วุฒิสภาชง “เพิ่มอำนาจสว.” แก้รธน. ปลดล็อกเงื่อนไข ไม่ต้องเว้นวรรคการเมือง2ปี





29 ส.ค.2566 ที่รัฐสภา มีการประชุมวุฒิสภา ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เป็นประธานที่ประชุม ได้พิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน เรื่อง วุฒิสภา : ความสำคัญและบทบาทในการปกครองระบบรัฐสภาไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อเสนอตามรายงานของกมธ. ยืนยันให้รัฐสภา เป็นแบบ 2 สภาฯ คือ สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา เพื่อให้มีวุฒิสภาเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลกับฝ่ายสภาฯ และตรวจสอบฝ่ายบริหาร และเสนอให้ทบทวนเนื้อหาในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ในบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการได้มาซึ่ง สว.ที่มาจากการเลือกกันเองตามกลุ่มและอาชีพ ใน 3 ประเด็น ได้แก่

1.สว. 200 คน ที่มีคุณสมบัติแตกต่าง มีความเชี่ยวชาญ ความรู้ ความสามารถและประสบการณ์ จำกัดอายุ และมีสุขภาพแข็งแรง สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ ดำรงตำแหน่งวาระ 5 ปี สามารถกลับมาทำหน้าที่ได้อีกวาระหนึ่ง โดยไม่รวมวาระแรกของสว.ชุดปัจจุบัน เพื่อไม่ให้มีผลต่อการปฏิบัติงานในระยะต้น ทั้งนี้ กำหนดสว.ไม่ควรเป็นติดต่อกันเกิน 2 วาระ

2.ปรับคุณสมบัติของสว.ที่มาจากกลุ่มต่างๆ 20 กลุ่ม โดยวิธีเลือกกันเอง ห้ามเกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง อย่างน้อย 5 ปีเพื่อให้ดำรงความเป็นกลาง รวมถึงกำหนดลักษณะต้องห้ามของสว. ห้ามบุคคลอายุเกิน 85 ปี มีสุขภาพแข็งแรง

3.ให้บทบาทสำคัญในการเสนอและกลั่นกรองกฎหมาย ตรวจสอบถ่วงดุลการทำงานของรัฐบาล และหน้าที่อื่นๆ เช่น มีอำนาจถอดถอนนักการเมือง และผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง

รายงานกมธ.พัฒนาการเมือง ระบุด้วยว่า กระบวนการได้มาของสว.ชุดถัดไป ไม่สามารถป้องกันระบบทุนและพรรคการเมือง โดยเชื่อว่าจะมีการแข่งขันซื้อตัวบุคคลและสร้างเครือข่ายตั้งแต่ระดับอำเภอและระดับจังหวัด ผ่านกลุ่มการเมืองท้องถิ่น ดังนั้น สว.ควรมีที่มาจาก 3 ส่วน คือ สรรหาผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เชี่ยวชาญการเลือกตั้งแต่ละจังหวัดและเลือกจากการกลุ่มอาชีพ เพื่อให้สว.มีความหลากหลายและเติมเต็มให้สมบูรณ์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการนำเสนอรายงานของกมธ.ดังกล่าว มีผู้อภิปรายและเสนอความเห็นเพื่อปรับปรุงเนื้อหาจำนวนหนึ่ง พร้อมกับสนับสนุนการปรับแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่ควรให้ สว.ชุดปัจจุบันมีส่วนร่วม

ว่าที่ร้อยตรี วงศ์สยาม เพ็งพาณิชภักดี เลขานุการ กมธ. อภิปรายว่า สำคัญต้องมีเพื่อถ่วงดุลอำนาจในรัฐสภา ทั้งนี้ ในเดือนพ.ค.67 สว.ชุดปัจจุบันจะหมดวาระและมีการเลือกตั้ง ตามกลุ่มความเชี่ยวชาญ สาขาอาชีพ ทั้งนี้ อาจมีบางกลุ่มของบางจังหวัดไม่มีตัวแทนเข้ามาสู่วุฒิสภา อย่างไรก็ดี ตนขอจับตาคุณสมบัติของผู้ที่จะลงสมัคร สว. ว่าจะมีคุณสมบัติตรงกับหน้าที่ปฏิรูป ยึดโยงประชาชนหรือไม่ ซึ่งตามรายงานของกมธ.การเมืองฯ ตนขอให้เขียนให้ชัดว่า จำเป็นต้องมีสว.

“อีก 7 เดือนที่ สว.ต้องเลือกตั้งใหม่ จำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยรัฐสภา เพราะผบ.เหล่าทัพที่จะได้ตำแหน่ง สว. หากได้รับตำแหน่ง จะเข้ามาทำหน้าที่ 7-8 เดือน หลังจากนั้นต้องติดล็อกอีก 2 ปี ดังนั้น ต้องสื่อสารไปให้ชัด อย่างไรก็ตาม ผมมองว่าจำเป็นต้องมีสว. เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญกระทำโดย 2 สภา” ว่าที่ ร้อยตรีวงศ์สยาม

นายนายเสรี สุวรรณภานนท์ สว. ฐานะประธานกมธ.พัฒนาการเมืองฯ ชี้แจงว่า ตนเข้าใจ คนหนุ่มและคนอายุเยอะ คิดไม่ตรงกัน คนหนุ่มคิดว่ามีแรง ส่วนคนแก่คิดมาก และกังวลว่าจะถูกมองว่าทำเพื่อตนเอง ดังนั้น ข้อเสนอที่เสนอมานั้น รวบรวม จุดยืนและความตั้งใจในการทำรายงานดังกล่าว ต้องยอมรับว่าสิ่งใดในสังคมจับตามองว่า สิ่งที่เสนอในเรื่องนั้นๆ ทำเพื่อตนเองหรือไม่

หากการใดทำแล้วขัดจริยธรรม ขาดคุณธรรม ขาดความชอบธรรม เพราะหาประโยชน์ใส่ตน สังคมไม่ยอมรับ ข้อเสนอนั้นอาจกระทบคนทำหน้าที่ที่อยากทำหน้าที่ต่อไป แต่เงื่อนไข และคุณสมบัติตามกฎหมายเสนอแบบนี้แต่แรก หากเสนอในช่วงที่เรามีอำนาจหน้าที่อาจไม่ยอมมรับ

“ผมเข้าใจความเห็นที่หลากหลายและประโยชน์การทำหน้าที่ว่า ทำงานมาแล้วมีประโยชน์จะให้พักทำไม แต่ต้องยืนยันหลักการว่าไม่เสนอเพื่อตัวเอง แต่จะเสนอให้คนที่เกี่ยวข้องพิจารณา ผมยืนยันไม่มีเจตนาที่ทำเพื่อตัวเอง” นายเสรี กล่าว

 

ข่าวจาก : ข่าวสด

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: