กกพ.ปัดตก ลดค่าไฟ 4.25บาท แนะให้รอรัฐบาลใหม่ มีโอกาสปีหน้าปรับขึ้นอีก





9 ส.ค.2566 นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยถึงข้อเรียกร้องจากหลายฝ่ายที่ต้องการให้ลดค่าไฟฟ้างวดสุดท้ายของปีนี้ (ก.ย.-ธ.ค.2566) ลงเหลือ 4.25 บาทว่าการลดค่าไฟทุก 1 สตางค์ จะต้องใช้เงินประมาณ 500-600 ล้านบาท หากเป็นไปตามข้อเรียกร้องจะต้องใช้เงินงบประมาณถึง 1-1.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งกกพ. ไม่มีงบ คงไม่สามารถดำเนินการได้

จึงใช้วิธีการบริหารต้นทุนที่มีอยู่ในโครงสร้างค่าไฟ เพื่อให้การปรับขึ้นเป็นภาระกับประชาชนน้อยที่สุดเท่านั้น ประกอบกับการดำเนินการที่ผ่านมานั้นรัฐบาลมีงบประมาณบางส่วนมาสนับสนุน ดังนั้นหากจะให้ลดค่าไฟลงอยู่ที่ 4.25 บาท/หน่วย คงต้องรอรัฐบาลใหม่เข้ามาดำเนินการ ซึ่งคงไม่สามารถพิจารณาหรือเปลี่ยนแปลงได้ทันค่าไฟงวดสุดท้ายของปีนี้จะมีผลในรอบบิลเดือนก.ย.นี้แน่นอน

“การลดค่าไฟฟ้างวดเดือนก.ย.-ธ.ค.2566 เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก หรือแทบจะเป็นไปไม่ได้ เพราะต้องมีกระบวนการคำนวณสูตรค่าไฟฟ้าใหม่ หากจะเปลี่ยนสูตรคำนวณใหม่ต้องใช้อำนาจรัฐเข้ามาจัดการ อาจต้องเป็นคณะรัฐมนตรี (ครม.) คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) อีกทั้งยังต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นอาจต้องใช้เวลา

รวมทั้งการพิจารณาต้นทุนที่เกี่ยวข้องทั้งของบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ที่ยังมีภาระค้างค่าเชื้อเพลิงนับแสนล้านบาท และอีกเหตุผลสำคัญ คือ ล่าสุดราคา ก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) ตลาดโลกเริ่มสูงขึ้นอีก ทำให้ปรับลดค่าไฟในงวดปลายปี 2566 ค่อนข้างลำบาก”นายคมกฤช กล่าว

นอกจากนี้ ยังต้องติดตามปัจจัยต่างๆ อย่างใกล้ชิด เพราะมีโอกาสที่อัตราค่าไฟฟ้าปีหน้าจะปรับตัวขึ้นได้อีกเช่นกัน โดย กกพ.ประเมินค่าไฟฟ้างวดเดือนม.ค.-เม.ย.2567 เบื้องต้นมีแนวโน้มใกล้เคียงกับงวดนี้ แม้ปริมาณก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยโดยเฉพาะแหล่งเอราวัณจะเพิ่มขึ้น แต่บางส่วนยังต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) ในราคาแพง

ส่วนก๊าซในพม่าก็มีโอกาสจะหายไป ขณะที่การใช้ก๊าซของโรงแยกก๊าซเพิ่มขึ้น ประกอบกับภาวะภัยแล้งที่ทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนของสปป.ลาว ลดน้อยลง ส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าไฟที่ไทยรับซื้อปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย

 

 

ข่าวจาก : ข่าวสด

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: