เผยปี56 เคยเกิดเหตุระเบิดทั่วกรุงฯ 10กว่าจุด ก่อนจะเกิดเหตุถังดับเพลิงราชวินิต





ปี 2556 ช่วงปลายเดือน มี.ค.–ต้นเดือน เม.ย.เกิดเหตุ “ถังดับเพลิงระเบิด” ในชุมชนกรุงเทพมหานครกว่า 10 จุด สภาพการระเบิดมีความรุนแรง บ้านเรือนได้รับความเสียหายเป็นวงกว้าง และไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่าเกิดจากอะไร ชาวบ้านเขตดอนเมือง ดุสิต ภาษีเจริญ และสายไหม ได้ร้องเรียนผ่าน “สุธา นิติภานนท์” สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เขตภาษีเจริญ

“สุธา” จึงได้เสนอญัตติด้วยวาจา เรื่อง ถังดับเพลิงของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่ติดตั้งในชุมชนรวม 10 กว่าถัง มีการระเบิดโดยไม่ทราบสาเหตุ และได้เสนอให้มีการเก็บกลับคืนทั้งหมด เพราะหลายจุดมีการติดตั้งอยู่ในโรงเรียน ชุมชน ซึ่งหากเกิดเหตุระเบิดขึ้นจะเกิดการสูญเสียเป็นอย่างมาก

ตรวจสอบพบว่า กทม.ได้สั่งซื้อ “ถังดับเพลิง” จำนวน 95,797 ถัง งบประมาณการจัดซื้อที่ 124 ล้าน เฉลี่ยถังละประมาณ 1,200 บาท ในสมัย “ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร” เป็นผู้ว่าฯ กทม. หลังจากนั้น “ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์” ได้สั่งการเรียกคืน “ถังดับเพลิง” ทั้งหมด 50 เขต และสุ่มถังดับเพลิงเขตละ 2 ถังส่งตรวจสอบกับ “สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม” (สมอ.) พร้อมได้ให้ “พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง” รองผู้ว่าฯ กทม. ตรวจสอบหาสาเหตุโดยเร็วที่สุด

ถังดับเพลิงล๊อตที่มีปัญหามีเลขการผลิต 331/54 หน้าถัง มีโลโก้ กทม.สกรีนคำว่า งบ กทม.ปี 2554 ผลิตและจัดจำหน่ายโดยบริษัท บีแอนด์บี เมดิค เทรดดิ้ง จำกัด โดยมีหมายเลขมอก.TIS 332-2537

จากการได้สอบถามบริษัทผู้ผลิต พบว่า สาเหตุจากในช่วงที่มีการผลิตถังดับเพลิงเป็นช่วงน้ำท่วมเมื่อปลายปี 54 สารเคมีในถังอาจได้รับความชื้นและเกิดการขยายตัว

ระหว่างนั้นมีผู้เชี่ยวชาญด้านอัคคีภัยที่มีประสบการณ์มานานกว่า 40 ปี “สวัสดิ์ เจริญวรชัย” ได้ประเมินข้อมูลให้ 2 ข้อ คือ ความหนาของเหล็กตัวถัง และส่วนเกยเชื่อมไม่ได้มาตรฐาน ข้อที่ 2 คือสารเคมีมีความชื้นก่อนบรรจุในถังดับเพลิงจนก่อให้เกิดปฏิกิริยาสร้างแรงดันภายใน

ด้าน “วิรัตน์ อาชาอภิสิทธิ์” รองเลขาธิการ สมอ. ตั้งข้อสังเกตเรื่องตัวถังดับเพลิงที่มีการฉีดขาด และมีรูทะลุ ว่าเบื้องต้นน่าจะเกิดแรงดันภายในมากกว่า 1,000 ปอนด์ต่อตารางนิ้วและประกอบกับความหนาของถังที่อาจจะไม่ได้มาตรฐาน แต่ต้องรอผลการตรวจสอบก่อน เพื่อให้ได้ข้อมูลที่แน่ชัด แต่ตามมาตราฐานที่กำหนดไว้ให้ถังดับเพลิงทุกขนาดมีความหนาไม่น้อยกว่า 0.6 มิลลิเมตร

จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า “ถังดับเพลิงระเบิด” ตัวถังมีการฉีกขาดตามรอยต่อของถัง แยกเป็น 2-3 ส่วน ส่วนสารเคมีที่อยู่ด้านในก็จับตัวแข็งเป็นก้อน ซึ่งเป็นลักษณะของสารเคมีที่เสื่อมคุณภาพ ทำให้การถ่ายสารเคมีเพื่อป้องกันถังระเบิดนั้นต้องใช้ค้อนกระเทาะตัวถัง เพื่อให้สารเคมีคลายการเกาะตัว และเบื้องต้นก็ได้มีการนำสารเคมีดังกล่าวไปตรวจสอบเพื่อหาสาเหตุต่อไป

กินเวลาประมาณ 2 เดือน กทม.ออกมาสรุปสาเหตุ “ถังดับเพลิงระเบิด” เกิดจากแรงกระแทก หมายถึงถังดับเพลิงตกกระแทกพื้น จึงทำให้เกิดระเบิด

 

ข่าวจาก : คมชัดลึก

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: