จ่อปรับเกณฑ์ใหม่ “คนล้มละลาย” ลดข้อจำกัดการดำรงตำแหน่ง ไม่ห้ามเป็นขรก.-นั่งบอร์ดได้





หมายเหตุ – คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ เรื่อง การกำหนดข้อจำกัดในการดำรงตำแหน่งหรือการประกอบอาชีพของบุคคลล้มละลายในกฎหมาย เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

ครม.เห็นชอบหลักเกณฑ์การกำหนดข้อจำกัดในการดำรงตำแหน่งหรือการประกอบอาชีพของบุคคลล้มละลายในกฎหมาย ตามที่สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) เสนอ และให้ส่วนราชการนำไปใช้ประกอบการพิจารณาจัดทำร่างกฎหมายและการตรวจพิจารณากฎหมายต่อไป

ให้ส่วนราชการต่างๆ นำหลักเกณฑ์การกำหนดข้อจำกัดในการดำรงตำแหน่งไปตรวจสอบกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบ หากเห็นว่ากฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ยังมีความไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ดังกล่าวให้เสนอร่างกฎหมายเพื่อแก้ไข หรือยกเลิกบทบัญญัติที่ไม่สอดคล้องนั้นต่อ ครม.เพื่อพิจารณา

ให้คณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน ให้คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะต่อส่วนราชการในการเสนอร่างกฎหมายเพื่อให้เป็นไปตาม
หลักเกณฑ์การกำหนดข้อจำกัดในการดำรงตำแหน่ง และในกรณีที่ส่วนราชการที่รักษาการตามกฎหมายไม่ขัดข้อง คณะกรรมการอาจเสนอร่างกฎหมายเพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวต่อ ครม.แทนส่วนราชการ

ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการทบทวนกฎหมายล้าสมัยเพื่อศึกษา วิเคราะห์ และพิจารณาจัดทำความเห็นหรือข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการทบทวนกฎหมายที่ล้าสมัย
ในคณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน ได้ศึกษาผลกระทบของการกำหนดข้อจำกัดในการดำรงตำแหน่งหรือการประกอบอาชีพของบุคคลล้มละลายในกฎหมายแล้ว เห็นว่าบทบัญญัติของกฎหมายหลายฉบับที่ใช้บังคับในปัจจุบันยังคงนำเหตุแห่งการเป็นบุคคลล้มละลายมาเป็นข้อจำกัดในการดำรงตำแหน่งหรือการประกอบอาชีพ

แบ่งเป็นบทบัญญัติในการประกอบอาชีพของบุคคลล้มละลายเป็น 4 ลักษณะ ได้แก่ 1) ห้ามดำรงตำแหน่งสำคัญ 2) ห้ามดำรงตำแหน่งกรรมการในคณะกรรมการทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน 3) ห้ามรับราชการ และ 4) ห้ามประกอบอาชีพ ซึ่งคณะอนุกรรมการเห็นว่า การกำหนดข้อจำกัดไว้ในกฎหมายหลายฉบับดังกล่าวมีความลักลั่น ไม่มีแนวทางที่ชัดเจน และมีความล้าสมัยใน 4 ประเด็น ดังนี้

1.เหมารวมว่าบุคคลล้มละลายไร้ความสามารถทุกคน ซึ่งเป็นความคิดที่ล้าสมัย เนื่องจากการล้มละลายมีหลายรูปแบบ และการดำรงตำแหน่งหรือการประกอบอาชีพมีความแตกต่างกันทั้งในด้านอำนาจ หน้าที่ ความรับผิดชอบ และผลกระทบต่อบุคคลอื่นหรือประชาชนโดยรวม โดยบางตำแหน่งหรืออาชีพอาจไม่มีความเกี่ยวข้องกับการบริหารด้านการเงินหรือทรัพย์สิน และการเป็นบุคคลล้มละลายมิได้กระทบต่อความสามารถในการทำงาน

2.การล้มละลายไม่ได้เกิดจากพฤติกรรมไม่ดีเสมอไป และการล้มละลายอาจมีสาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกที่ทำให้บุคคลล้มละลายได้ แม้จะดำเนินการอย่างสุจริตและใช้ความระมัดระวังอันสมควรแล้วก็ตาม ทั้งนี้ ยังไม่มีผลการวิจัยที่เป็นรูปธรรมชัดเจนว่าบุคคลซึ่งล้มละลายแล้วจะกระทำการทุจริตทุกคน

3.การกำหนดข้อจำกัดในการดำรงตำแหน่ง และการประกอบอาชีพของบุคคลล้มละลายไม่เป็นประโยชน์และไม่คุ้มค่า เนื่องจากเจ้าหนี้ไม่ได้รับประโยชน์จากการที่ลูกหนี้ไม่มีรายได้และภาครัฐต้องเสียบุคลากรโดยไม่จำเป็น

4.การกำหนดข้อจำกัดดังกล่าวขัดต่อหลักสากลในเรื่องการเคารพสิทธิของบุคคลและการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมด้วยเหตุของฐานะทางเศรษฐกิจ และยังอาจเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญอีกด้วย

อ่านเพิ่มเติมที่ : https://www.matichon.co.th/politics/news_3482278

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: