กรธ.อ้าง “ชุดความคิดใหม่” ประยุทธ์อยู่ได้ถึงปี70





ศ.ดร.ชาติชาย ณ เชียงใหม่ อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์ ในรายการ คมชัดลึก ดำเนินรายการโดย วราวิทย์ ฉิมมณี ทางสถานีโทรทัศน์เนชั่น เมื่อวันที่ 12 สิงหาคมว่า กรณีมาตรา 158 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน กำหนดให้นายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งไม่เกิน 8 ปี แต่มีปัญหาว่าจะเริ่มต้นนับจากวันเวลาใด จะต้องดูมาตราที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

ข้อกำหนดห้ามอยู่เกิน 8 ปี เริ่มจากรัฐธรรมนูญ 2550 ที่กำหนดไว้ในมาตรา 171 ส่วนรัฐธรรมนูญ 2560 อยู่ในมาตรา 158 วรรคสี่

ศ.ดร.ชาติชาย กล่าวว่า ในเรื่องนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560 กรธ.ใช้ชุดความคิดใหม่ และมีวิธีการที่แตกต่าง โดยมีมาตราที่เกี่ยวข้องได้แก่ มาตรา 88 และ 89 ที่ให้พรรคการเมืองเสนอชื่อแคนดิเดต 3 คน ไม่ต้องเป็นส.ส.ก็ได้ จากนั้นการเป็นนายกฯ ให้เป็นไปตามมาตรา 159 และจากนั้นคือมาตรา 158 ที่ระบุห้ามดำรงตำแหน่งเกิน 8 ปี ในวรรคสี่ แต่จะมีผลอย่างไร ต้องดูจากทุกวรรคทั้งสี่วรรคในมาตรา 158 นายกรัฐมนตรีที่จะอยู่ในตำแหน่งไม่เกิน 8 ปี ต้องเป็นนายกฯ ที่สภาฯเห็นชอบตามมาตรา 159 ดังที่กำหนดในวรรคสอง ของมาตรา 158 และเป็นนายกฯที่ประธานสภาผู้แทนฯลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ตามวรรคสาม ของมาตรา 158

ส่วนมาตรา 264 ที่ระบุว่าให้ครม.ที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้ถือเป็นครม.ตามบทบัญญัติแห่งรธน.นี้ ซึ่งเท่ากับระบุว่าให้การเป็นรัฐบาลมีผลย้อนหลัง ศ.ดร.ชาติชายกล่าวว่า กำหนดไว้เพื่อความต่อเนื่อง ให้ประเทศไม่ปลอดจากการบริหารราชการแผ่นดินแม้วินาทีเดียว ในรัฐธรรมนูญที่ผ่านๆมาก็กำหนดไว้ทุกฉบับ มาตรานี้เป็นหลักของการบริหารราชการแผ่นดิน เป็นคนละหลักกับเรื่องมาตรา 158 ว่าด้วยการที่ฝ่ายนิติบัญญัติให้กำเนิดฝ่ายบริหารออกมา

ผู้ดำเนินรายการถามถึงการพิจารณาเรื่องนี้ ในการประชุมคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ หรือกรธ. ที่มี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ครั้งที่ 500 เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2561 ซึ่งมีความเห็นกรธ.ว่า ให้นับเวลา 8 ปีรวมทั้งหมด จากครั้งแรกที่ได้เป็นนายกฯ โดยไม่ปรากฎความเห็นค้านแนวคิดนี้ในบันทึกการประชุม ศ.ดร.ชาติชายกล่าวว่า จำได้ว่า มีคนถามแย้งเหมือนกันว่าจะยุติธรรมหรือพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯตั้งแต่ปี 2557 เป็นรัฎฐาธิปัตย์ ตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังไม่เกิดขึ้น ถ้าเขียนย้อนหลังไปมีผลเป็นโทษ แบบนี้จะเป็นธรรมหรือไม่ และกฎหมายมหาชนจะมีผลย้อนหลังเป็นโทษได้หรือ และมีคนในที่ประชุมบอกว่าถ้าเกิดปัญหา ให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินไปก็แล้วกัน ซึ่งรายละเอียดการประชุมครั้งนั้น เป็นบันทึกการประชุม ไม่ใช่มติ เจ้าหน้าที่อาจไม่ได้จดเนื้อความทั้งหมดไว้

จากนั้น

เป็นการสัมภาษณ์ นายจรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งกล่าวว่าเรื่องนี้ควรให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ วาระ 8 ปีนายกฯ มีความเห็น 3 ทาง กลุ่มแรก อ่านมาตรา 158 วรรค 4 ของรัฐธรรมนูญแล้วเห็นว่าต้องเริ่มนับตั้งแต่ 24 สิงหาคม 2557 ที่รับเป็นนายกรัฐมนตรี เท่ากับดำรงตำแหน่งครบ 8 ปีแล้ว แต่ตนได้ฟังความเห็นตรงข้าม ท่านเห็นว่าการอ่านกฎหมาย จะอ่านวรรคเดียวไม่ได้ ต้องอ่านทั้งมาตราและทั้งบทบัญญัติอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย หากอ่านทุกวรรค จะมีความเห็นตรงข้าม เพราะตามวรรคสอง ของมาตรา 158 กำหนดให้นายกฯ ต้องมาจากสภาผู้แทนฯ และตามวรรคสามนายกฯ ต้องได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯโดยประธานสภาฯลงนามรับสนอง หากอ่านบริบททั้งมาตรา ต้องเริ่มนับตั้งได้รับโปรดเกล้า ตามมาตรา 158 วรรคสอง ประกอบวรรคสาม ซึ่งมีการโปรดเกล้าฯตามมาตรา 158 ในวันที่ 9 มิถุนายน 2562 ซึ่งจะไปครบ 8 ปี ในวันที่ 8 มิถุนายน 2570

นายจรัญ ยังกล่าวว่า ทางที่สาม หากอ่านบทเฉพาะกาล มาตรา 264 วรรคหนึ่ง ให้ครม.ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนใช้รัฐธรรมนูญนี้ มีฐานะเป็นครม.ตามรัฐธรรมนูญนี้ เท่ากับบอกว่า ครม.ก่อนหน้ารัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ใช่ครม.ตามรัฐธรรมนูญนี้ แต่เพราะบทเฉพาะกาลมายกเว้น ให้ถือว่าเป็นครม.ตามรัฐธรรมนูญนี้ บทเฉพาะกาลเป็นข้อยกเว้นบทบัญญัติหลัก ดังนั้น ถือว่า ทั้งนายกฯและครม. เป็นนายกฯ และครม. มาตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 อันเป็นวันเริ่มใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่ต้องรอโปรดเกล้าฯ การรอโปรดเกล้าฯ เป็นไปตามบทบัญญัติหลัก มาตรา 158 แต่บทเฉพาะกาลใช้แล้ว เป็นข้อยกเว้นตามบทบัญญัติหลัก

นายจรัญ กล่าวว่า อุปมาเหมือนค้างคาวไม่ใช่นก บทบัญญัติหลักบอกว่าให้ใช้กับนกเท่านั้น ค้างคาวจึงไม่เกี่ยว แต่มีบทเฉพาะกาล บอกว่า ให้ถือว่าค้างคาวที่มีชีวิตอยู่ก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ มีฐานะเป็นนกตามรัฐธรมนูญนี้ด้วย ค้างคาวกลุ่มนั้นจึงกลายเป็นนกตามรัฐธรรมนูญนี้ ตามบทเฉพาะกาล โดยไม่ต้องรอโปรดเกล้าตามมาตรา 156 วรรค 3 ซึ่งเท่ากับไปครบ 8 ปีในปี 2568

นายจรัญ กล่าวว่า เมื่อมีความเห็นที่มีน้ำหนักเป็น 3 แพร่งก้ำกึ่งอย่างนี้ จะหาทางออกอย่างไร แน่นอนศาลรัฐธรรมนูญต้องค้นหาเจตนารมณ์ การใช้กฎหมาย หากตัวบทเขียนชัดก็จบ แต่ถ้าตัวบทไม่ชัด แล้วสร้างปัญหาขัดแย้งก้ำกึ่ง ก็ต้องไปหาเจตนารมณ์ และเท่าที่ตะแคงหูฟัง ไม่ปรากฏเจตนารมณ์ชัดเจน มีแต่ความเห็นท่านนั้นท่านนี้ ที่บันทึกไว้ ไม่ใช่มติ ไม่ใช่เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนู เป็นความเห็นส่วนตัวของกรรมการยกร่างเท่านั้นเอง

จากนั้น ผู้ดำเนินรายการ ย้อนกลับไปถาม ศ.ดร ชาติชาย เรื่องแนวคิดและมาตรา 264 อาจเปิดช่องให้นับจากปี 2560 ศ.ดร ชาติชาย เห็นว่า มาตรา 264 อันเป็นบทเฉพาะกาล เป็นไปตามหลักให้การบริหารราชการแผ่นดินต่อเนื่อง ให้การกระทำต่างๆ ชอบด้วยกฎหมาย มาตรา 264 ไม่น่าใช่เรื่องนับ 8 ปี หากตีความเคร่งครัดตาม มาตรา 158 เริ่มนับวันที่ได้รับโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง ตามวรรค 2 ของมาตรา 158 คือวันที่ 9 มิถุยายน 2562
ศ.ดร.ชาติชายกล่าวอีกว่า เคยฉุกใจคิดเหมือนกันว่า จะเริ่มนับ 8 ปีตั้งแต่เมือไหร่ แต่คุยกันแล้ว เจตนารมณ์เป็นองค์ประกอบ มาตรา 158 ซึ่งเป็นชุดความคิดใหม่ ก็ต้องนับตามมาตรา 158 เป็นมาตรากำเนิดนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ใครมาเป็นนายกฯ ก็เริ่มนับไป 8 ปี

 

ข่าวจาก : มติชน

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: