คืบหน้าเคส “แอชตันอโศก” บ.อนันดาเจรจา “สมาคมซิกข์” แลกที่ดิน รฟม. เปิดทางเข้าออกถนนอโศก





หลังศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง อาคารโครงการแอชตัน อโศก ซอยสุขุมวิท 21 ของบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ร่วมทุนกับมิตซุย ฟูโดซัง มูลค่า 6,481 ล้านบาท เนื่องจากที่ดินใช้ก่อสร้างอาคารโครงการ ไม่เป็นไปตามที่กฎกระทรวงฉบับที่ 33 ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 กำหนด เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา

ล่าสุดเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ยังไม่ได้มีการหารืออย่างเป็นทางการกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) แต่มีการหารือกันบ้างนอกรอบ เพื่อหาทางออกของโครงการแอชตัน อโศก ซึ่งจะต้องมีการยื่นขอใบอนุญาตก่อสร้างใหม่ตามที่ กทม.ให้ดำเนินการแก้ไขอย่างน้อย 30 วัน ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522

“เรากำลังพิจารณาหาทางออกที่ดีที่สุดให้กับทุกฝ่าย หลังจากนั้นจะแจ้งความคืบหน้าทั้ง 5 แนวทางที่ได้แจ้งไปก่อนหน้านี้ให้กับลูกบ้านรับทราบในวันที่ 23 สิงหาคมนี้ มั่นใจว่าน่าจะมีทางออกได้โดยที่ไม่ต้องทุบตึก ให้มีผลกระทบน้อยที่สุด และให้ทุกฝ่ายแฮปปี้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย” นายประเสริฐกล่าว

นายประเสริฐกล่าวว่า สำหรับ 5 แนวทาง ปัจจุบันบริษัทกำลังดำเนินการในแนวทางแรก คือ ยื่นขอใบอนุญาตก่อสร้างใหม่ โดยการซื้อหรือหาที่ดินเพิ่มเติม เพื่อทำทางเข้าออกกว้างไม่น้อยกว่า 12 เมตร อยู่ติดกับถนนสาธารณะมีเขตทางกว้าง 18 เมตร ขณะนี้มี 9 ทางออกให้เลือกและอยู่ระหว่างการเจรจา โดยบริษัทพยายามทำแนวทางแรกให้ดีที่สุดก่อน ถ้าไม่ได้ค่อยไปแนวทางที่ 2 เสนอให้หน่วยงานภาครัฐแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องผ่านสำนักการโยธา กทม.ไปยังกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ไปยังคณะรัฐมนตรี แนวทางที่ 3 เสนอให้หน่วยงานภาครัฐแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องผ่าน รฟม. เสนอผ่านกระทรวงคมนาคม ไปยังคณะรัฐมนตรี

แนวทางที่ 4 ประสานเจ้าของเดิมให้ยื่นทบทวนสิทธิที่ดินทางเข้า-ออกจาก รฟม. ให้ทบทวนสิทธิที่ดินเดิมก่อนเวนคืน ควรให้สิทธิทางเข้า-ออกอย่างน้อย 12-13 เมตร เพื่อให้สามารถขึ้นอาคารสูงและขนาดใหญ่พิเศษได้ และแนวทางที่ 5 ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้พิจารณาพิพากษาคดีใหม่เนื่องจากมีพยานหลักฐานใหม่ ทำให้ข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไป อย่างไรก็ตามบริษัทยังยืนยันว่าต้องแก้ที่ต้นตอของปัญหา คือ ข้อกฎหมายและระเบียบต่างๆ

ทั้งนี้มีรายงานข่าวแจ้งว่า ล่าสุดทางผู้บริหารอนันดาได้เข้าไปเจรจากับสมาคมนามธารีสังคัตแห่งประเทศไทย (สมาคมซิกข์) เพื่อขอแลกที่ดินบางส่วนกับ รฟม.ซึ่งมีที่ดินเป็นทางออกเดิมอยู่ เพื่อทำเป็นทางเข้าออกของโครงการเชื่อมกับถนนอโศกมนตรี โดยอาจจะต้องมีค่าใช้จ่ายให้กับสมาคมเพื่อเป็นการตอบแทน ขณะที่ รฟม.จะต้องร่วมแก้ปัญหานี้ด้วย โดยต้องไปดูว่าจะขัดต่อข้อกฎหมายเวนคืนหรือไม่ ทั้งนี้ทางอนันดามองว่าแนวทางนี้น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด นอกจากซื้อตึกแถวสุขุมวิทซอย 19 แยก 2 แล้ว

ผู้สื่อข่าวสอบถามไปยังสมาคมนามธารีสังคัตแห่งประเทศไทย โดยผู้แทนสมาคมตอบว่า ทางอนันดาได้เข้ามาพูดคุยกับสมาคมแล้ว เพื่อช่วยกันหาทางออกให้กับลูกบ้าน แต่ยังไม่มีข้อสรุปใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งอนันดาจะต้องไปทำข้อเสนอมาให้สมาคมพิจารณา ตอนนี้เป็นแค่การรับฟังอย่างเดียว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอนันดาจะตัดสินใจอย่างไรกับเรื่องนี้ เพราะทุกอย่างมีต้นทุน

คงต้องติดตามสุดท้าย “อนันดา” จะเลือกทางไหน แก้วิกฤตปัญหาแอชตัน อโศก

 

ข่าวจาก : มติชน

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: