สภาพัฒน์เผยคนไทยเบี้ยวหนี้ 1ล้านล้าน หนี้ครัวเรือนพุ่ง14.90ล้านล้าน





2 มี.ค. 2566 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยถึงภาวะสังคมไทยไตรมาส 4/2565 และปี 2565 ว่า หนี้สินภาคครัวเรือนมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยหนี้ครัวเรือนไตรมาส 3/2565 อยู่ที่ 14.90 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.9% จากไตรมาสก่อนที่ 3.5% เป็นการปรับเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและตลาดแรงงานที่ปรับตัวดีขึ้น

ขณะที่สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) อยู่ที่ 86.8% ดังนั้น จึงต้องพยายามต้องสนับสนุนการส่งออกให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น เพื่อจะได้รักษาระดับการจ้างงาน และรายได้ต่อไปรวมทั้งระมัดระวังค่าใช้จ่ายจากค่าครองชีพ ปรับตัวสูงขึ้นจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น

ทั้งนี้ หนี้ครัวเรือนขยายตัวในทุกประเภทสินเชื่อ โดยสินเชื่อที่มีการขยายตัวในอัตราสูง ได้แก่ สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่ขยายตัวถึง 11.8% และ 21.4% โดยสินเชื่อบัตรเครดิตที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และพฤติกรรมการใช้จ่ายของประชาชนที่ลดการใช้เงินสดมากขึ้น

ขณะที่การขยายตัวของสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ ซึ่งเป็นสินเชื่อที่เข้าถึงได้ง่าย มีเงื่อนไขการสมัครไม่มากและไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน สะท้อนให้เห็นว่าครัวเรือนโดยเฉพาะกลุ่มรายได้น้อยยังมีปัญหาสภาพคล่องจึงมีการใช้บริการสินเชื่อประเภทนี้เพิ่มขึ้น

นายดนุชา กล่าวต่อว่า ไตรมาส 3/2565 มียอดคงค้างหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) รวม 1.09 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้อยู่ระหว่างปรับโครงสร้าง 7.8 แสนล้านบาท เมื่อพิจารณาพบว่าสินเชื่อกลุ่มบัตรเครดิต ในส่วนของลูกหนี้ที่อายุต่ำกว่า 30 ปี เป็นลูกหนี้ที่มีสัดส่วนหนี้เสียเพิ่มขึ้น โดยขยายตัว 2.5% เพิ่มขึ้นเป็นไตรมาสที่ 3 ติดต่อกัน

ขณะที่สินเชื่อส่วนบุคคล ลูกหนี้ตั้งแต่อายุ 60 ปีขึ้นไปมีสัดส่วนหนี้เสียค่อนข้างสูง มีหนี้เสียต่อบัญชีสูงถึง 77,942 บาท และต้องเฝ้าระวังสินเชื่อยานยนต์ เนื่องจากมีแนวโน้มสินเชื่อกล่าวถึงพิเศษ (SM) ต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มอายุ 30-49 ปี มีปัญหาในการชำระหนี้สูงสุด มีสัดส่วนหนี้เสียคิดเป็น 59.2% เมื่อเทียบกับกลุ่มอายุอื่นๆ

สำหรับกลุ่มลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียซึ่งได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ยังมีอีกเป็นจำนวนมากแม้สถานการณ์โควิดจะคลี่คลายแล้ว โดยไตรมาส 3/2565 มีหนี้เสียรวม 4 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 2.2 แสนล้านบาทในช่วงไตรมาส 1/2565 จำนวนบัญชีเพิ่มขึ้นเป็น 4.7 ล้านบัญชี จาก 2.7 ล้านบัญชีในช่วงเดียวกัน และกว่า 60% มาจากสินเชื่อส่วนบุคคล

โดยประเด็นที่ต้องติดตาม คือ ต้องเร่งดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ที่เริ่มมีสัญญาณผิดนัดชำระ และต้องมีมาตรการเจาะจงในการดูแลลูกหนี้กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เช่น การกำหนดสัดส่วนชำระหนี้ให้สอดคล้องกับรายได้ เพื่อลดจำนวนหนี้เสียและรักษาลูกหนี้ให้อยู่ในระบบสถาบันการเงิน

นายดนุชา กล่าวอีกว่า ไตรมาส 4/2565 การจ้างงานปรับตัวดีขึ้น โดยผู้มีงานทำมีจำนวนทั้งสิ้น 39.6 ล้านคน ขยายตัว 1.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการขยายตัวของการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมที่ 3.9% โดยเฉพาะการจ้างงานในสาขาโรงแรมและภัตตาคาร และสาขาการค้าส่งและค้าปลีกที่ขยายตัว 6.6% และ 2.0% ตามลำดับ ซึ่งเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวโดยไตรมาส 4/2565 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยมากถึง 5.5 ล้านคน เพิ่มขึ้น 16 เท่าจากช่วงเดียวกันของปี 2564

ส่วนอัตราการว่างงานปรับตัวใกล้เคียงกับช่วงก่อน โควิด-19 โดยอัตราการว่างงานไตรมาส 4/2565 อยู่ที่ 1.15% ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 5 ติดต่อกัน หรือคิดเป็นผู้ว่างงานจำนวน 4.6 แสนคน ลดลงทั้งจำนวนผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนและไม่เคยทำงานมาก่อน

 

ข่าวจาก : ข่าวสด

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: