“ซัยโจ เด็นกิ” แจงติดแอร์กรมสรรพากรตามTOR ช่วยรัฐประหยัด130ล้าน





7 เมษายน นายสมศักดิ์ จิตติพลังศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซัยโจ เด็นกิ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทได้งานติดตั้งระบบปรับอากาศภายในอาคารกรมสรรพากร จำนวน 2,000 ตัว วงเงินกว่า 191 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลางที่กรมกำหนดไว้ 321 กว่าล้านบาท อยู่ที่ 130 ล้านบาท

ซึ่งโครงการนี้แบ่งการทำงานเป็น 2 สัญญา ซึ่งบริษัทได้งานติดตั้งระบบปรับอากาศ ส่วนการบำรุงรักษาระบบเป็นอีกบริษัท ซึ่งเป็นบริษัทที่ดูแลระบบอาคารทั้งหมด ครอบคลุมทั้งระบบไฟฟ้า ประปา ลิฟท์ ดับเพลิง กำจัดน้ำเสีย ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง จึงทำให้เกิดปัญหาภายหลัง

“ตอนเราเสนอราคาได้ต่ำ เพราะไม่ได้มองแค่กำไรขาดทุน เรามองงานนี้เป็นงานยาก ต้องใช้ระบบเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เพราะอาคารของกรมสรรพากรมีข้อจำกัดมาก ไม่มีที่วางเครื่องระบายความร้อน ต้องวางในห้องระบายความร้อนที่อยู่ภายในอาคาร ทำให้การระบายความร้อนทำได้ยาก “

“ซึ่งกรมทราบถึงปัญหาตั้งแต่ต้น จึงกำหนดอุณหภูมิรอบเครื่องระบายความร้อนในทีโออาร์ไว้ที่ 43 องศาเซลเซียส ขณะที่อุณหภูมิรอบเครื่องระบายความร้อนโดยทั่วไปจะมีอุณหภูมิเพียง 35 องศาเซลเซียส เราก็มั่นใจว่าระบบที่เราเสนอจะเป็นโชว์เคสที่สามารถจัดการตึกนี้ และมั่นใจว่าระบบซ่อมบำรุงของรัฐไม่น่าจะมีปัญหา หากโครงการมีนอกมีใน เราคงไม่ช่วยรัฐประหยัด 130 ล้านบาท”นายสมศักดิ์กล่าว

นายสมศักดิ์กล่าวว่า บริษัทยืนยันว่าการติดตั้งถูกต้องตามที่กำหนดไว้ในทีโออาร์และมีการตรวจรับงานครบถ้วนสมบูรณ์ตั้งแต่ปี2562 แล้ว ปัญหาที่เกิดมาภายหลัง ซึ่งบริษัทเข้าไปตรวจสอบแล้ว พบว่ามีการดัดแปลงอุปกรณ์สำคัญของระบบปรับอากาศที่ใช้ในการระบายความร้อน มีการเปิดปิดโดยใช้เบรกเกอร์ ไม่ได้ใช้รีโมท การบำรุงรักษาที่ผิดวิธี หรือขาดการบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งได้ขอให้กรมสรรพากรแก้ปัญหาดังกล่าวที่ต้นเหตุ โดยบริษัทยินดีให้การสนับสนุนและแนะนำเพื่อการแก้ปัญหาโดยรวดเร็วต่อไป

นายสมศักดิ์กล่าวว่า ที่ผ่านมาบริษัทได้เข้าดำเนินการปรับปรุงระบบปรับอากาศตามสัญญา โดยติดตั้งตามข้อกำหนดในทีโออาร์ แต่ระหว่างทดสอบระบบการใช้งาน รองศาสตราจารย์ สุรชัย บวรเศรษฐนันท์ วิศวกรผู้ควบคุมงาน พบว่า อุณหภูมิรอบเครื่องระบายความร้อนในห้องดังกล่าวสูงถึง 56 องศาเซลเซียส ขณะที่ TOR กำหนดไว้ที่ 43 องศาเซลเซียส ส่งผลให้คอมเพรสเซอร์และอุปกรณ์ต่างๆเสียหายเป็นจำนวนมาก สาเหตุหลักเกิดจากพื้นที่ในการตั้งเครื่องระบายความร้อนตามข้อจำกัดของอาคาร

นายสมศักดิ์กล่าวว่า บริษัทจึงแก้ไขตามคำแนะนำของวิศวกรผู้ควบคุมงาน เพิ่มระบบอุปกรณ์เกินกว่าที่กำหนดในทีโออาร์ รวมเป็นเงินกว่า 20 ล้านบาท โดยเฉพาะระบบมอเตอร์พัดลมขนาดใหญ่ เพื่อผลักอากาศร้อนออกจากอาคารทุกชั้น และระบบลดความร้อนด้วยน้ำ

ระบบจึงจะสามารถทำความเย็นได้สำเร็จ รวมถึงสามารถผ่านการทดสอบในภาวะวิกฤต คือทำอุณหภูมิภายในห้องได้ต่ำถึง 15 องศาเซลเซียส ขณะที่ตั้งอุณหภูมิภายนอกสูงถึง 60 องศาเซลเซียส ติดต่อกันนานถึง 2 เดือน จนกระทั่งข้าราชการที่ปฏิบัติงานในอาคารกรมสรรพากรมีหนังสือร้องขอให้บริษัทพิจารณาปรับอุณหภูมิภายในห้องในสูงขึ้น และบริษัทได้ส่งมอบงานแล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อย ในวันที่ 31 พฤษภาคม 2562

“ระบบปรับอากาศดังกล่าวเป็นระบบมีความละเอียดอ่อนทางเทคโนโลยี เพราะเป็นระบบที่ถูกออกแบบเป็นพิเศษเพื่อแก้ปัญหาของอาคารกรมสรรพากร รวมถึงเป็นระบบปรับอากาศอัจฉริยะ โดยบริษัทสามารถพัฒนาระบบซอฟท์แวร์ให้ทำงานเชื่อมระบบปรับอากาศทั้งระบบ เพื่อแก้ปัญหาความร้อนในอาคารนี้ได้สำเร็จ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องใช้วิศวกรที่มีความรู้ความเข้าใจในระบบดังกล่าวเป็นผู้ดูแลบำรุงรักษาเฉพาะทาง ไม่ใช่วิศวกรทั่วไป ซึ่งทางแก้ปัญหาจริงๆต้องมีการซ่อมบำรุงจากผู้เชี่ยวชาญระบบอย่างแท้จริง แต่หากปัญหาเกิดจากผู้ผลิตเราจะรับผิดชอบ 5 ปี ตามสัญญาในข้อ6” นายสมศักดิ์กล่าว

นายสมศักดิ์กล่าวว่า หลังจากที่บริษัทได้ส่งมอบงานราชการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อระบบมีปัญหา ซึ่งบริษัทไม่ได้เป็นผู้รับผิดชอบในการบำรุงรักษาระบบปรับอากาศ แต่ที่ผ่านมาบริษัทยังคงให้การช่วยเหลือซ่อมแซมระบบให้อาคารดังกล่าวหลายครั้ง ซึ่งครั้งล่าสุดในเดือนมิถุนายน 2565 ได้เสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมระบบเกือบทั้งอาคารร่วม 10 ล้านบาท รวมถึงการติดตั้งระบบไฮบริดและปั๊มน้ำที่สูญหายหรือถูกดัดแปลงเป็นส่วนใหญ่

“สาเหตุสำคัญคาดว่าน่าจะเกิดจากความไม่รู้ ความไม่เชี่ยวชาญระบบปรับอากาศที่มีซับซ้อนดังกล่าว ส่งผลให้เกิดปัญหาต่อเนื่องถึงปัจจุบัน เพราะทีโออาร์บริหารงานอาคารและดูแลบำรุงรักษาระบบต่างๆภายในอาคาร เป็นการรวมทุกระบบอยู่ในสัญญาเดียว

โดยมีระบบปรับอากาศอยู่ในนั้น ยากที่บริษัทเดียวจะเป็นผู้เชี่ยวชาญในทุกระบบของอาคารดังกล่าวได้ เพื่อแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ กรมควรแยกงานระบบของอาคารออกจากกัน เพื่อให้ได้ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านมาช่วยดูแลงานบำรุงรักษาอาคาร”นายสมศักดิ์กล่าวทิ้งท้าย

ข่าวจาก : มติชน

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: