“กลุ่มหมอ” ร้อง “กมธ.แรงงาน” ทำงานเกิน100 ชม./สัปดาห์ ขอพัก8ชม.หวั่นอันตรายต่อคนไข้





เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ที่รัฐสภา สมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน (สพง.) นำโดยพญ.ชุตินาถ ชินอุดมพร ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมาธิการ (กมธ.) แรงงาน สภาผู้แทนราษฎร โดยมีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เป็นตัวแทนรับหนังสือ เพื่อร้องขอความเป็นธรรมเรื่องชั่วโมงการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์

โดยพญ.ชุตินาถ กล่าวว่า ที่มายื่นหนังสือในวันนี้เพื่อขอกำหนดชั่วโมงการทำงาน เนื่องจากปัจจุบันนี้บุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งรวมถึง พยาบาล นักเทคนิคการแพทย์ และสาขาอื่นๆ ที่อยู่ในระบบบริการสุขภาพไทย มีปัญหาเรื่องชั่วโมงการทำงานเนื่องจากต้องทำงานหนัก คือทำงานหนักมากกว่า 100 ชั่วโมง โดยที่ทำงานติดต่อกันและไม่มีเวลาพักผ่อน โดยที่ผลกระทบดังกล่าว ทำให้เสียส่งผลกระทบถึงสุขภาพ ทำให้แพทย์หลายคนต้องลาออก และทำให้เราต้องสูญเสียบุคลากรทางการแพทย์ไปจำนวนมาก นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบกับชีวิต คนไข้ที่เราต้องดูแล โดยเราไม่สามารถดูแลผู้ป่วยให้มีประสิทธิภาพได้มากพอหลังจากที่เราไม่ได้นอนติดต่อกัน เกิน 100 ชม. ซึ่งเราไม่อยากให้ชีวิตคนไข้สูญเสีย ปัญหาที่เราสามารถป้องกันได้

พญ.ชุตินาถ กล่าวต่อว่า เรามีข้อเรียกร้องเบื้องต้น 3 ข้อคือ 1.หลังจากที่ลงเวรดึก คือการทำงานตั้งแต่ 00.00 – 08.00 น.และหลังจากทำงานติดต่อกัน 24 ชั่วโมง รวมทั้งขอชั่วโมงการทำงานไม่เกิน 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพื่อให้ร่างกายมีความพร้อมในการปฏิบัติงานในวันต่อไป และลดโอกาสความผิดพลาดในการปฏิบัติงานที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วย รวมถึงเพื่อรักษาสุขภาพของบุคลากรเองด้วย

ด้าน นายพิธา กล่าวว่า เมื่อนำระบบสาธารณสุขของไทยไปเปรียบเทียบกับความเป็นสากลจะเห็นได้ชัดว่าการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์เป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข และต้องปรับโครงสร้างระบบสาธารณสุขให้มีระบบการบริการปฐมภูมิ (Primary Care) ในการคัดกรองผู้ป่วยเบื้องต้นเพื่อไม่ให้งานทุกอย่างมาอยู่ที่แพทย์ผู้ปฏิบัติงานเพียงอย่างเดียว ทั้งนี้ จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาในชั้น กมธ.ในสัปดาห์หน้า ซึ่งนายสุเทพ อู่อ้น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก.ก. ในฐานะประธานกมธ. ได้รับเรื่องดังกล่าวไว้เรียบร้อยแล้ว

 

ข่าวจาก : มติชน

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: