จ่อออกเกณฑ์เข้ม ห้ามแอพพ์ธนาคารล่มเกิน 8.7ชั่วโมงต่อปี





9 พฤศจิกายน นายกิตติ โฆษะวิสุทธิ์ ประธานกรรมการศูนย์ประสานงานการรักษาความมั่งคงปลอดภัยเทคโนโลยีสารสนเทศภาคการธนาคาร (TB CERT) เปิดเผยว่า หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เตรียมออกแนวทางปฎิบัติกรณีแอพพลิเคชันธนาคารล่ม ขณะนี้ ธปท.ได้รับฟังความคิดเห็นและร่วมหารือกับสถาบันการเงินและหน่วยงานอื่น หรือผู้ที่เกี่ยวข้องแล้วเสร็จ คาดว่าจะมีการนำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ ธปท. เพื่อพิจารณาเห็นชอบและออกประกาศให้รับทราบร่วมกันต่อไป และหากมีการกำหนดให้มีการดำเนินการแบบชัดเจนตามประกาศแล้ว สถาบันการเงินทุกแห่งต้องรับเงื่อนไขตามที่ ธปท.กำหนด ซึ่งการออก Service Level Agreement (SLA) ข้อตกลงเกี่ยวกับระยะเวลาการให้บริการทางการเงินในด้านต่างๆ เช่น การเกิดเหตุการณ์ขัดข้องของระบบการทำธุรกรรมในแอพพลิเคชันของธนาคารต่างๆ เมื่อผู้ใช้บริการติดต่อกับธนาคารไม่ได้ โดยช่วงเวลาที่ธนาคารกำลังแก้ระบบที่ขัดข้องจะต้องอยู่ภายในเวลาที่กำหนด ตัวเลข SLA หรือระยะเวลาที่ยอมรับได้หากเกิดระบบล่มจะอยู่ที่ 99.99 หรือคิดเป็นยอดสะสมประมาณ 8.7 ชั่วโมงต่อปี และห้ามใช้เวลาสะสมทั้งปีเกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนด

ทั้งนี้ สำหรับจุดประสงค์คาดว่า ธปท. ได้ติดตามข้อมูลมาในระดับหนึ่งว่าแต่ละธนาคารมีการทำงานเป็นอย่างไร อาจจะมีช่วงขึ้นและลงระบบของแต่ละธนาคาร ส่วนของลำดับอาจจะสลับกันบ้าง แต่ ธปท.คงทบทวนและเฉลี่ยแล้วถึงความเป็นไปได้ที่จะยกระดับโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินให้ดียิ่งขึ้น หลังการชำระเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ขยายตัวมากขึ้น ธปท.จึงไม่ต้องการให้ระบบเกิดสะดุด และต้องการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน รวมถึงไม่อยากให้ฝืนธุรกิจมากจนเกินไป เนื่องจากมีต้นทุนในการลงระบบสูง

“สำหรับบทลงโทษคาดว่า ธปท.ยังคงไม่ต้องการออกบทลงโทษ แต่คาดว่าจะออกข้อกำหนดมาก่อนและให้ทุกธนาคารทดสอบระบบว่าสามารถดำเนินการได้หรือไม่ หากเกิดอุปสรรค หรือติดปัญหาจะต้องมาหารือเพื่อหาทางแก้ไขร่วมกัน คงให้ระยะเวลาในการปรับตัว รวมถึงต้องมีการลงทุนไม่น้อยในเรื่องของกระบวนการคอขวด หรือ Bottleneck Process ที่แต่ละช่วงของระบบมีการทำงาน หรือแก้ไขระบบแตกต่างกัน ซึ่งธนาคารกรุงเทพได้เริ่มทำไปแล้ว และทำต่อเนื่อง โดย SLA สามารถทำได้ตามเวลาที่กำหนด” นายกิตติ กล่าว

นายกิตติ กล่าวว่า ขณะที่สถาบันการเงินขนาดใหญ่สามารถดำเนินการได้ หรือมีความสำคัญเชิงระบบ (D-SIB) สามารถดำเนินการได้โดยไม่ติดปัญหาดังกล่าว ขณะเดียวกันก็ต้องมีการพัฒนาระบะเพื่อรองรับธุรกรรมที่มีการใช้งานสูง เช่น ระบบพร้อมเพย์ เพื่อป้องกันระบบติดขัดในวันที่มีการใช้บริการสูง เช่น วันออกสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือการใช้สิทธิมาตรการภาครัฐ เป็นต้น และเมื่อพัฒนาระบบแล้วเสร็จจะมีการติดตามใน 1 ปีผ่านไปว่าระบบจะเป็นอย่างไร

อย่างไรก็ตาม เรื่องระบบล่มอาจจะไม่เกี่ยวข้องกับส่วนของแอพพ์ธนาคารทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่ระบบจะล่มจากการทำธุรกรรมพร้อมกันในปริมาณมากจากจำนวนการเข้าใช้ระบบที่มีความถี่สูง เช่น ช้อปปี้ ลาซาด้า ออกโปรโมชั่นช้อปรายเดือนก็มีลูกค้าจำนวนมากใช้บริการส่งผลให้การชำระเงินติดขัดและเกิดระบบล่มตามมา เป็นต้น

 

ข่าวจาก : มติชน

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: