‘สาธิต’ ยอมรับ ปชป.แพ้ยับ ย้ำจุดยืนพรรคปิดสวิตช์ ส.ว. ชงโหวต ‘พิธา’ นายกฯ





16 พฤษภาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะรักษาการรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ให้สัมภาษณ์ถึงการเลือกตั้งที่พรรค ปชป.ได้คะแนนน้อยกว่าที่คิด ว่าต้องยอมรับเสียงประชาชนที่กำหนดทิศทางประเทศ ในส่วนพรรค ปชป.คงต้องไปนั่งคุยกันว่าจะเดินหน้าให้พรรคเป็นที่เชื่อใจของประชาชนได้อย่างไรต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า หมายความว่าพรรค ปชป.ต้องไปเป็นฝ่ายค้านใช่หรือไม่ นายสาธิตกล่าวว่า ทั้งหมดต้องมีการกำหนดยุทธศาสตร์ให้ชัดเจนว่าจะกำหนดทิศทาง เป้าหมาย รวมทั้งจุดยืนทางการเมืองอย่างไร เพราะต้องมีการถอดบทเรียนว่าจากการเลือกตั้งครั้งนี้ประชาชนมีหลายกลุ่ม ซึ่งมีทั้งกลุ่มสวิงโหวต กลุ่มที่ไม่ได้ติดตามข่าวสาร ซึ่งเป็นกลุ่มที่เราต้องสื่อสารให้เข้าถึงเขา ทั้งหมดเป็นมิติการกำหนดยุทธศาสตร์ที่จะเดินต่อไปทางการเมืองหลังจากนี้

ผู้สื่อข่าวถามว่า ผลการเลือกตั้งของพรรค ปชป.ที่ออกมาเช่นนี้ เป็นเพราะปัญหาการจัดการภายใน หรือเพราะกระแสภายนอก นายสาธิตกล่าวว่า ทั้งหมดมาจากทุกปัจจัย รวมถึงประชาชนรู้สึกว่าถูกกดมานานจนทำให้อยากเปลี่ยนแปลง และถ้าย้อนกลับไปได้ก็ไม่ควรให้ประชาชนรู้สึกแบบนั้น อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้มีความยากในการเข้าถึงกลุ่มคนที่เลือกรับข้อมูลเพียงด้านใดด้านหนึ่ง เราจึงต้องนำเรื่องนี้มาคิดและปรับแนวทางการทำงานว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนหันมาดูข้อมูลของเรา เพราะไม่ได้หมายความว่าข้อมูลที่ถูกต้องจะถูกส่งไปถึงคนที่เราต้องการสื่อสาร จึงต้องทำให้ประชาชนหันมาสนใจเสียก่อน แล้วเราค่อยนำข้อมูลที่ถูกต้องสื่อสารออกไป เพราะข้อมูลที่อยู่ในสื่อต่างๆ มีความหลากหลาย จะทำอย่างไรให้เขามาสนใจข้อมูลจากเรา เป็นโจทย์สำคัญในการทำพรรคการเมืองใหม่

“เวลาแพ้สงครามก็ต้องไปรวบรวมไพร่พลที่ยังไม่ได้ หรือได้รับบาดเจ็บเอาไปรักษา และต้องรวบรวมยุทโธปกรณ์ที่มีอยู่ให้ได้มากที่สุด แล้วมาตั้งหลัก จากนั้นก็ค่อยๆ ฟื้นขึ้นมา การทำการเมืองนั้นมีทั้งคนอยู่ข้างหน้าและข้างหลัง คนที่อยู่ข้างหลังทำหน้าที่เป็นคลังสมองที่อาจไม่ต้องมีบทบาท แต่ทั้งหมดร่วมกันทำในเป้าหมายเดียวกันคือการสร้างผลประโยชน์สูงสุดให้ประชาชน ที่จริงเราอาจทำตรงนี้อยู่แล้ว แต่ประชาชนไม่เห็นหลังจากนี้ต้องทำให้เขาเห็นว่าเราเป็นสถาบันการเมืองแล้วทำประโยชน์ให้ประชาชน” นายสาธิตกล่าว

เมื่อถามว่า คนที่จะเข้ามากอบกู้พรรค ปชป.ด้วยการขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคจะต้องเป็น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค ปชป.หรือไม่ นายสาธิตกล่าวว่า นายอภิสิทธิ์มีความเหมาะสมที่จะเข้ามากอบกู้ แต่ก็ต้องมีการพูดคุยกันภายในพรรค และตนคิดว่าถึงเวลาแล้วที่คนซึ่งเคยอยู่พรรค ปชป.แล้วย้ายออกไปอยู่พรรคอื่นๆ ควรกลับมาร่วมกันทำให้พรรค ปชป.กลับมาเป็นสถาบันทางการเมืองที่ทันสมัย และยึดหลักการอุดมการณ์

เมื่อถามว่า หัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคต้องเป็นคนรุ่นใหม่ทั้งหมดหรือไม่ นายสาธิตกล่าวว่า หลักการของประเทศไม่ใช่แค่ต้องมีคนรุ่นใหม่อย่างเดียว คนทุกรุ่นมีความสำคัญเหมือนกันหมด เพียงแต่เราจะสื่อสารอย่างไรให้คนที่เป็นคนรุ่นเก่ามาอยู่เบื้องหลังเป็นคลังสมอง มีประสบการณ์

นายสาธิตกล่าวว่า ส่วนคนรุ่นกลาง คนรุ่นใหม่ที่มีความคิดแหลมคมก็ออกมามีบทบาท แต่ถ้าปล่อยให้คนส่วนนี้ทำอย่างเดียวก็อาจเกิดข้อผิดพลาด ดังนั้น การทำงานต้องผสานคนทุกรุ่นแล้วนำคนเหล่านี้ไปสื่อสารในรูปแบบใหม่ที่มีความชัดเจน แต่การสื่อสารกับประชาชนต้องเข้ากับบริบทนั้นด้วย ดังนั้น พรรคการเมืองต้องมีความเปลี่ยนแปลงความยืดหยุ่น

เมื่อถามว่า จะต้องจัดประชุมใหญ่สมัยวิสามัญเพื่อเลือกกรรมการบริหารพรรคเร็วแค่ไหน นายสาธิตกล่าวว่า ข้อบังคับพรรคกำหนดไว้ภายใน 60 วัน แต่ส่วนตัวอยากให้จัดเร็วที่สุด ซึ่งต้องคุยกันในพรรคอีกครั้ง

เมื่อถามว่า จะเชิญนายอภิสิทธิ์มาชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคหรือไม่ นายสาธิตกล่าวว่า ต้องพูดคุยกับ ส.ส.และคนอื่นๆ ที่อยู่ในพรรคให้มีความชัดเจน ส่วนตัวคิดว่านายอภิสิทธิ์มีความเหมาะสม และตอนนี้ในพรรคไม่มีอำนาจเก่า มีแต่อำนาจเริ่มต้นนับหนึ่งที่ทำให้พรรคไปสู่การได้รับการยอมรับจากประชาชน

เมื่อถามว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ อดีตหัวหน้าพรรค จะต้องลาออกจากการเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อหรือไม่ เพราะการเป็น ส.ส.มากับการเป็นหัวหน้าพรรค นายสาธิตกล่าวว่า มันเป็นเรื่องส่วนตัวของเขา ตอบแทนไม่ได้

เมื่อถามว่าขณะนี้มีกระแสเรียกร้องให้พรรคประชาธิปัตย์เลือก นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกฯ เพื่อเป็นการปิดสวิตช์ ส.ว.ในการเลือกนายกฯ นายสาธิตกล่าวว่า เรื่องนี้เป็นแนวทางเชิงอุดมการณ์อย่างหนึ่งของการปิดสวิตช์ ส.ว. ซึ่งเป็นเรื่องหนึ่งที่พรรคประชาธิปัตย์พูดมาตลอด แต่ส่วนตัวตนเป็น ส.ส.สอบตอบ น้ำหนักในการพูดก็น้อยลง แต่ด้วยอุดมการณ์ส่วนตัวคิดว่าพรรคประชาธิปัตย์น่าจะเดินไปในแนวทางที่ทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่น และเรื่องดังกล่าวคงมีการนำไปพูดคุยกันในพรรค

 

ข่าวจาก : มติชน

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: