“รถป้ายแดง” แบบใหม่ มีอะไรเปลี่ยนไปจากเดิม เช็ครายละเอียดเลย





จากกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) ล่าสุด มีมติเห็นชอบ แนวทางการควบคุม ใบอนุญาต สมุดคู่มือประจำรถและเครื่องหมายพิเศษ หรือ “รถป้ายแดง” ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ เพื่อให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และลดปัญหาการหลีกเลี่ยงการใช้รถโดยไม่จดทะเบียน โดยออกเป็นร่างกฎกระทรวงฉบับใหม่

กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอและการออกใบอนุญาตขับรถยนต์หรือให้ผู้อื่นขับรถยนต์ที่มีไว้เพื่อขายหรือเพื่อซ่อม (ป้ายแดง) และกำหนดแบบใบอนุญาตสมุดคู่มือประจำรถ และลักษณะป้ายแดง

โดยกำหนดอายุของใบอนุญาตและเงื่อนไขให้ผู้ได้รับใบอนุญาตต้องรายงานการใช้ป้ายแดง ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์

สำหรับรายละเอียดของข้อกฎหมายมีการกำหนดลักษณะของรถยนต์ที่จะติดป้ายแดง ต้องปฏิบัติดังนี้

1.ลักษณะเครื่องหมายพิเศษ (ป้ายแดง) ปรับขนาดแผ่นป้ายให้มีขนาดกว้าง 15 ซม. ยาว 30 ซม. (เดิม 34 ซม.)

2.แผ่นป้ายแบบใหม่จะแบ่งเป็น 3 บรรทัด จากเดิม 2 บรรทัด ประกอบด้วย

  • บรรทัดที่ 1 ประกอบด้วยตัวเลขประจำหมวดตัวที่1 ตัวอักษรประจำหมวดตัวที่2 และหมายเลขทะเบียนไม่เกิน 4 หลัก (เดิมประกอบด้วยตัวอักษรบอกหมวด ขีดตามทางยาวและตามด้วยตัวเลข)
  • บรรทัดที่ 2 เป็นตัวอักษรบอกชื่อจังหวัด เว้นแต่กรณี อำเภอเบตง จังหวัดยะลาให้ใช้คำว่า เบตง
  • บรรทัดที่ 3 เป็นตัวอักษร “เพื่อขายหรือซ่อม”

3.ปรับปรุงใบอนุญาต สมุดคู่มือประจำรถและลักษณะเครื่องหมายพิเศษ ให้เป็นปัจจุบัน และมีความชัดเจนยิ่งขึ้น และกำหนดให้ในการออกใบอนุญาตให้นายทะเบียนออกเครื่องหมายพิเศษหนึ่งคู่ ซึ่งมีหมายเลขเดียวกันและสมุดคู่มือประจำรถ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

  • แบบใบอนุญาตขับรถยนต์หรือให้ผู้อื่นขับรถยนต์ที่มีไว้เพื่อขายหรือเพื่อซ่อม มีการเพิ่มข้อมูลเลขบัตรประจำตัวประชาชนหรือเลขทะเบียนนิติบุคคลและอีเมลของผู้ได้ใบอนุญาต ระบุวันสิ้นสุดอายุใบอนุญาตไว้อย่างชัดเจน รวมทั้งตรากรมการขนส่งทางบกเป็นพื้นหลังใบอนุญาต
  • สมุดคู่มือประจำรถ เพิ่มคิวอาร์โค้ด เพื่อให้สามารถตรวจสอบว่ากรมการขนส่งทางบกเป็นผู้ออกสมุดคู่มือประจำรถนั้นๆ

4.กำหนดเงื่อนไขการใช้และการรายงานข้อมูลการใช้เครื่องหมายพิเศษของผู้ได้รับใบอนุญาตต้องปฏิบัติ ดังนี้

  • ติดเครื่องหมายพิเศษ(ป้ายแดง) ที่ด้านหน้าและท้ายรถด้านละ 1 แผ่นให้สามารถมองเห็นชัดเจน
  • จัดทำรายงานการใช้เครื่องหมายพิเศษในระบบอิเล็กทรอนิกส์ทุกครั้งที่มีการหมุนเวียนไปใช้กับคันอื่น ตามที่กรมขนส่งทางบกกำหนด โดยหากผู้รับใบอนุญาตไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขนายทะเบียนมีอำนาจพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตได้

5.กำหนดอายุของใบอนุญาต สมุดคู่มือประจำรถ และป้ายแดงให้ชัดเจน (จากเดิมไม่ได้กำหนดไว้) โดยกำหนดทั้ง 3 เรื่อง มีอายุ 5 ปี นับแต่วันออกใบอนุญาต โดยการขอใบอนุญาต กรณีใบอนุญาตเดิมสิ้นอายุ ให้ยื่นคำขอพร้อมหลักฐานล่วงหน้าไม่เกิน 3 เดือน ก่อนวันที่ใบอนุญาตเดิมสิ้นสุด

6.กำหนดเหตุที่ใบอนุญาตสิ้นสุดตามกรณี ดังต่อไปนี้

  • ใบอนุญาตครบ 5 ปี นับแต่วันออกใบอนุญาต
  • ผู้ได้รับอนุญาตตายหรือสิ้นสภาพนิติบุคคล
  • ผู้ได้รับอนุญาตเลิกประกอบกิจการ
  • กรมขนส่งทางบกเพิกถอนใบอนุญาต ซึ่งในกรณีที่ใบอนุญาตสิ้นสุด ผู้ได้รับอนุญาตต้องคืนใบอนุญาต เครื่องหมายพิเศษและสมุดคู่มือประจำรถภายใน 15 วันนับแต่วันที่ใบอนุญาตสิ้นสุด

7.กำหนดเงื่อนไขการขอใบแทน ใบอนุญาต สมุดคู่มือประจำรถและเครื่องหมายพิเศษ กรณีสูญหายหรือชำรุดในสาระสำคัญ โดยกำหนดให้ผู้ได้รับอนุญาตยื่นคำต่อนายทะเบียนภายใน 15 วันนับแต่วันทราบการสูญหายหรือชำรุด

8.บทเฉพาะการ กำหนดให้บรรดาใบอนุญาต สมุดคู่มือประจำรถและเครื่องหมายที่จัดทำไว้แล้วก่อนวันที่กฎกระทรวงมีผลบังคับ ซึ่งนายทะเบียนจะออกให้หรือได้ออกให้แล้วแก่ผู้ได้รับใบอนุญาตให้ใช้ได้ต่อไปไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ

ทั้งนี้กระทรวงคมนาคม รายงานว่า การยกร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ขึ้น เพื่อเป็นการปรับปรุงกฎกระทรวงเดิมที่มีการใช้บังคับมานานแล้ว เช่น การไม่กำหนดอายุของใบอนุญาตขับรถยนต์หรือให้ผู้อื่นขับรถยนต์ที่มีไว้เพื่อขายหรือเพื่อซ่อม ทำให้ทางราชการไม่สามารถรู้ได้ว่าผู้ได้รับใบอนุญาตยังประกอบกิจการอยู่หรือไม่ ซึ่งข้อเท็จจริงมีผู้ประกอบการจำนวนมากเลิกประกอบกิจการ

แต่กฎกระทรวงดังกล่าวไม่ได้มีบทบัญญัติให้มาแจ้งเลิกกิจการกับนายทะเบียน เป็นเหตุให้ผู้ได้รับใบอนุญาตไม่ยอมคืนสมุดคู่มือประจำรถและเครื่องหมายพิเศษกับทางราชการ ซึ่งเป็นช่องทางให้นำสมุดคู่มือประจำรถ และเครื่องหมายพิเศษไปใช้อย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เป็นสาเหตุหนึ่งของการหลีกเลี่ยงการจดทะเบียนรถหรือใช้รถโดยไม่เสียภาษีประจำปี ทำให้รัฐต้องสูญเสียรายได้ในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก

รวมถึงอาจเป็นช่องทางนำรถดังกล่าวไปใช้ในการกระทำผิดซึ่งยากแก่การตรวจสอบสืบหาเจ้าของรถ ก่อให้เกิดปัญหาความสงบเรียบร้อยของสังคม นอกจากนี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนนโยบายรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ของรัฐบาล จึงเพิ่มเติมหลักการให้การขอและการออกใบอนุญาตขับรถยนต์ หรือให้ผู้อื่นขับรถยนต์ที่มีไว้เพื่อขายหรือเพื่อซ่อม สามารถดำเนินการด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ด้วย

สำหรับขั้นตอนต่อไป หลังจากผ่านการเห็นชอบจากครม.แล้ว จะส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงคมนาคม รับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

 

ข่าวจาก : thansettakij

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: