เตือนเจ้าของร้านอาหาร! กลโกงใหม่ โทรสั่งอาหาร จู่ๆบอกออเดอร์ไม่ครบ ให้สแกนQRร้านอื่น





13 มีนาคม ที่ร้านอาหาร ครัวสาริกา หมู่ 1 ตำบลสาริกา อำเภอเมืองนครนายก ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่เข้าพูดคุยกับนายประสาน คำมินเสส อายุ 54 ปี เจ้าของร้านครัวสาริกา หลังถูกลูกค้าอ้างมาจากกรมอุตุฯ โทรมาสั่งให้ทำข้าวกล่องจำนวน 100 กล่อง เมื่อวันที่พฤหัสที่ 9 มีนาคม และกำหนดรับอาหารตอน 18.00 น. วันที่ 10 มีนาคม 2566 โดยลูกค้าเสนอจ่ายค่ามัดจำค่าอาหาร 2,000 บาท แต่แล้ววันนัดรับอาหารลูกค้าอ้างลืมสั่งอาหารให้ภาคสนามจำนวน 7 กล่อง

หลังจากเข้าประชุมถูกเจ้านายว่า พร้อมโทรมาขอให้ทางร้านสแกน QR ของร้านอาหารอีกร้านหนึ่ง ก่อนที่จะให้ร้านอาหารร้านนั้นเอาอาหาร 7 ชุดมาส่งที่ครัวสาริกา พร้อมให้ทางร้านทำบิลอาหารบวกเพิ่มไปในบิลของร้าน แต่เมื่อทางร้านสแกน QR ที่ลูกค้าส่งมาให้ ทำให้โทรศัพท์เกิดปัญหาเหมือนติดไวรัส เครื่องรวนทำอะไรไม่ได้ จึงตัดสินใจปิดเครื่องและเปิดใหม่ ก่อนจะรีบโอนย้ายเงินในบัญชีกสิกร จำนวน 6 หมื่นบาทไปไว้ที่บัญชีอื่น

ขณะที่จะเข้าไปอีกบัญชีธนาคารกรุงไทย กลับเข้าไม่ได้ โดยบัญชีนั้นมีเงินอยู่ 5 พันบาท จึงไว้วัดดวงวันจันทร์อีกที แต่เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าเงินยังอยู่ในบัญชีตามเดิม แต่ถึงอย่างนั้นลูกค้าก็ยังยืนยันให้ทางร้านสแกน QR อีกครั้งแม้จะทราบว่าเมื่อทางร้านสแกนแล้วทำให้เครื่องเกิดปัญหา จนกระทั่งลูกค้าอ้างเจ้านายไม่ขอรับอาหารทั้ง 100 กล่องที่สั่งไป ซึ่งทางร้านทำเสร็จแล้ว ทำให้ร้านได้รับความเสียหาย

นายประสาน คำมินเสส อายุ 54 ปี เจ้าของร้าน เล่าว่า เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อวันพฤหัสที่ 9 มีนาคมที่ผ่านมา มีลูกค้าคนหนึ่งโทรมาที่ร้าน ให้ทางร้านทำอาหารกล่องจำนวน 100 กล่อง โดยอ้างว่ามาจากหน่วยงานกรมอุตุฯ จากนั้นทางร้านแจ้งให้ลูกค้าแอดไลน์ร้านเพื่อสะดวกในการส่งเมนูอาหาร รูปภาพอาหาร รวมทำสรุปราคาส่งให้กับลูกค้าได้ หลังจากนั้นลูกค้าแอดไลน์ร้าน ทางร้านจึงทำราคาอาหารส่งให้กับลูกค้า โดยมีเมนูข้าวผัดหมู ข้าวผัดทะเล รวมยอดค่าอาหาร 8,600 บาท จากนั้นลูกค้าเสนอจ่ายค่ามัดจำอาหารในราคา 2,000 บาท

จากนั้นทางร้านได้ส่งเลขบัญชี ก่อนที่ลูกค้าจะส่งสลิปแจ้งยอดโอนเงินมัดจำนวน 2,000 บาท มาให้กับทางร้านในตอนเย็นวันที่ 9 มีนาคม ตอนเวลาเกือบ 5 โมงเย็น โดยลูกค้ายืนยันว่าจะเข้ามารับอาหารในวันที่ 10 มีนาคม ตอนเวลาประมาณ 6 โมงเย็น

ขณะที่ทางร้านแจ้งกับลูกค้าว่าจะให้ทางร้านออกใบเสร็จใบกำกับภาษีให้หรือไม่ เนื่องจากปกติแล้วหากหน่วยงานสั่งอาหารจะต้องขอใบเสร็จใบกำกับภาษีเพื่อนำไปทำเรื่องเบิกกับหน่วยงาน แต่ลูกค้าปฏิเสธ ขอแค่เพียงบิลเงินสดธรรมดาเพื่อไปยืนยันกับหัวหน้าเท่านั้น ทำให้ตนเกิดเอะใจเนื่องจากถ้าเป็นหน่วยงานภาครัฐหรือเอกชน จะต้องขอใบกำกับภาษี

จนกระทั่งเช้าวันที่ 10 มีนาคม เวลาประมาณ 10 โมงเช้า ลูกค้าโทรแจ้งว่าอาจจะมารับอาหารช้ากว่าเวลาที่แจ้งไว้ตอน 18.00 น. เนื่องจากติดประชุม จนเวลาผ่านไปถึง 18.00 น. เวลานัดรับของ ลูกค้าโทรกลับมาอีกครั้งผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ครั้งนี้เป็นเสียงผู้ชายอ้างว่าพึ่งออกจากห้องประชุม โดนเจ้านายบ่น เนื่องจากสั่งอาหารแล้วลืมสั่งอาหารให้กับเจ้าหน้าที่ภาคสนามจำนวน 7 ชุด หากไม่ได้ชุดนี้เขาต้องแย่แน่ จึงขอให้ทางร้านช่วย ซึ่งทางร้านไม่รู้จะช่วยยังไงเกี่ยวกับอาหารภาคสนามที่ทางลูกค้าบอก อีกทั้งไม่รู้ว่าคืออะไรบ้าง ทางร้านจึงแจ้งว่าทำไม่ได้ แต่ทางลูกค้าได้ส่ง QR Code มาให้ทางร้าน และให้ทางร้านสแกนแล้วสั่ง จากนั้นจะมีคนมาส่งอาหารให้กับทางร้าน โดยให้ทางร้านทำบิลใบเสร็จอาหารทั้ง 7 ชุดของภาคสนามรวมมากับบิลเดิมด้วย

หลังจากนั้นได้ลองสแกน QR ที่ลูกค้าส่งมา ปรากฏว่าเครื่องที่สแกน QR (iPhone) เกิดรวน เหมือนโดนไวรัส จึงตัดสินใจปิดเครื่องทันที จากนั้นเปิดเครื่องอีกครั้ง และตรวจสอบบัญชีธนาคารกสิกรไทยที่มีเงินค้างในบัญชี 6 หมื่นบาท โดยได้โอนเงินจากบัญชีดังกล่าวไปอีกบัญชีหนึ่ง แต่ส่วนบัญชีของ ธ.กรุงไทยไม่สามารถเข้าในแอพพ์ธนาคารได้ แต่ตนก็รู้สึกใจชื้นที่สามารถเอาเงินออกจากบัญชีกสิกรได้แล้วอย่างน้อย 6 หมื่นบาท ส่วนเงินอีก 5 พันในบัญชีกรุงไทย ไว้วัดดวงในวันจันทร์ (วันที่ 13 มี.ค.) แต่เมื่อตรวจสอบแล้วก็พบว่าเงินในบัญชีไม่หาย

ซึ่งในช่วงเหตุการณ์เย็นวันที่ 10 มีนาคม หลังจากที่เครื่องที่สแกน QR ที่ลูกค้าส่งมาทำให้เครื่องรวน ทางลูกค้าก็ยังส่ง QR มาให้ทางร้านสแกนให้ได้ ทางร้านก็ปฏิเสธที่จะสแกนให้อีกเป็นครั้งที่ 2 โดยทางร้านแจ้งว่าให้ลูกค้ามารับอาหารที่ร้านเอง แต่แล้วลูกค้าก็ยกเลิกอาหารที่สั่งไว้ทั้งหมด 100 กล่อง ที่ยังค้างค่าอาหารเป็นจำนวนเงิน 6,600 บาท โดยอ้างว่าเจ้านายไม่เอาของที่สั่งเอาไว้ เนื่องจากทางร้านไม่สแกน QR ร้านอาหารอีกร้านที่ทางลูกค้าส่งมาให้

 

ข่าวจาก : มติชน

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: