วันนอร์เผย ถ้า ส.ว.โหวตนายกฯ รอบแรกไม่ผ่าน นัดใหม่อีก19ก.ค.





7 กรกฎาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศที่บริเวณชั้น 6 รัฐสภา ซึ่งเป็นสถานที่ในการจัดพิธีรับพระบรมราชโองการ แต่งตั้งประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่เวลา 08.30 น. มีบรรดา ส.ส.จากพรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาชาติ พร้อมทั้งข้าราชการประจำสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เข้าร่วมพิธีคับคั่ง

โดยเวลา 09.55 น. นางณัฐฏ์จารี อนันตศิลป์ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผู้อำนวยการกองอาลักษณ์และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และคณะพร้อมเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร อัญเชิญพระบรมราชโองการ เข้ามายังห้องจัดพิธีรับพระบรมราชโองการ แต่งตั้งประธานสภาและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร

มีเนื้อความว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่สภาผู้แทนราษฎร ได้ลงมติเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 เลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร และสภาผู้แทนราษฎร ได้ลงมติเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 เลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎรดังนี้ 1.นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร 2.นายปดิพัทธ์ สันติภาดา เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่ง 3.นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่สอง

จึงแต่งตั้งให้ผู้มีนามดังกล่าวเป็นประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ตามความในมาตรา 116 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ 5 กรกฎาคม 2566 เป็นปีที่ 8 ในรัชกาลปัจจุบัน โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

จากนั้น นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า วันนี้นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่งที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พวกเราทั้ง 3 ท่านดำรงตำแหน่งประธานสภา รองประธานสภา คนที่ 1 และรองประธานสภาคนที่ 2 พวกเราจะขอน้อมนำพระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้พระราชทานให้แก่สมาชิกรัฐสภา เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม ในพระราชพิธีเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยที่ 26 ที่ผ่านมา เพื่อนำมาปฏิบัติเพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะโหวตนายกฯ กี่ครั้งหากโหวตรอบแรกไม่ผ่าน นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ 2560 และข้อบังคับการประชุมรัฐสภา 2563 ส่วนกรอบเวลาของการประชุมตลอดจนจะโหวตอย่างไรนั้น เราต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและข้อบังคับอยู่แล้ว ส่วนรายละเอียดอย่างอื่นถ้าเราพูดก่อนล่วงหน้าอาจไม่ตรงกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งจะตรงกับวันที่ 13 กรกฎาคม 2566

เราคิดว่าการประชุมวันที่ 13 กรกฎาคม เราหวังว่าคงจะดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย แต่ถ้าหากไม่เสร็จสิ้น เราได้หารือกับประธานวุฒิสภา ซึ่งเป็นรองประธานรัฐสภาแล้วว่า อาจมาประชุมกันในวันที่ 19 กรกฎาคม เพราะเราดูแล้วว่าเหมาะสมที่สุด เว้นไป 1 สัปดาห์ เพื่อให้เลขาธิการสภา ได้ทำหนังสือเชิญมาประชุมอีกครั้งในเวลาเดิม 09.30 น. ส่วนจะเสร็จสิ้นเรียบร้อยหรือไม่ขึ้นอยู่กับที่ประชุม

“หน้าที่ของรัฐสภา มีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ จะเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่เลือกนายกฯ เพื่อไปบริหารประเทศ เราต้องทำหน้าที่นี้เพื่อให้ได้นายกฯ ให้ได้ ไม่เช่นนั้นประเทศจะไม่มีนายกฯ ไม่ได้ เพราะปัญหาที่ประชาชนรอคอย รวมถึงปัญหาประเทศชาติ กำลังรอคอยรัฐบาลใหม่ หน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติต้องสนับสนุนให้การบริหารประเทศต่อไปได้ ในเวลาที่เหมาะสม ที่ประชาชนต้องการ” ประธานสภากล่าว

เมื่อถามว่า ส.ว.มีข้อกังวลว่า หากเสนอนายกฯ รอบแรกแล้วไม่ผ่าน จะเสนอชื่อคนเดิมซ้ำได้อีกหรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า เรื่อง ส.ว.ซึ่งเป็นผู้แทนปวงชนเช่นเดียวกับ ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญ ในการปฏิบัติหน้าที่ก็เป็นอิสระของแต่ละท่านที่จะใช้ดุลพินิจและวินิจฉัยให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ เราคงไม่สามารถคาดได้ว่าสมาชิกแต่ละท่านจะโหวตอย่างไร ก็คงต้องใช้ดุลพินิจเพื่อประชาชนและประเทศชาติ เราไม่มีความกังวลเรื่องนี้ เพราะทุกคนมีคุณวุฒิ วัยวุฒิ ประสบการณ์ และมีหัวใจตรงกันคือว่า บ้านเมือง ประเทศชาติ และประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ

“ทุกคนต้องทำให้ดีที่สุดและฝากให้กับประชาชนทั่วประเทศว่ารัฐสภาของเราจะทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายนั้นให้ดีที่สุด ตามที่ท่านได้คาดหวัง และในฐานะที่ผมเป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นประธานรัฐสภา ก็ต้องขอความสนับสนุน ขอความร่วมมือกับประชาชน ประเทศของเราต้องการความสมัครสมานสามัคคีและความร่วมมือจากทุกฝ่าย เพราะเรามาทำตรงนี้เพื่อประเทศชาติกันทุกคน รวมทั้งประชาชนด้วย ขอให้ท่านสนับสนุนให้มีนายกฯ ของประเทศ ผู้นำของท่านอย่างเรียบร้อย ในเวลาที่ท่านรอคอยให้ดีที่สุด ต้องร่วมมือกันทุกฝ่าย ทั้งสภา พรรคการเมือง ประชาชน และสื่อมวลชน ด้วย ขอให้งานที่เรามีในวันที่ 13 กรกฎาคม เป็นไปด้วยความเรียบร้อย”

นายปดิพัทธ์กล่าวว่า วันจันทร์ที่ 10 กรกฎาคม จะมีการแบ่งงานระหว่างประธานสภา และรองประธานสภา ว่าใครจะดูแลด้านใด ส่วนถามว่าประชาชนมีสิทธิชุมนุมหรือไม่ มีสิทธิแน่นอนตามรัฐธรรมนูญ ถ้าอยู่ในขอบเขต อยู่ใน พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ

 

ข่าวจาก : ประชาชาติธุรกิจ

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: