“ชัชชาติ” เฉลยเองทางม้าลายทาสีใหม่ ไม่เกี่ยวเอเปค แค่ตรงจังหวะพอดี





14 พฤศจิกายน เวลาราว 04.56 น. ที่สวนลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. ถ่ายทอดสดผ่านเพจเฟซบุ๊ก ขณะวิ่งออกกำลังกายที่สวนลุมพินี และวิ่งเดินทางไปเยี่ยมศูนย์พักพิงเหตุเพลิงไหม้ที่ซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 6 เขตสาทร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่นายชัชชาติเดินทางกลับไปที่สวนลุมพินี โดยวิ่งผ่านทางม้าลายแยกวิทยุ เขตปทุมวัน นายชัชชาติกล่าวถึงกำหนดการวันนี้ในการเตรียมความพร้อมสำหรับการประชุมเอเปค 2022 และเรื่องการทาสีทางม้าลายใหม่ว่า อาจจะไม่เกี่ยวข้องกับการเตรียมพร้อมรับการประชุมเอเปค เนื่องจาก กทม.มีแผนงานที่จะปรับปรุงทางม้าลาย 100 จุดอยู่แล้ว แต่มาตรงจังหวะช่วงเอเปคพอดี

“ความจริงแล้วอาจไม่เกี่ยวกับเอเปค เพราะเป็นขั้นตอนที่เราทำพอดี ที่จะปรับทางม้าลายทั้งหมด 100 จุดในกรุงเทพฯ ซึ่งอาจเป็นจังหวะ” นายชัชชาติกล่าว

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายชัชชาติเคยแถลงภายหลังการประชุมคณะผู้บริหาร เมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา ถึงการดำเนินการแก้ไขปัญหาจุดเสี่ยงความปลอดภัย ทั้งในส่วนของทางข้ามทางม้าลาย และจุดเสี่ยงอุบัติเหตุทั่วกรุงเทพฯ โดย กทม.ได้ปรับปรุงด้านกายภาพ สัญญาณไฟ เครื่องหมายจราจร ทางม้าลาย ทางข้ามต่างๆ ไปแล้ว 145 จุด ทางม้าลาย 411 แห่ง

ในส่วนของจุดเสี่ยงอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ที่มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บมากที่สุด รวบรวมข้อมูลจาก ThaiRSC และมูลนิธิ iTIC รวมกับข้อมูลทางกองบัญชาการตำรวจนครบาล ได้จุดเสี่ยงอุบัติเหตุ 100 จุด พร้อมทั้ง ส่งทีมวิศวกรลงไปสำรวจความบกพร่องเพื่อหามาตรการแก้ไข โดยต้องหารือร่วมกับทางตำรวจอาจต้องปรับทิศทางจราจร ปรับจุดกลับรถ ลดจุดตัดของถนน ที่ผ่านมาแก้ไขไปแล้ว 14 จุด และอยู่ระหว่างดำเนินการจุดที่เหลือ

“ด้านกายภาพก็ทำต่อเนื่องจุดไหนทำได้ไม่ใช้งบทำเลย ที่ต้องใช้งบก็รอจัดสรร รวมถึงการรณรงค์จะมีร่วมงานกับหลายหน่วย เช่น สำนักงานตรวจการแผ่นดินที่จะทำโครงการรณรงค์เรื่องจิตสำนึก ต้องทำคู่ขนานกันไป เป็นไปตามนโยบายความปลอดภัยที่ให้ไว้” นายชัชชาติกล่าวเมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา

ด้าน รศ.ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯกทม. เปิดเผยภายหลังการประชุมในวันเดียวกันนี้ ประเด็นการปรับปรุงจุดเสี่ยงเพื่อความปลอดภัยว่า

เรื่องแรก คือการปรับปรุงทางม้าลายและทางข้าม ที่ผ่านมา 60 วัน ได้ดำเนินการทาสี-ตีเส้น ปรับปรุงเครื่องหมายจราจรไปทั้งหมด 145 จุด มีการล้างทำความสะอาดทางม้าลาย 416 แห่ง มีการติดตั้งไฟกะพริบ 15 แห่ง ส่วนจุดที่เกิดอุบัติเหตุ ได้ความอนุเคราะห์ข้อมูลจาก บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (ศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุ Thai RSC) ซึ่งมีสถิติอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นใน กทม. และมีข้อมูลจาก มูลนิธิศูนย์ข้อมูลจราจรอัจฉริยะไทย (Intelligent Traffic Information Center : iTIC) ข้อมูลของ กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) เอา 3 ข้อมูลมารวมกัน ก็จะได้จุดที่เกิดเหตุมากที่สุด บ่อยครั้งที่สุด สถิติ 3 ปีย้อนหลัง (2563-2565) จำนวน 100 จุด เป็นตัวตั้งต้น จากนั้นส่งทีมวิศวกรเข้าไปสำรวจกายภาพ ความสมบูรณ์ของถนน พฤติกรรมคนขับ เพื่อหามาตรการในการปรับปรุงจุดเสี่ยงเหล่านี้

“ผ่านมาได้ทำการปรับปรุงจุดเสี่ยงไปแล้ว 14 จุด บางเรื่องต้องหารือกับทางตำรวจด้วย เช่น ปรับทิศทางการจราจร เปลี่ยนจุดกลับรถเพื่อลดจุดตัดของถนน เป็นต้น ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินงาน ยกตัวอย่างจุดสำคัญๆ เช่น ที่ถนนรัชดาภิเษก ซึ่งได้มีการ์ดเรลแล้ว และอยู่ระหว่างการจัดจ้างเพื่อฉาบผิวใหม่ เพิ่มความฉุดของถนนเนื่องจากถนนบริเวณโค้งอาจมีความลื่น หรือแยกบางหว้าที่มีผู้เสียชีวิตสะสม 14 ราย ซึ่งทางกายภาพได้ทำต่อเนื่อง และอีกอย่างหนึ่งที่ทำควบคู่กันไป คือ การรณรงค์สร้างจิตสำนึก ซึ่ง กทม.ได้ร่วมกับหลายหน่วยงาน เช่น สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ทำคู่ขนานกันไประหว่างทางกายภาพและการรณรงค์ เป็นไปตามนโยบายความปลอดภัยที่ให้ไว้” รศ.ดร.วิศณุกล่าว

 

ข่าวจาก : มติชน

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: