“ม็อบชาวนา” ปักหลักรอ มติ ครม.แก้ปัญหาหนี้สินจากการทำการเกษตร โวยรัฐดองปัญหา





“ม็อบชาวนา” ปักหลักรอความชัดเจน “มติ ครม.” แก้ปัญหาหนี้สินจากการทำการเกษตร โวยรัฐ รู้ต้นทุนการทำนาเท่าไหร่ แต่ทำไมยังปล่อยให้ราคาข้าวขาดทุนจนชาวเป็นหนี้

วันที่ 10 มี.ค. 65 ที่หน้ากระทรวงการคลัง การชุมนุมของกลุ่มเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย หรือ “ม็อบชาวนา” จาก 36 จังหวัด ที่ปักหลักเพื่อเรียกร้องให้เเก้ปัญหาหนี้สินทางการเกษตรกองทุนฟื้นฟู แก่ลูกหนี้ธนาคารรัฐ 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME BANK) โดยให้โอนสู่กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ได้ดำเนินเข้าสู่วันที่ 43 นับตั้งแต่วันที่ 24 ม.ค. ที่ผ่านมา

สำหรับข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ประกอบด้วย 1. ขอให้สถาบันการเงินเจ้าหนี้ชะลอการฟ้องบังคับคดียึดทรัพย์ขายทอดตลาดทรัพย์สินของสมาชิก เร่งดำเนินการโอนหนี้สินเข้าสู่กระบวนการการจัดการหนี้สินของสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) พร้อมกับขยายเพดานวงเงินการซื้อหนี้ NPA จาก 2.5 ล้านบาทขยายเป็น 5 ล้านบาทเสนอเข้าสู่เข้ามติ ครม.

2. ขอให้ลดหนี้ปลดหนี้ให้กับเกษตรกร สมาชิก กฟก. กรณีที่ตาย พิการ ทุพพลภาพ ชราภาพ เจ็บป่วย เป็นโรคเหลือไม่เกิน 25 เปอร์เซ็นต์ตามพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรที่ได้บัญญัติไว้ช่วยเหลือเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ (กฟก.)

และ 3. ขอให้ตรวจสอบปัญหาทุจริตคอรัปชั่นพร้อมกับปฏิรูปการบริหารงานของสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) ขึ้นราคาพืชผลการเกษตรถูกลงทุกวัน แต่ราคาปุ๋ยกลับแพงขึ้น ประชาชนที่เดือดร้อนที่ทำเกษตรกรจึงขอเรียกร้องต่อรัฐบาลให้ช่วยเหลือและเยียวยารวมถึงพักชำระหนี้

สำหรับบรรยากาศวันนี้ พบว่ายังคงมีกลุ่มผู้ชุมนุมจำนวนหนึ่ง ปักหลักที่หน้ากระทรวงการคลัง แม้วานนี้ (9 มี.ค.) จะมีตัวแทนรัฐบาลอย่าง นายไชยยศ จิรเมธากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์​​ เป็นผู้รับยื่นหนังสือที่หน้ากระทรวงการคลังเพื่อส่งต่อถึงนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มารับข้อเรียกร้องดังกล่าว พร้อมรายชื่อกว่า 30,000 รายชื่อ ที่ระดมจาก change.org แล้วก็ตาม โดยผู้ชุมนุมยังรอความชัดเจนดังกล่าวจนถึง วันอังคารที่ 22 มี.ค.นี้ ซึ่งคาดว่า เป็นวันที่นำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่วาระการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.)

ด้าน ชรินทร์ ดวงดารา ที่ปรึกษาเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์กับข่าวสดว่า การชุมนุมตลอดทั้ง 43 วันที่มาเรียกร้องของ “ม็อบชาวนา” นั้นยาวนานมาก สำหรับคนที่ต้องมานานสูดควัน ฝุ่นข้างถนน อากาศเสียของกรุงเทพฯ ครึ่งม็อบของเราป่วยด้วยสภาพอากาศที่ย่ำแย่ แพ้อากาศ ซึ่งไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น มันไม่น่าที่จะให้มนุษย์กลุ่มหนึ่ง มาลำบากกับข้อเรียกร้องเช่นนี้

แต่ถ้ามองในแง่ระบบราชการไทย ถือว่าไม่ช้า แต่เรื่องที่เรามาเรียกร้องในวันนี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่เลย หลายฝ่ายที่เป็นหน่วยงานรัฐ เห็นชอบร่วมกันแล้ว โดยเฉพาะคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯ ก็ได้เห็นชอบเรื่องดังกล่าว ตั้งแต่ 2 เมษายน 2564 ซึ่งตามหลักต้องเข้า ครม.ภายใน 60 วัน แต่ก็ถูกลากยาวมาถึง 10 เดือน จนถึง 24 ม.ค. ไร้ความคืบหน้า

เราจึงมาเรียกร้องอีกครั้งใหม่ ในวันที่ 24 ม.ค. เหมือนนับ 1 ใหม่ เหมือนกลุ่มผู้ชุมนุมมาช่วยยกร่าง มติ ครม.ใหม่อีกครั้งหนึ่งเลย ทั้ง ๆ ที่มันควรจะเป็นหน้าที่ของหน่วยงานราชการผู้รับผิดชอบโดยตรง ซึ่งหากนับตั้งแต่วันที่ 24 ม.ค. ถึงความคืบหน้าล่าสุด ถือว่าไม่ช้า เพราะหากนับ 1 จากที่ ครม.จะมีมติไม่น้อยกว่า 3 เดือน เราพอยอมรับได้

ชรินทร์ กล่าวต่อว่า เราจึงถามพี่น้องชาวนาว่าไหวหรือไม่ พวกเขายังรอไหว เพราะกลับบ้านไปก็ยังไม่มีอนาคต ไปบ้านเจอหมายฟ้อง หมายยึดทรัพย์ ขายทอดตลาด พวกเราต้องอยู่ต่อเพื่อทำให้สำเร็จ ถามว่าการรอคอยครั้งนี้คุ้มหรือไม่ เขามองว่าคุ้ม เพราะเขาไม่มีทางอื่นที่จะรักษาที่ดินเขาได้ นอกจากหนทางนี้เท่านั้น โดยหากโอนหนี้จากธนาคารัฐมาอยู่ในกองทุนฯ เมื่อไหร่ทุกอย่างมันก็จบ

“ถ้ารัฐบาลตระหนัก และคิดว่าจะต้องรับผิดชอบเรื่องดังกล่าว ถ้าทำจริง ๆ อาจจะใช้เวลาไม่เกิน 1 อาทิตย์ด้วยซ้ำ” ชรินทร์ ตัวแทนกลุ่มผู้ชุมนุม กล่าว

เมื่อถามว่า มีคนจำนวนหนึ่งในสังคมมองว่า สาเหตุที่ทำให้ชาวนาเกิดปัญหาหนี้ดังกล่าว เกิดจากเกษตรกรไม่ยอมลดต้นทุน และ ตัวเกษตรกรนั้นมีความฟุ่มเฟือย ตัวแทนม็อบชาวนารายนี้ กล่าวว่า เราอยากถามเขากลับว่า จะผลิตสินค้าสักชิ้น ต้องดูต้นทุนก่อนหรือไม่ ต้นทุนกับราคาที่ขายต้องสัมพันธ์กัน ต้องมีกำไรเหลือ แต่เกษตรกรทำแบบนั้นไม่ได้ เกษตรกรทุกคนลดต้นทุนแบบสุดเพดานแล้ว ไม่มีใครอยากใส่ปุ๋ยฉีดยามาก เพราะมันแพง โดยต้นทุนทำนาทุกวันนี้ต่อตัน 8,500 บาท แต่ชาวบ้านขายข้าวได้ 6,000 กว่าบาท ซึ่งหากย้อนไปเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว มีต้นทุนทำนาเพียง 6,500 บาท ต่อตันเท่านั้น

ถ้าไม่ให้ทำนาแล้วจะให้เราไปทำอะไร จะให้ไปปลูกอย่างอื่นแทน เช่น มัน หรือสับประรด ถ้ามันง่ายอย่างนั้น ก็คงไม่มีหนี้กันหรอก เกษตรทุกสาขาอาชีพ ขาดทุนกันหมด ขนาดอ้อยราคาสูงสุด 1,200 แต่ต้นทุน 1,500 โดยเฉพาะหลังรัฐประหาร 2557 ราคาข้าวไม่เคยขึ้นเลย ยกตัวอย่างตนเองทำนาอยู่ 50 ไร่ ปีที่แล้วได้ข้าว 45 ตัน ได้ตันละ 5,800 บาท ถ้าตัดความชื้น ไม่ทำก็ไม่ได้

“หากสมมติผมไม่ทำนา ไปปลูกผัก ถามว่าต้นทุนปลูกผักเท่าไหร่ ต้องขุดร่องยกแปลง เรามักจะคิดง่ายๆ แล้งก็ไปปลูกหมามุ่ย หน้าน้ำไปเลี้ยงปลา มันง่าย แต่ถามว่าทำได้มั้ย เลี้ยงปลานี่มันง่ายมั้ยหละ ถ้าเราเปลี่ยนอาชีพ ก็คือการเริ่มต้นใหม่ ลุงทุนหนักเข้าไปอีก ถ้าผมไปกู้เขาอีกเพื่อจะมาปลูกผัก บอก ธกส.แล้วว่าจะไม่ทำนา ขอกู้ 5 แสนมาปลูกผักแทนได้ไหม เขาไม่ให้กู้นะ เพราะเขาไม่เชื่อ” ชรินทร์ กล่าว

“ถ้าถามว่าทำไมชาวนาไม่เปลี่ยนอาชีพ รู้ว่าขาดทุนทำไมไม่หยุด หยุดเขาก็ฟ้องสิ กู้เงินมาทำนาแล้วเขาไม่ทำ ธกส.ฟ้องเราเลย เพราะเขาถือว่าเราไม่มีอาชีพและรายได้ เป็นชาวนานี่เหนื่อยมาก”

เมื่อถ้าย้ำถึงมายาคติ ที่สังคมมองว่า “เพราะชาวนาฟุ่มเฟือย จึงเป็นหนี้” หนึ่งในตัวแทนม็อบชาวนาตอบเราว่า ทัศนะแบบนี้จะมาจากคน 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ไม่เข้าใจจริง ๆ กับ คนที่มีอำนาจรับผิดชอบแล้วปัดความผิดให้ชาวนา โยนความผิดเป็นของชาวนา เพราะจะได้ไม่ต้องรับผิดชอบอะไร ทำไมรัฐบาลปล่อยให้ราคาข้าวเป็นแบบนี้ รัฐบาลเอง ก็เป็นคนทำต้นทุนออกมาข้าว 1 เกวียน ต้องใช้เงิน 8,500 บาท คุณนั่งดูราคาข้าว 6,000 อยู่ได้อย่างไร อย่างนี้เป็นต้น

สาเหตุที่แท้จริงของการเป็นหนี้คือการทำนาทำไร่แล้วขาดทุน ไม่ใช่เขาฟุ่มเฟือย เมื่อก่อนหนักกว่านี้อีก ด่าว่าชาวนาขี้เกียจ ผมอยากจะถามกลับเหมือนกันว่า มันมีคนกลุ่มไหนที่ออกจากบ้านตั้งแต่ก่อนพระอาทิตย์ขึ้น ยันหลังพระอาทิตย์ตก ไม่มีหรอก แล้วเราขี้เกียจเหรอ เมื่อก่อนว่าเราเอาเงินไปซื้อรถซื้อมือถือ เอาง่าย ๆ แค่มือถือวันนี้เป็นความจำเป็นอย่างหนึ่งหรือไม่ พวกเขามีใช้แค่ไว้ติดต่อสื่อสาร อย่างน้อยเอาไว้บอกแขกที่จะมาช่วยเกี่ยวข้าว ใช้ติดต่อในเรื่องที่เกี่ยวการทำนาของเขา ก็แค่นั้นเอง

เมื่อถามว่า วานนี้ มีตัวแทนรัฐบาลมารับหนังสือในรอบนี้ มีความหวังหรือไม่ ตัวแทนม็อบชาวนาตอบว่า รอบนี้พอมีความหวัง เพราะเราคุยกับผู้เกี่ยวข้องหมดแล้ว โดยคาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการประมาณ 2 สัปดาห์ ที่ต้องถามหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งต้องรอตอบมาเป็นหนังสือ ตามแบบฉบับระบบราชการ ตนก็งงว่ายกโทรศัพท์คุยกันไม่ได้กันหรือยังไงไม่รู้ แต่เรารอได้ ถ้า 22 มี.ค. จะมีมติ ครม. ผ่านเรื่องดังกล่าวจริง เพราะเรารอมาถึงขนาดนี้แล้ว และปัญหาของพวกเรามันหนักหนาสาหัสจริง ๆ

 

“ผมลองไปดูคอมเมนต์ของประชาชนที่สนับสนุนการเรียกร้องของเรา โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ในทวิตเตอร์ ผมอ่านแล้วน้ำตาซึม เราถือว่าเป็นความสำเร็จในการเคลื่อนไหวของเรา ถ้าเทียบกับเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ที่เราเคลื่อนไหว มีแต่คนด่าว่าขวางถนน วันนี้พวกเขาข้าวมาให้เรากิน เอาน้ำมาให้ โดยที่เราไม้ได้เรียกร้อง และบวกกับ กระแสที่คนมาลงชื่อสนับสนุการเคลื่อนไหวของเราหลายหมื่นคน ก็น่าจะมีผลต่อฝ่ายนโยบายพอสมควร” หนึ่งในตัวแทนม็อบชาวนากล่าว

สำหรับการชุมนุมการของกลุ่มเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย หรือ “ม็อบชาวนา” จาก 36 จังหวัด ยังคงปักหลักเพื่อเรียกร้องให้เเก้ปัญหาหนี้สินที่หน้า ก.คลัง ไปจนถึงเบื้องต้นคือวันที่ 22 มี.ค. นี้ เพื่อรอฟัง มติ ครม.ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวต่อไป

 

ข่าวจาก : ข่าวสด

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: