“ชัชชาติ” ตั้งเงื่อนไขเอกชน ยกที่ดินให้ กทม.ทำสวน ต้องให้ใช้ประโยชน์ 7 ปี





21 สิงหาคม แหล่งข่าวจากศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม.ทำหนังสือถึงผู้อำนวยการเขต เพื่อชักซ้อมความเข้าใจในการรับทรัพย์สินที่เอกชนยินยอมให้ กทม.จัดให้ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ ตามที่ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 มาตรา 8 ได้กำหนดให้ทรัพย์สินของเอกชนเฉพาะส่วนที่ได้ยินยอมให้ทางราชการจัดให้ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ได้รับยกเว้นจากการจัดเก็บภาษี ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศกำหนด

แหล่งข่าวกล่าวว่า เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2564 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้มีประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณาทรัพย์สินของเอกชนเฉพาะส่วนที่ได้ยินยอมให้ทางราชการจัดให้ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์ให้ทรัพย์สินของเอกชนเฉพาะส่วนที่ได้ยินยอมให้ทางราชการจัดให้ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ได้รับยกเว้นจากการจัดเก็บภาษี โดยต้องเป็นทรัพย์สินที่ประชาชนทั่วไปได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน และต้องจัดทำข้อตกลงยินยอมให้ใช้ทรัพย์สินเพื่อสาธารณประโยชน์ตลอดทั้งปี โดยไม่มีค่าตอบแทน หรือประโยชน์ตอบแทนอื่น และติดประกาศความยินยอมให้ใช้ทรัพย์สินเพื่อสาธารณประโยชน์ ณ ที่ทำการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และในที่ซึ่งทรัพย์สินที่ได้ยินยอมให้ทางราชการจัดให้ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์นั้น

เนื่องจากในการนำงบประมาณของ กทม.เข้าไปพัฒนาปรับปรุงพื้นที่ดังกล่าวต้องดำเนินการตามข้อบัญญัติ กทม.ว่าด้วยค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการพัฒนาทรัพย์สินที่ประชาชนทั่วไป ใช้สอยร่วมกัน และระเบียบ กทม.ว่าด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และค่ใช้จ่ายเกี่ยวกับการพัฒนาทรัพย์สินที่ประชาชนทั่วไปใช้สอยร่วมกัน ซึ่งปรากฎว่ามีกรณีที่เอกชนยินยอมให้ กทม.ใช้ที่ดินเพื่อสาธารณประโยชน์ โดยได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศกำหนดแล้ว แต่หน่วยงานมิได้เข้าไปใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านงบประมาณ

“ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการในเรื่องนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยทางผู้บริหาร กทม.จึงมีมติเห็นชอบในหลักการให้หน่วยงานถือปฏิบัติ ในกรณีเจ้าของทรัพย์สินได้แจ้งความยินยอมให้ กทม.ใช้ทรัพย์สินเพื่อสาธารณประโยชน์ เช่น สวนสาธารณะ ลานกีฬา ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เป็นต้น” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวว่า โดยให้หน่วยงานต้องพิจารณาโดยคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะที่ประชาชนทั่วไป สามารถใช้สอยร่วมกันและความคุ้มค่าด้านงบประมาณตามหลักเกณฑ์ ดังนี้

1.ระยะเวลาในการยินยอมให้ กทม.จัดให้ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ ต้องไม่น้อยกว่า 7 ปี และจะต้องดำเนินการจดทะเบียนสิทธิเหนือพื้นดิน ภายหลังการจัดทำข้อตกลงกับเจ้าของทรัพย์สินให้เรียบร้อยโดยเร็ว ทั้งนี้ ก่อนการจัดทำข้อตกลงและจดทะเบียนสิทธิเหนือพื้นดิน และปิดประกาศความยินยอมให้สำนักงานเขตดำเนินการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามปกติ

2.ความเหมาะสมและศักยภาพของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จะให้ กทม.ใช้สอยในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ในการจัดให้ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ ซึ่งต้องสอดคล้องกับแผนพัฒนากรุงเทพฯ แผนการใช้ประโยชน์ที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง ความหนาแน่นของประชากร ที่อยู่อาศัยในบริเวณดังกล่าว และตั้งอยู่ในบริเวณที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าใช้สอยได้โดยสะดวก

3.เงินงบประมาณที่ กทม.ต้องนำไปใช้ในการพัฒนาปรับปรุงพื้นที่ และความพร้อมในการจัดสรรงบประมาณ โดยให้หน่วยงานประสานสำนักงบประมาณกทม.เพื่อขอทราบข้อมูลในเบื้องต้นก่อนจัดทำข้อตกลงกับเจ้าของทรัพย์สิน

4.จำนวนเงินค่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ กทม.ยกเว้นการจัดเก็บ

5.ระยะเวลาในการดำเนินงานของหน่วยงานในการเข้าไปปรับปรุงพัฒนาพื้นที่ ซึ่งต้องไม่เกิน 200 วัน นับแต่วันที่หน่วยงานจัดทำข้อตกลงกับเจ้าของทรัพย์สิน ทั้งนี้ เพื่อให้มีการใช้ทรัพย์สินนั้นเพื่อสาธารณประโยชน์โดยเร็ว

6.เพื่อให้การดำเนินการในเรื่องนี้เป็นไปด้วยความรอบคอบ เหมาะสม สอดคล้องกับการบริหารงบประมาณของหน่วยงาน และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อกทม.และประชาชน ก่อนรับทรัพย์สินที่เอกชนยินยอมให้ กทม.จัดให้ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ ให้หน่วยงานส่งเรื่องให้กองรายได้ สำนักการคลัง เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการพิจารณาการรับทรัพย์สินที่เอกชนยินยอมให้ กทม.จัดให้ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์

“ทั้งนี้ เพื่อพิจารณาความเหมาะสมและให้ข้อเสนอแนะในการรับทรัพย์สินดังกล่าวต่อไป และให้นำแบบสัญญาแนบท้ายระเบียบ กทม.ว่าด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการพัฒนาทรัพย์สินที่ประชาชนทั่วไปใช้สอยร่วมกัน มาใช้ในการจัดทำข้อตกลงกับเจ้าของทรัพย์สินด้วย” แหล่งข่าวกล่าว

 

ข่าวจาก : มติชน

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: