อดีต กสทช.แนะรัฐบาล เก็บเงิน “เฟซบุ๊ก ไลน์ ติ๊กต็อก” ตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาหมู่บ้าน





วันที่ 17 ก.ค. นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง “กองทุนพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลหมู่บ้าน” โดยมีรายละเอียด ดังนี้

นับตั้งแต่มีการพัฒนาระบบโครงข่ายโทรคมนาคมในประเทศไทย ตั้งแต่ 2G เป็น 3G 4G และ 5G เป็นประเทศแรกในอาเซียน การใช้งานอินเทอร์เน็ตของคนไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดดมาตลอด

ปัจจุบันข้อมูลจากรายงานการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (The Sustainable Development Report 2022 ) ชี้ว่าคนไทยเข้าถึงระบบอินเทอร์เน็ต 57 ล้านคน จากจำนวนประชากรทั้งประเทศ 66 ล้านคน มีจำนวนเลขหมายโทรศัพท์ใช้งาน 92.33 ล้านเลขหมาย

ในจำนวน 57 ล้านคนนี้ มีผู้ใช้สมาร์ทโฟนคิดเป็นสัดส่วน 71 เปอร์เซ็นต์

การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและสมาร์ทโฟนอย่างแพร่หลาย นำมาสู่การเติบโตของแพลตฟอร์มโซเซียลมีเดีย ที่แข่งขันให้บริการหลายเจ้าทั่วโลก คนไทยราวๆ 51 ล้านคนติดต่อสื่อสารผ่านแพลตฟอร์มเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น เฟซบุ๊ก ไลน์ แมสเซนเจอร์ ติ๊กต็อก อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ กูเกิลและยูทูบ ที่เราคุ้นเคยกันดี ผู้เชี่ยวชาญเรียกบรรดาแพลตฟอร์มนี้ว่า “Over The Top” (OTT) หรือ “การให้บริการเหนือโครงข่าย”

แพลตฟอร์มทั้งหมดนี้เป็นของต่างชาติ แต่ใช้โครงข่ายโทรคมนาคมของไทย ซึ่งถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เหมือนๆ กับ ถนน ไฟฟ้า สนามบิน ท่าเรือ เป็นต้น ต้องใช้เงินลงทุนนับเป็นมูลค่าหลายแสนล้านบาท เงินเหล่านี้มาจากภาษีของประชาชนบ้างและบางโครงสร้างพื้นฐาน ภาคเอกชนไทยเป็นผู้ลงทุนแทนรัฐ

ขณะเดียวกัน แพลตฟอร์ม โชเชียลมีเดียเหล่านี้ เก็บเกี่ยวผลกำไรแต่ละปีมีจำนวนมหาศาล โดยปัจจุบัน ยังไม่ต้องจ่ายเงินใดๆให้กับรัฐและประชาชนของประเทศนั้นๆ เมื่อปีที่แล้ว บริษัทเมตา(Meta) เจ้าของ FaceBook มีรายได้สุทธิ 10,285 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นเงินไทยตกราวๆ 370,000 ล้านบาท ส่วน TikTok กวาดรายได้จากการให้บริการทั่วโลกกว่า 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 145,000 ล้านบาท

ตามหลักการ การที่บริษัทเอกชนดำเนินการแสวงหากำไร โดยใช้โครงสร้างพื้นฐานของรัฐ บริษัทเหล่านี้ควรมีหน้าที่จ่ายเงินให้กับรัฐในอัตราที่เหมาะสม ในกรณีของไทย แพลตฟอร์มโซเซียลมีเดียที่ใช้โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมของไทย ก็ควรจ่ายเงินให้กับรัฐไทย ผมขอเรียกเงินที่ต้องจ่ายนี้ว่าเป็น “ค่าใช้โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมของประเทศ”

วิธีการจัดเก็บเงินจากแพลตฟอร์มต่างชาติ อาจทำผ่านกระบวนการ ตรวจวัดปริมาณทราฟฟิกหรือปริมาณข้อมูลที่วิ่งเข้า-ออกเกตเวย์ โดยนำขนาดของทราพฟิกมากำหนดเป็นขนาดธุรกิจ ขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก และคำนวณอัตราที่เรียกเก็บตามรายได้ของขนาดธุรกิจ “ถ้าทราฟิกใหญ่มาก มียูสเซอร์เป็นล้านคน ก็เก็บเงินมาก ถ้าทราฟิกขนาดเล็ก ก็เก็บเงินน้อยลงตามสัดส่วน”

ข้อเสนอนี้ แตกต่างจากเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มกับแพลตฟอร์มผู้ให้บริการต่างประเทศหรือ Vat for e-service ที่กรมสรรพากรเริ่มเก็บเมื่อปีที่แล้ว เพราะการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม”เป็นการผลักภาระให้ผู้บริโภคไทย ต้องจ่ายภาษี โดยที่แพลตฟอร์มเหล่านี้ไม่ได้ควักกระเป๋าตังค์จ่ายให้รัฐไทยแม้แต่น้อย เพราะไปบวกค่าภาษีเข้ากับค่าบริการแล้ว” แม้รัฐจะได้เงินภาษีมาบริหารประเทศ แต่ผู้แบกรับภาระภาษีคือประชาชนไทย ไม่ใช่แพลตฟอร์มที่เข้ามาใช้โครงสร้างพื้นฐานไทย

ตามข่าวบอกว่า แพลตฟอร์มต่างชาติที่ลงทะเบียนในไทยมีทั้งหมด 127 ราย ช่วงระหว่างเดือนตุลาคม 2564- มีนาคม 2565 แพลตฟอร์มดังกล่าว ทำรายได้รวมแล้ว 60,874 ล้านบาท กรมสรรพากรเก็บแวตเข้าคลัง 4,261 ล้านบาท

แนวคิดการเรียกเก็บค่าใช้โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมนี้ เป็นกระแสที่ได้รับการยอมรับในโลกมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่เพียงแค่ไทย ปัจจุบันสหภาพยุโรปมองว่า บรรดาบริษัทที่สร้างแพลตฟอร์มดิจิทัล แม้ไม่ได้อยู่ในอียู แต่ก็ถือว่าเป็นบริษัทมีตัวตนทางดิจิทัล (digital presence) และถ้าบริษัทเหล่านี้อยู่ในข่ายทำรายได้ในอียูมากกว่า 7 ล้านยูโรต่อปี หรือมีผู้ใช้งาน(user) มากกว่า 1 แสนคนต่อปี ก็มีหน้าที่ต้องเสียภาษีให้อียู

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการอียูกำลังร่างกฎหมายเก็บภาษีดิจิทัล คาดการณ์ว่าถ้ากฎหมายมีผลบังคับใช้แล้วและเก็บภาษีดังกล่าวที่อัตรา 3% จะทำให้สมาชิกอียู มีรายได้กว่า 5 ล้านล้านยูโรต่อปีภาษีหรือประมาณ 186.25 ล้านล้านบาท

สำหรับความกังวลที่ว่าหากเก็บค่าใช้โครงสร้างพื้นฐานนี้แล้ว แพลตฟอร์มต่างชาติซึ่งมีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จะหยุดหรือลดการให้บริการในไทยนั้น ผมคิดว่าเป็นไปได้ยาก เพราะข้อเสนออัตราจำนวนเงินที่รัฐจะเรียกเก็บ นับเป็นสัดส่วนที่ต่ำ เมื่อเทียบกับฐานรายได้ของแพลตฟอร์มเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย ที่ความนิยมใช้บริการสูงมาก นอกจากนี้ หากในอนาคต ประเทศอื่นๆ เริ่มเก็บเงินดังกล่าวในลักษณะเดียวกัน เช่นที่เราจะเห็นในอียู การที่ไทยเรียกเก็บเงินเหล่านี้ ก็ไม่ทำให้ต้นทุนการดำเนินธุรกิจในไทยสูงกว่าประเทศอื่นแต่อย่างใด

ถ้าเรายอมรับในหลักการเรื่องการเก็บค่าใช้โครงพื้นฐานแล้ว คำถามสำคัญที่ตามมาคือ จะนำรายได้นี้ไปใช้จ่ายอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนไทย

วิธีหนึ่งที่ผมสนับสนุนคือ การจัดตั้ง “กองทุนพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลหมู่บ้าน” ซึ่งมีหน้าที่พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจดิจิทัลในระบบฐานรากจากหมู่บ้านให้เข้มแข็งสู่ระดับประเทศ หน้าที่หนึ่งของกองทุนนี้ซึ่งสำคัญอย่างยิ่งยวด” คือการเพิ่มทักษะทางด้านดิจิตัลให้กับเยาวชนและคนในชุมชน เพื่อให้สามารถปรับตัวและมีงานที่ดี ในยุคที่โลกและไทยกำลังเข้าสู่ความเป็นดิจิทัลมากขึ้นเรื่อยๆ” เงินเหล่านี้ไม่ใช่เงินอัดฉีดชั่วคราว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่ทำเพื่อช่วยพัฒนารากฐานทางเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ลองนึกภาพดู เรามี 72,035 หมู่บ้านทั่วประเทศ ถ้ามี ”กองทุนพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล” อย่างเป็นระบบ มีเป้าหมายชัดเจนเพื่อประโยชน์ของประชาชน และมีการขับเคลื่อนไปพร้อมๆกัน รากฐานของเศรษฐกิจไทยด้านดิจิทัลก็จะเข้มแข็งขึ้นอย่างมาก และคนไทยก็จะมีความพร้อมและได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากกระแสดิจิทัลของโลก “ไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลังครับ”

 

ข่าวจาก : มติชน

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: