รองปธ.สภาองค์การนายจ้าง เห็นด้วยปรับเงินสมทบประกันสังคมเพิ่มเป็น1,150บาท





กรณี สำนักงานประกันสังคม (สปส.) เชิญชวนนายจ้าง และผู้ประกันตน มาตรา 33 ร่วมแสดงความคิดเห็น “ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำและขั้นสูงสุด ที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. …” ในวันที่ 28 ก.พ.66 เพื่อปรับปรุงเพดานค่าจ้างขั้นสูง ที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบของผู้ประกันตนมาตรา 33 ให้ได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้น และมีความเหมาะสม

โดยประเด็นสำคัญ ของร่างกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว จะกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำและขั้นสูงที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณ เงินสมทบกองทุนประกันสังคม โดยจะปรับฐานสูงสุดอยู่ที่ 15,000 บาท อย่างค่อยเป็นค่อยไป สูงสุดไม่เกิน 23,000 บาท กำหนดอัตราใหม่ ตามกรอบเวลาแบบขั้นบันได 3 ระยะ ประกอบด้วย

ระยะที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2569 จำนวนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1,650 บาท และไม่เกิน 17,500 บาท จะจ่ายประกันสังคมสูงสุดที่ 875 บาท

ระยะที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2570 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2572 จำนวนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1,650 บาท และไม่เกิน 20,000 บาท จะจ่ายเงินประกันสังคมสูงสุดที่ 1,000 บาท

ระยะที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2573 เป็นต้นไป จำนวนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1,650 บาท และไม่เกิน 23,000 บาท จะจ่ายเงินประกันสังคมสูงสุดที่ 1,150 บาท

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) เปิดเผยว่า ส่วนตัวเห็นด้วยกับการปรับเพดานเงินสมทบประกันสังคมใหม่ โดยจะหารือในฐานะประธานสภาแรงงานแห่งชาติ ร่วมกับสำนักงานประกันสังคม ที่กระทรวงแรงงาน ในวันที่ 15 ก.พ.นี้

โดยจะสอบถามรายละเอียดการคิก ออฟในหลายโครงการ ซึ่งการปรับเพดานเงินสมทบประกันสังคมใหม่ เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องให้แก่กองทุนนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่ง หลังจากได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา

“สำหรับลูกจ้างในอีก 2-3 ปีข้างหน้าอาจปรับขึ้นเงินเดือน 200-300 บาท การจ่ายประกันสังคมเพิ่มเพียง 10 บาท/วัน เพื่อแลกมากับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นถือว่าคุ้มค่า ส่วนนายจ้าง อย่างเอสเอ็มอีที่มีแรงงานไม่เกิน 500 คน ก็จ่ายเงินสมทบคิดเป็น 5,000 บาทต่อวัน ถือว่าโอเค และไม่เป็นการเพิ่มภาระมากเกินไป

แต่ประกันสังคมเองต้องตอบให้ได้ว่า เมื่อรับเงินไปแล้วจะนำไปเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ประกันตนอย่างไร ด้านใดบ้าง โดยอาจจะต่อยอดจากสิทธิประโยชน์เดิม หรือเพิ่มเติมสิ่งใหม่ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกันตนในปัจจุบันมากขึ้น เช่น การเพิ่มวงเงินการตรวจสุขภาพประจำปี เป็นต้น” นายธนิต กล่าว

นายธนิต กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ กรณีลูกจ้างลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างงาน ยังทราบว่าสำนักงานประกันสังคมจะจัดเก็บเงินชดเชยวงเงินของลูกจ้าง แต่ละคนให้ได้ 25% แล้วให้นายจ้างจ่ายสมบท เพื่อป้องกันบทเรียนครั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่หลายบริษัทเจ๊ง ปิดตัวลง นายจ้างหนีและไม่จ่ายเงินสบทบให้ลูกจ้าง จนสำนักงานประกันสังคมต้องเป็นผู้รับผิดชอบ

“เรื่องนี้หากทำได้จริง ควรเก็บในอัตราที่เป็นค่อยเป็นค่อยไป เพราะจ่ายก้อนเดียวจะเป็นภาระที่หนักมาก จึงยังไม่เห็นด้วย แต่จะขอหารือกับประกันสังคมเพื่อทราบในรายละเอียดก่อน จึงเสนอข้อคิดเห็น” นายธนิต กล่าว

 

ข่าวจาก : ข่าวสด

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: