เตือนซื้ออาหารออนไลน์ ระวังเชื้อรา-หมดอายุ ผู้บริโภครับอันตรายเอาผิดได้





26 ต.ค.2565 นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงกรณีการสั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารผ่านออนไลน์แล้วได้สินค้าหมดอายุ ว่า ปัจจุบันคนนิยมซื้อสินค้าผ่านแอพพลิเคชั่นทางออนไลน์กันมากขึ้น เพราะสะดวก ประหยัดน้ำมัน และไม่เสียเวลาเดินทาง ผู้ผลิตยังนิยมจัดกลยุทธ์การตลาดเพื่อกระตุ้นยอดขาย ทำให้ผู้บริโภคสั่งซื้ออาหารนั้นบ่อยและมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว จึงควรระวังสินค้าเก่าเก็บที่อาจเสี่ยงเชื้อรา หากเก็บรักษาที่ไม่เหมาะสม เช่น เก็บไว้ในที่ชื้นเกินไป หรือไม่มีการอบให้แห้งดีพอ ก่อให้เกิดอะฟลาทอกซิน หากมีการบริโภคเข้าไปสะสมในปริมาณมากก็จะทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งได้

นพ.เอกชัย กล่าวต่อว่า หรืออย่างกรณีที่มีการแชร์เรื่องซื้อโดนัทจากห้างสรรพสินค้าผ่านแอพพลิเคชั่น แต่ได้รับของหมดอายุผ่านโซเชียลมีเดีย แม้ พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 การจำหน่ายอาหารที่หมดอายุยังไม่ถือ เป็นความผิด แต่เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาตามกรณีดังกล่าว การสั่งสินค้าทางออนไลน์ ผู้บริโภคควรพิจารณาภาพประกอบการขายสินค้าอย่างละเอียด เพื่อเป็นการเลือกสินค้าที่มีคุณภาพเบื้องต้น

นพ.เอกชัย กล่าวอีกว่า รวมถึงเมื่อได้รับสินค้าควรสังเกตบรรจุภัณฑ์ที่สะอาด มีฝาปิดมิดชิด ซองบรรจุไม่มีรูรั่ว และอ่านฉลากให้ครบถ้วน ตั้งแต่ชนิด ส่วนประกอบ วันเดือนปีที่ผลิต หรือวันเดือนปีที่หมดคุณภาพ ส่วนอาหารสดก่อนที่จะนำมาปรุง ประกอบอาหาร ควรล้างให้สะอาดเพื่อขจัดสิ่งปนเปื้อน และควรตรวจสอบวันหมดอายุก่อนนำมาบริโภคทุกครั้ง หากพบอาหารที่สั่งมามีกลิ่นหรือสีที่เปลี่ยนไปถึงแม้จะมองไม่เห็นว่ามีเชื้อราก็ตามไม่ควรนำมาบริโภค

“หากรับประทานอาหารที่เลยวันที่ควรบริโภคก่อน (best before date) คุณค่าทางโภชนาการจะลดลงไปเรื่อยๆ ขณะเดียวกันความอันตรายต่อสุขภาพก็เกี่ยวกับการเก็บรักษาอาหาร เช่น เก็บในตู้เย็นหรือไม่ ซึ่งจะมีเชื้อโรค เชื้อรา แบคทีเรียที่สามารถเติบโตในอาหารนั้น ๆ ได้ อย่างไรก็ตาม ขอให้เลี่ยงการรับประทานอาหารที่เลยวันหมดอายุ ส่วนร้านอาหารก็ไม่ควรเอาอาหารหมดอายุมาจำหน่าย เพราะหากนำมาขายแล้วผู้บริโภคได้รับอันตราย ทางผู้จำหน่ายก็จะมีความผิดตามกฎหมาย เช่น พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค” นพ.เอกชัย กล่าว

นพ.เอกชัย กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ คำแนะนำของกรมอนามัยสำหรับร้านอาหาร คือ จะต้องผ่านการขึ้นทะเบียน ผ่านการตรวจสอบจากกรมอนามัย ได้รับป้ายสัญลักษณ์ “clean food good taste” ซึ่งประชาชนสามารถสังเกตได้ แต่ทุกวันนี้มีหลายร้านที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน กรมอนามัยก็ไม่ใช่หน่วยงานเดียวในการตรวจสอบ แต่ระดับพื้นที่จะมีสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดช่วยดูแลรับผิดชอบ สุ่มตรวจตามตลาด ร้านอาหาร ต้องขอความร่วมมือประชาชนเป็นหูเป็นตา หากพบความไม่เหมาะสม สามารถแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น เทศบาล สสจ.ได้

เมื่อถามว่า กรณีสั่งซื้ออาหารผ่านออนไลน์ ไม่สามารถเลือกสินค้าได้ด้วยตนเอง ทำให้บางร้านลักไก่นำของใกล้หมดอายุมาขาย นพ.เอกชัย กล่าวว่า การซื้ออาหารผ่านออนไลน์ที่เราไม่รู้ว่าเขานำของหมดอายุมาส่งให้หรือไม่ ดังนั้น เราต้องเลือกร้านที่เชื่อใจได้ ร้านที่สามารถเขียนคำแนะนำหรือร้องเรียนกลับไปได้ ส่วนใหญ่อาหารที่จำหน่ายในแพลตฟอร์มออนไลน์ ต้องผ่านการขึ้นทะเบียนตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข ซึ่งสามารถใช้กฎหมายเอาผิดได้ แต่เชื่อว่าหลายร้านก็ไม่ได้ขึ้นทะเบียน จึงต้องแนะนำประชาชนซื้ออาหารที่เชื่อถือได้

“โดนัทเป็นของทอด มีส่วนประกอบหลักทำจากแป้ง และความหวานอร่อยของโดนัทเกิดจากการปรุงรสชาติด้วยน้ำตาล รวมถึงบรรดาหน้าต่าง ๆ ของโดนัท ส่วนประกอบหลัก คือ น้ำตาลเช่นเดียวกัน และโดยเฉลี่ยโดนัท 1 ชิ้น น้ำหนักประมาณ 40 กรัม ให้พลังงานเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 168 กิโลแคลอรี จะมีน้ำตาลประมาณ 5.5 – 13.9 กรัม หากกินเป็นประจำ เสี่ยงที่จะได้รับพลังงานและน้ำตาลเกินปริมาณที่แนะนำต่อวัน ดังนั้น การสั่งซื้ออาหารออนไลน์ จึงควรเลือกสั่งซื้ออาหารที่ดีต่อสุขภาพร่วมด้วย” นพ.เอกชัย กล่าว

 

ข่าวจาก : ข่าวสด

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: