการเงินทุกสถาบันที่เป็นเจ้าหนี้ และได้รับความร่วมมือจากครูที่เป็นหนี้

ตามข้อนี้โดยให้สหกรณ์ออมทรัพย์ครู ดำเนินการหาทางแก้ไข ซึ่งมีแนวทางที่สามารถปฏิบัติได้อยู่แล้ว เน้นว่าต้องสร้างวินัยทางการเงิน และไม่สร้างหนี้สินใหม่ ส่วนหนี้สินที่เกิดจากการค้ำประกัน ถือว่าไม่ได้เกิดจากความ ฟุ่มเฟือย หรือยากจนมาแต่อดีต แต่เกิดจากความ หวังดีต่อบุคคลต่าง ๆ ในการเป็นผู้ค้ำประกัน ให้กับเพื่อนครูด้วยกัน ให้กับญาติพี่น้อง ควรจะต้องมีการดำเนินการ แก้ไขแตกต่างไปจากกลุ่มอื่น

โดยแก้ไขกฎหมาย ในการค้ำประกันว่าสถาบันการเงินผู้เป็นเจ้าหนี้จะต้องดำเนินการบังคับ ให้ผู้กู้ ชำระหนี้จนถึงที่สุดก่อน ถ้าผู้กู้ ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ได้จริง ก็ควรจะสืบทรัพย์ ไปถึงผู้เกี่ยวข้อง ในครอบครัวตัวเองก่อน ที่จะมาบังคับคดีเอากับครูผู้ค้ำประกัน และเมื่อดำเนินตามสืบทรัพย์จากครอบครัวแล้ว ผู้กู้ไม่สามารถที่จะชำระหนี้ได้ ควรมอบหมายให้สหกรณ์ออมทรัพย์ครู ดำเนินการหาแนวทางในการช่วยครูชำระหนี้

“ส่วนแนวทางแก้ไขหนี้สินครูอย่างเป็นระบบมีดังนี้ ควรเรียกสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ของครูทั้งหมด มาทำข้อตกลงในเรื่องของดอกเบี้ยเงินกู้ ระยะเวลาในการผ่อนชำระ ที่สามารถชำระได้ รวมทั้งการรวมหนี้สิน ให้อยู่ในสถาบันการเงิน แห่งใดแห่งหนึ่งเป็นหลัก ควรให้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูเป็นหน่วยงานหลักในการรวบรวมหนี้

รวมถึงต้องสร้างวินัยทางการเงินให้กับครูอบรมสร้างจิตสำนึกให้ครูตระหนักในการใช้เงินอย่างพอเพียง กับฐานะของตนเอง ตั้งคณะทำงานกำกับลูกหนี้ โดยจะต้องได้รับความร่วมมือ จากสถาบันการเงินอื่นๆ ในการไม่ปล่อยให้ครูไปก่อหนี้สินใหม่ขึ้นมาอีก ให้นำเรื่องหนี้สินครูมาเป็นตัวชี้วัดในการดำเนินการทางวินัย และจรรยาบรรณวิชาชีพครูในกรณีนี้ จะต้องใช้กับคุณครู ที่ไม่มีวินัยทางการเงิน กรณีนี้จะต้องพึ่งพาหน่วยงาน ในระดับสูง

ทั้งสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)ออกกฎหมายระเบียบ เพื่อควบคุมกำกับ วินัย ของบุคลากรครู มีบทลงโทษ ครูที่ก่อหนี้ฟุ่มเฟือย เชื่อว่าจะทำให้ครูไม่กล้าที่จะก่อให้เกิดหนี้ที่เป็นการไม่เหมาะสมกับวิชาชีพครู เช่น การเล่นการพนัน ซึ่งเป็นการผิดกฎหมายอยู่แล้ว หรือการใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือยเกินตัว” นายณรินทร์ กล่าว

 

ข่าวจาก : ข่าวสด

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: