ผลวิจัยใหม่ชี้ เป็นไปได้ที่เครื่องดื่มบำรุงกำลัง ทำให้หนุ่ม ๆ หัวล้านไวขึ้น





เมื่อไม่นานมานี้ ได้มีการเผยแพร่ผลงานวิจัยฉบับหนึ่ง ซึ่งระบุถึงความเกี่ยวข้องระหว่างการดื่มเครื่องดื่มบำรุงกำลังกับปัญหาผมร่วง-ศีรษะล้าน โดยทีมนักวิจัยผู้กำกับดูแลการวิจัยครั้งนี้อ้างว่า เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลผสมอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น เครื่องดื่มบำรุงกำลัง เป็นตัวช่วยเร่งให้เกิดภาวะผมร่วงในกลุ่มชายหนุ่มเร็วขึ้น

ผลของการวิจัยนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Nutrients โดยระบุว่า ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยชิงหวา กรุงปักกิ่ง เป็นผู้กำกับดูแลกรณีศึกษาครั้งนี้ ข้อมูลที่ได้ในการวิจัยมาจากการทดสอบกับชายหนุ่ม 1,000 คน อายุระหว่าง 18-45 ปี ในระยะเวลา 4 เดือน

ทีมวิจัยพบว่า ชายหนุ่มในกลุ่มทดลองที่ดื่มเครื่องดื่มบำรุงกำลัง เครื่องดื่มเกลือแร่ และน้ำอัดลมเป็นจำนวนมาก รวมถึงน้ำชา กาแฟ ที่มีการปรุงแต่งรสหวานเพิ่มเข้าไป มีความเสี่ยงสูงที่จะประสบภาวะผมร่วง

ผู้ที่ร่วมทดลองในโครงการจะมีกำหนดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มเหล่านี้ระหว่าง 1-3 ลิตรต่อสัปดาห์ จากนั้นจะได้รับการประเมินสภาพร่างกาย

ช่วงท้ายของการทดลอง มีการสังเกตพบว่า ผู้ร่วมทดลงที่ดื่มเครื่องดื่มให้รสหวานทุกวัน วันละมากกว่า 1 ครั้ง จะมีความเสี่ยงสูงที่ผมจะร่วงมากขึ้นถึง 42% เมื่อเทียบกับผู้ร่วมทดลองที่ไม่ได้ดื่มเครื่องดื่มให้รสหวานดังที่กล่าวไว้ในข้างต้น

ส่วนกลุ่มชายหนุ่มที่ยอมรับว่า กำลังเจอภาวะผมร่วง ก็ยอมรับด้วยว่า พวกเขาดื่มเครื่องดื่มที่ให้รสหวานในอัตราเฉลี่ย 12 หน่วยต่อสัปดาห์

อย่างไรก็ตาม ยังไม่อาจสรุปได้ว่า เครื่องดื่มบำรุงกำลังและเครื่องดื่มให้รสหวานอื่น ๆ เป็นสาเหตุโดยตรงที่ทำให้ผู้ชายผมร่วงหรือศีรษะล้าน อีกทั้งจำนวนคนที่ร่วมทดลองเพื่อการวิจัยในครั้งนี้ ยังมีจำนวนน้อย

นอกจากนี้ หลายคนที่เข้าร่วมการทดลองยังระบุไว้ในบันทึกประจำวันเกี่ยวกับพฤติกรรมและอาหารการกินของพวกเขาว่า พวกเขามีปัญหาเรื่องความวิตกกังวล ซึ่งคนกลุ่มนี้ก็เป็นอีกกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงว่าจะประสบภาวะผมร่วง ในทำนองเดียวกันกับคนที่ชอบรับประทานอาหารฟาสต์ฟู้ดและบริโภคอาหารที่มีผักน้อยไป

ดร.ชารอน หวัง แพทย์ผิวหนังผู้เชี่ยวชาญให้ข้อมูลว่า เซลล์ในรูขุมขน (และผม) เป็นเซลล์ที่มีการแบ่งตัวรวดเร็วที่สุด เป็นอันดับสองในหมู่ประเภทเซลล์ต่าง ๆ ของร่างกาย และเป็นเซลล์ที่ต้องการสารอาหารจากการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เช่น คาร์โบไฮเดรตและไขมันดี โปรตีนที่มีไขมันต่ำ วิตามินและเกลือแร่ แต่เนื่องจากเส้นผมไม่ใช่อวัยวะที่จำเป็นต่อการเอาชีวิตรอด ร่างกายจึงมักส่งสารอาหารที่จำเป็นต่อการเติบโตของเส้นผมไปให้เป็นลำดับท้าย ๆ

ขณะนี้ ยังคงถือว่าภาวะทุพโภชนาการและการลดน้ำหนักอย่างหักโหมในระยะสั้น คือสาเหตุหลักที่พบได้ทั่วไปในผู้ป่วยที่มีภาวะผมบางและผมร่วง

 

ข่าวจาก : dailynews

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: