27ม.ค.นี้ กทม.เตือนเตรียมรับมือ PM2.5 พุ่งสูง อาจยาวถึง ก.พ.





25 ม.ค. 2566 ที่สำนักสิ่งแวดล้อม อาคารสำนักการโยธา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง นายพรพรหม ​วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม.​ พร้อมด้วย​นายเอกชัย เพียรศรีวัชรา​ รองอธิบดีกรมอนามัย​ นายพันศักดิ์ ถิรมงคล ผู้อำนวยการกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ​ นายศักดา ตรีเดช ผู้อำนวยการส่วนนวัตกรรมคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ และน.ส.วรนุช สวยค้าข้าว​ รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม.​​ ร่วมแถลงมาตรการรับมือฝุ่น PM2.5 สูง ใน กทม. ช่วงวันที่ 26-27 ม.ค. 66​

นายพรพรหม​ กล่าวว่า​ กทม. ร่วมกับกรมอนามัย และกรมควบคุมมลพิษ​ เพื่อแก้ไขสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่ กทม.​ โดยแบ่งแผนออกเป็น 3 ส่วน คือ การติดตามและแจ้งเตือนโดยการตั้ง​ War Room แก้ปัญหา PM 2.5 การเปิดทราฟฟี่ฟองดูว์ เพื่อรับแจ้งปัญหาจากประชาชน​ และการพยากรณ์สถานการณ์ฝุ่นล่วงหน้าเพื่อแจ้งเตือนประชาชนโดยร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

​ การแนะนำการป้องกันสุขภาพให้ประชาชน รวมถึงการแก้ปัญหาจากต้นตอของฝุ่นละออง PM2.5 เช่นควันดำจากรถยนต์ การเผาชีวมวลจากการเกษตร และโรงงานอุตสาหกรรมอีกด้วย​ ซึ่งหน่วยงานภาครัฐได้ร่วมมือกันอย่างเข้มข้นเพื่อแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ในกรุงเทพฯ ร่วมกัน​

ด้านนายพันศักดิ์ กล่าวว่า การเกิดฝุ่น PM 2.5 เป็นวัฏจักรที่มักเกิดขึ้นในฤดูหนาว สำหรับในปีนี้กรมควบคุมมลพิษได้ติดตามแต่คาดการณ์ล่วงหน้า 7 วัน พบว่าช่วงที่มีปัญหาเริ่มตั้งแต่วันที่ 22 ม.ค. ส่วนวันที่ 24 ม.ค. เกิดพื้นที่สีส้มทั่วกรุงเทพฯ ขณะที่วันนี้พบคุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์ดีมาก เป็นพื้นที่สีฟ้า แต่ค่า PM2.5 จะเกินมาตรฐานอีกครั้งในวันที่ 27 ม.ค. และจะเกิดพื้นที่สีส้มทั่วกรุงเทพฯ ในวันที่ 1 ก.พ.

นายพันศักดิ์ กล่าวต่อว่า ปัญหานี้จะอยู่กับเราไปจนถึงเดือน เม.ย. โดยกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าปีนี้มีความแห้งแล้งมากกว่าปีที่ผ่านมา จึงเป็นปัจจัยส่งเสริมทำให้ PM2.5 อาจจะรุนแรงขึ้น ซึ่งจากสถิติที่ผ่านพบว่าเดือนที่มักจะมีความรุนแรงของ PM 2.5 มากที่สุดคือเดือน ก.พ.

ส่วนนายศักดา กล่าวถึง 2 ปัจจัยหลักของการเกิดฝุ่น ว่า ปัจจัยแรก​ได้แก่ เพดานลอยตัวของอากาศ โดยข้อมูลจากอุตุนิยมวิทยาพบว่าเพดานอากาศต่ำกว่า 500 เมตร ทำให้เกิดสถานการณ์ PM 2.5 เนื่องจากเพดานอากาศจะสูงขึ้นในหน้าร้อนและเพดานอากาศจะต่ำลงในหน้าหนาว และสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือในช่วงวันที่ 31 ม.ค. ถึง 1 ก.พ. สถานการณ์มีโอกาสรุนแรงเหมือนวันที่ 24 ม.ค.

นายศักดา กล่าวต่อว่า เราไม่สามารถควบคุมปัจจัยทางอุตุนิยมวิทยาได้ แต่สิ่งที่เราสามารถควบคุมได้คือปัจจัยที่สอง แหล่งกำเนิด เช่น การจราจร ซึ่งเป็นปัจจัยหลักในพื้นที่กรุงเทพฯ โรงงานอุตสาหกรรม ภาคครัวเรือน การเผาในที่โล่ง เราสามารถร่วมด้วยช่วยกันควบคุมได้

ขณะที่ น.ส.วรนุช กล่าวว่า หากค่าฝุ่นเพิ่มสูงขึ้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการตามแผนปฏิบัติการฯ 3 ส่วน ได้แก่ เฝ้าระวังและแจ้งเตือน กำจัดต้นตอ ป้องกันและดูแลสุขภาพ ซึ่งเรานำข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษและกรมอุตุนิยมวิทยา โดยนำค่าระดับฝุ่นประกอบกับค่าการพยากรณ์ของกรมควบคุม จะได้ข้อมูลสถานการณ์และนำมาใช้ในการวางแผนการทำงานต่อไป จะไปเป็นแผนการ 4 ระดับ

ระดับที่ 1 ไม่เกิน 37.5 มคก./ลบ.ม. จะใช้ 15 มาตรการ เช่น ตรวจไซต์ก่อสร้าง ตรวจโรงงาน ให้ฉีดพ่นน้ำเพื่อไม่ให้มีการฟุ้งกระจายของฝุ่น ระดับที่ 2 คือ 37.6-50 มคก./ลบ.ม. จะเพิ่มความเข้นข้นในการตรวจมากยิ่งขึ้น ระดับที่ 3 คือ 51-75 มคก./ลบ.ม. จะมีการแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประสานงานขอความร่วมมือทำงานแบบ Work From Home(WFH) รวมถึงลดงานที่เกิดฝุ่นละออง ระดับที่ 4 มากกว่า 75 มคก./ลบ.ม. จะขอความร่วมทำงานแบบ WFH เพราะช่วยลดมลพิษได้เป็นอย่างมาก

น.ส.วรนุช กล่าวต่อว่า หลังจาก กทม. ได้ตั้งวอร์รูมฝุ่น PM2.5 เพื่อแจ้งเตือนประชาชนในกรุงเทพฯให้รับมือกับสภาพอากาศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ตามที่ กทม. ได้แจ้งประชาชนไปว่า วันที่ 27 ม.ค.นี้ จะมีค่าฝุ่น เกินค่ามาตรฐานเป็นสีส้ม และวันที่ 1 ก.พ. ยอมรับว่า ปีนี้สภาพฝุ่น PM 2.5 หนักและรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา เป็นเพราะเพดานการลอยตัวของอากาศใน กทม. ต่ำลง จากอุณหภูมิที่ยังต่ำอยู่อาจส่งผลต่อเนื่องตั้งแต่เดือนก.พ.

น.ส.วรนุช กล่าวอีกว่า ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯและรอบนอกจะต้องเจอสภาพอากาศในลักษณะนี้อีก แต่ค่าฝุ่นปีนี้จะหนักเป็นช่วงระยะไม่ได้ติดต่อกันหลายวันเหมือนปีที่ผ่านมา ขณะที่ ปัจจัยหลักของฝุ่นยังมาจากควันดำของรถยนต์ การปล่อยควันเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม การก่อสร้างต่างๆ และร้านอาหารปิ้งย่าง ซึ่งตอนนี้ได้เฝ้าระวังและประมวลค่าฝุ่นเป็นรอบ 24 ชม. ส่วนแนวทางการเฝ้าระวังนั้น​ กทม.ได้วางแผนไว้ 3 แนวทาง คือ เฝ้าระวังแจ้งเตือน กำจัดต้นตอ และการป้องกัน รวมถึงดูแลสุขภาพ

น.ส.วรนุช กล่าวต่อว่า ปีนี้กทม.ทำงานเชิงรุกมากขึ้น มีการตรวจควันดำจากรถบรรทุกในพื้นที่ไซด์งานก่อสร้าง รวมถึง จะขอความร่วมมือประชาชนใช้บริการรถสาธารณะให้มากขึ้นโดยเฉพาะในวันที่ 27 ม.ค.และวันที่ 1 ก.พ.นี้ที่ค่าฝุ่นในกรุงเทพจะเป็นสีแดง

น.ส.วรนุช กล่าวอีกว่า ส่วนมาตรการที่จะให้ประชาชน WFH ในวันที่ค่าฝุ่นสูงนั้น กทม.ได้ทำหนังสือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงขอความสมัครใจจากภาคเอกชน ซึ่งขณะนี้ มี 11 บริษัทเอกที่สนใจและจะเข้าร่วม WFH กับ กทม. รวมถึงจะแจ้งเตือนขอให้ประชาชนงดออกกำลังกายกลางแจ้ง ส่วนโรงเรียนขอให้ปิดหน้าต่างและให้โรงเรียนงดทำกิจกรรมนักเรียนนอกอาคาร ขณะที่การสวมใส่หน้ากากอนามัย หากเป็นหน้ากากอนามัยปกติจะป้องกันฝุ่น PM 2.5 ได้น้อย แต่หากเป็นหน้ากาก N95 จะกรองและป้องกันฝุ่นได้มาก

น.ส.วรนุช กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ กทม.ยังได้ขยายคลินิกอนามัย เพื่อรองรับผู้ป่วยมีอาการป่วยด้วยระบบทางเดินหายใจ จากเดิม 3 แห่งเป็น 5 แห่ง คือ​ คลินิกมลพิษทางอากาศ โรงพยาบาลกลาง, คลินิกมลพิษทางอากาศโรงพยาบาลตากสิน, คลินิกมลพิษทางอากาศ โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์, คลินิกมลพิษทางอากาศ โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ และคลินิกมลพิษทางอากาศโรงพยาบาลสิรินธร ประชาชนสามารถเข้าใช้บริการได้ทันที

 

ข่าวจาก : ข่าวสด

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: