สว.ประพันธ์ โวยกลางสภา “ทบทวน = ล้มล้าง” ไม่ควรรับมาให้ที่ประชุมพิจารณาอีก แนะอาจารย์กฎหมายลงชื่อค้านมติสภา





4 สิงหาคม ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมรัฐสภา โดยมี นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาเรื่องด่วนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 272 เรื่องการตัดอำนาจ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ได้เสนอญัตติด่วนให้รัฐสภาทบทวนมติที่ประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม ที่ไม่ให้เสนอชื่อบุคคลเดิมดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ภายหลังมีประเด็นร้องไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญ โดยมีผู้รับรองญัตติครบถ้วน

นายวันมูหะมัดนอร์ชี้แจงว่า ขอให้รอคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญวันที่ 16 สิงหาคมก่อน ถ้าเดินหน้าต่ออาจไปขัดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ควรเอาเรื่องนี้มาพูด แต่นายรังสิมันต์แย้งว่า การร้องไปยังศาลเป็นอำนาจผู้ตรวจการแผ่นดิน แต่การเสนอญัตติของตนมีผู้รับรองถูกต้อง เมื่อเสนอญัตติถูกต้องก็ต้องพิจารณาญัตตินี้ก่อน ให้ที่ประชุมพิจารณาจะเปลี่ยนแปลงมติที่ดำเนินการไปแล้วหรือไม่ แต่นายวันมูหะมัดนอร์ยืนยันให้รอคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญก่อน เพราะเรื่องอยู่ในกระบวนการยุติธรรมของศาลต้องรอ

จากนั้นสมาชิกรัฐสภาได้ร่วมกันอภิปรายอย่างกว้างขวาง ทั้งสนับสนุนและเห็นแย้ง รวมถึง นายประพันธ์ คูณมี ส.ว. ที่อภิปรายว่า ตามที่มีผู้เสนอญัติให้ทบทวนนั้น ได้พยายามดูข้อบังคับทุกข้อแล้ว ประการที่ 1 การให้สมาชิกมาทบทวนมติที่สมาชิกรัฐสภาได้ลงมติไปแล้ว ดังนั้น การอ้างข้อบังคับ 32 (1) ต้องกรุณาแสดงเหตุด้วยว่ามีเหตุผลประการใดที่สมาชิกรัฐสภาลงมติไปแล้วมีข้อผิดพลาด ผิดระเบียบ ผิดกฎหมาย ผิดข้อบังคับ หรือมีเหตุอะไรที่ทำให้ท่านมีอำนาจมาทบทวน ลบล้างมติของสมาชิกรัฐสภา 395 ท่านที่ลงมติไปแล้ววันนั้น เพราะญัตติของท่านที่มีสมาชิกรับรองไม่อาจลบล้างมติรัฐสภาเมื่อวันที่ 19 ก.ค.ได้ และองค์ประชุมวันนี้ก็ไม่ใช่องค์ประชุมวันนั้น ผู้ลงมติวันนั้นทั้งหมดอาจไม่ได้มาประชุม จึงไม่อาจใช้มติที่ประชุมของเสียงข้างมากในที่นี้มาลบล้างมติวันที่ 19 ก.ค.ได้

นายประพันธ์อภิปรายว่า ประเด็นที่ 2 เห็นด้วยกับท่านประธานอย่างยิ่งที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว ชอบแล้ว ถูกต้องแล้ว กรณีนี้ไม่สามารถทบทวนได้ เพราะการลงมติวันนั้นเป็นการลงมติตามญัตติที่สมาชิกเสนอว่าการเสนอชื่อบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกฯในวันนั้นเป็นการเสนอญัตติซ้ำเดิม โดยไม่มีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลง ซึ่งประธานได้ปรึกษาที่ปรึกษากฎหมายของท่าน 10 ท่าน โดย 8 ท่านลงมติว่าเป็นญัตติเดิม

“ผมยังแอบตำหนิท่านประธานอยู่ในใจว่าบรรจุญัตตินั้นเข้ามาได้อย่างไร ท่านถามผู้เสนอญัตติไหมว่ามีพฤติการณ์ใดเปลี่ยนแปลง มาทราบความจริงภายหลังตอนประธานเป็นประธานการประชุมเองว่าท่านฟังอยู่ 6-7 ชั่วโมงก็ไม่พบพฤติการณ์อะไรเปลี่ยนแปลง จริงๆ แล้วท่านประธานน่าจะถามตั้งแต่ก่อนเสนอญัตติมาให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาด้วยซ้ำไป แต่ท่านก็มีเมตตากรุณาเอามตินี้มาปรึกษาที่ประชุม ซึ่งท่านก็ใช้ข้อบังคับ 151

“เมื่อสักครู่ก็วินิจฉัยแล้วว่าข้อบังคับ 151 วรรคท้าย ให้เป็นอำนาจของรัฐสภาเป็นผู้วินิจฉัย วันนั้นรัฐสภาวินิจฉัยแล้วด้วยเสียง 395 แล้วว่าเสนอซ้ำเดิมไม่ได้ในสมัยประชุมนี้ คำวินิจฉัยในวรรคท้ายก็ให้ถือว่าคำวินิจฉัยนั้นเป็นเด็ดขาด ซึ่งคำวินิจฉัยของประธานเมื่อครู่ผมเห็นพ้องด้วยว่าวินิจฉัยชอบแล้ว” นายประพันธ์กล่าว

นายประพันธ์กล่าวด้วยว่า ขออภัยที่ต้องเอ่ยชื่อ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ว่าที่ท่านแย้งความเห็นท่านประธานว่าไม่ได้เด็ดขาด หรือกระทั่งสมาชิกที่อภิปรายเมื่อสักครู่ คำว่า “เด็ดขาด” ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาอาจทบทวนคำพิพากษาศาลฎีกาก็ได้ นั่นคนละเรื่อง กรณีนี้ข้อบังคับเขียนชัดเจน ดังนั้น ด้วยเหตุนี้คำว่า “เด็ดขาด” คือจบ เป็นที่ยุติ ต้องเคารพเสียงสมาชิกส่วนใหญ่ ท่านจะมาทบทวนโดยอาศัยเสียงสมาชิกเสนอญัตติและมีผู้รับรอง 40 ท่าน มาลบล้างมตินี้ไม่ได้

นายประพันธ์กล่าวว่า ดังนั้น เมื่อไม่มีกฎหมาย เมื่อไม่มีข้อบังคับ ท่านก็ไม่มีอำนาจที่จะทบทวนได้ ญัตติที่มีการเสนอนี้จึงเป็นญัตติที่มิชอบ ไม่สามารถนำมาพิจารณาเพื่อลบล้างได้ ที่ท่านเสนอให้ทบทวนก็คือลบล้างมติ ส่วนกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินรับเรื่องที่มีผู้ไปร้องเรียนยังมีปัญหาในทางข้อกฎหมาย ซึ่งผมไม่อยากฟันธงว่าอาจารย์ที่ลงชื่อนั้นควรเลิกสอนกฎหมายไปได้เลย ถ้าหากศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัยแล้วบอกว่าไม่มีอำนาจ

ทำให้นายวันมูหะมัดนอร์รีบเตือนนายประพันธ์ว่า “อย่าเพิ่งไปก้าวล่วง” จนนายประพันธ์ขอถอนคำพูด

นายประพันธ์กล่าวว่า ขอถอน ถ้าหากว่าป็นคำพูดที่ไม่เหมาะสม คิดว่าที่ผู้ตรวจการฯรับเรื่องไปนั้นเราต้องเคารพและรอฟังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญว่าจะเป็นอย่างไร ผมมีความเชื่อมั่นว่าไม่เข้าองค์ประกอบเลยที่ผู้ตรวจการฯส่งไปได้ เชื่อมั่นว่าศาลไม่อาจรับวินิจฉัยไว้ได้

“ไม่ควรรับญัตตินี้มาทบทวน เพราะหากยังถือเอาญัตติที่มิชอบมาพิจารณา รัฐสภาจะกระทำผิดอย่างที่มิควรอย่างยิ่ง เพราะเท่ากับเป็นการลบล้างมติของตัวเองที่ได้ลงมติไปแล้วโดยชอบ และไม่มีเหตุที่จะมาเปลี่ยนแปลงอีก จึงเห็นชอบกับคำวินิจฉัยของท่านประธานและสนับสนุนที่ ท่านสมชาย แสวงการ ได้เสนอว่าขอคัดค้านญัตติดังกล่าวและไม่ควรรับญัตติมาให้ที่ประชุมทบทวนแต่อย่างใด” นายประพันธ์ระบุ

 

ข่าวจาก : มติชน

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: