ส.ว. เสรี ยืนยันไม่ได้เสนอแก้ รธน. ให้นายกฯ อยู่เกิน 8 ปี แค่ศึกษาไว้





(16 มกราคม) เสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชนของวุฒิสภา เปิดเผยว่า ในการประชุม กมธ. ในวันนี้ (17 มกราคม) หนึ่งในวาระการพิจารณาเรื่องรายงานการปฏิรูปประเทศและรายงานจากสถาบันพระปกเกล้า เรื่อง การศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (รธน.) ปี 2560 ทั้งประเด็นการแก้มาตรา 158 เรื่องวาระดำรงตำแหน่ง 8 ปีของนายกรัฐมนตรี, มาตรา 159 เรื่องคุณสมบัติของนายกฯ ต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และมาตรา 272 เกี่ยวกับยกเลิกอำนาจ ส.ว. ในการร่วมโหวตตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือเรื่องการแก้ปัญหาองค์ประชุมสภาล่ม โดยที่ประชุมจะศึกษาทุกประเด็นอย่างรอบด้าน ก่อนที่จะนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของรัฐสภา

เสรียังยืนยันว่า ประเด็นในการศึกษาแก้ รธน. ไม่ได้เจาะจงหรือเอื้อประโยชน์ให้แก่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นเพียงประเด็นการศึกษา และนำเสนอสู่สาธารณะเพื่อให้แสดงความคิดเห็นและรับฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนักการเมือง รวมถึงประชาชน โดยยังไม่ได้มีการเสนอแก้ รธน. ในเวลานี้

เสรียังเห็นว่ากระบวนการแก้ รธน. ไม่ได้ดำเนินการได้โดยง่าย เพราะมีขั้นตอนตามที่เงื่อนไขกำหนดไว้ทั้งเสียงวุฒิสภาเห็นชอบ 1 ใน 3 รวมถึงเสียงของพรรคการเมืองฝ่ายค้านอีกร้อยละ 20

เสรียังย้ำว่า การแก้ รธน. ฉบับปัจจุบันนั้นแก้ยาก และหากต้องการแก้ให้สำเร็จ ทุกฝ่ายต้องหันหน้าพูดคุยกันตกลงกัน สร้างความสามัคคีปรองดองในมวลหมู่นักการเมืองและประชาชน เพราะไม่สามารถที่จะเสนอเพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ และการเสนอต้องมีความตั้งใจเพื่อประโยชน์ของบ้านเมือง หากมีการพูดจาเสียดสีด่าทอให้ร้ายหรือเอาแต่ประโยชน์ของพรรคการเมืองตัวเองก็คือการทะเลาะกัน จะไม่สามารถแก้ รธน. ได้เลยสักประเด็นเดียว

“ในกระบวนการของการจะแก้เพื่อให้เป็นประโยชน์กับ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นไปไม่ได้เลย พอเกิดเป็นประเด็นนี้ขึ้นมาก็เป็นที่สนใจและเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ แต่เรียนด้วยความเคารพ ไม่ได้เสนอเพื่อจะแก้ให้ พล.อ. ประยุทธ์ แต่เพียงผู้เดียว และก็ไม่รู้ว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าผลการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร ซึ่งไม่รู้พรรคไหนจะได้เสียง ส.ส. จำนวนเท่าไร” เสรีกล่าว

เสรียังเชื่อว่าการแก้ไข รธน. ประเด็นตัดอำนาจ ส.ว. โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และคุณสมบัตินายกฯ ต้องมาจาก ส.ส. ตามร่างแก้ของพรรคเพื่อไทยนั้น จะไม่ผ่านความเห็นชอบจาก ส.ว. เพราะยังมีความเห็นไม่ตรงกัน พร้อมเชื่อว่าข้อเสนอนั้นเป็นประเด็นเป้าหมายสำหรับการหาเสียงของพรรคการเมือง สร้างความด่างพร้อยให้ ส.ว. และสร้างปัญหาให้รัฐบาล

เสรียังเห็นว่าเป็นสิทธิของแต่ละพรรคการเมืองหากจะนำเรื่องการแก้ รธน. โดยเฉพาะการแก้วาระ 8 ปีการดำรงตำแหน่งของนายกฯ เป็นนโยบายหาเสียง เพราะสุดท้ายประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินใจเลือก เพราะก็มีทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบ แม้นโยบายหาเสียงค่าแรง 600 บาท ทำได้ในปี 2570 ก็ยังนำมาหาเสียงได้ อยู่ที่กลยุทธ์ของแต่ละพรรค และไม่ห่วงว่า ส.ว. จะถูกมองเป็นส่วนหนึ่งในกลยุทธ์หาเสียงของ พล.อ. ประยุทธ์ เพียงแต่ย้ำว่าทำตามหน้าที่และมองว่าทุกพรรคการเมืองได้ประโยชน์เช่นเดียวกัน และไม่ใช่ว่า พล.อ. ประยุทธ์ ได้ประโยชน์คนเดียว เพราะหาก แพทองธาร ชินวัตร ได้เป็นนายกฯ ก็สามารถที่จะเป็นได้ยาวเช่นกัน

เสรียังกล่าวถึงหลักการแก้วาระดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี ว่ากำหนดไว้เพื่ออะไร ซึ่งหลักก็คือเพื่อไม่ให้เป็นนานเกินไป แต่เมื่อผ่านมาแล้ว บังคับใช้ตั้งแต่ปี 2550 ก็เห็นปัญหาว่าการกำหนดเช่นนี้ หากมีคนดี มีความสามารถ มีความรู้ และสามารถเป็นนายกรัฐมนตรีต่อได้ ก็จะถูกจำกัดสิทธิตรงนี้ เราจึงเห็นว่าควรให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจ

 

ข่าวจาก : thestandard

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: