หมอชี้โควิดไทยเห็นหลักหมื่นอีก 6 สัปดาห์ ยันยังไม่ถึงขั้นอู่ฮั่น โมเดล





หมอชี้โควิดไทยเห็นหลักหมื่นอีก 6 สัปดาห์ ยันยังไม่ถึงขั้นอู่ฮั่น โมเดล วอน ปชช.เวิร์ก ฟรอม โฮม

เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์การฉีดวัคซีนโควิด-19 ของไทย ว่า ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-24 ก.ค.64 ในกลุ่มต่างๆ จะพบว่าในผู้ที่อายุ 60 ปีขึ้นไป ตั้งเป้าหมาย 12.5 ล้านคน ต้องฉีดให้ได้ภายในปีนี้ ปรากฏว่าเราฉีดได้แค่ 2.5 ล้านคนในเข็มที่ 1 คิดเป็น 20% ส่วนเข็มที่ 2 ฉีดได้ 1.3% หรือ 1.6 แสนคน จึงต้องขอให้ลูกหลานพาท่านไปฉีดวัคซีน รวมถึงกลุ่ม 7 โรคเรื้อรังก็ยังฉีดไม่มากในส่วนเข็มที่ 1 เช่นเดียวกัน

นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า สรุปคือ สถานการณ์วันนี้ยังติดเชื้อมาก โดยเฉพาะพื้นที่ระบาดหนัก และมีการกระจายของผู้ติดเชื้อไปยังจังหวัดอื่นๆ ทั้งโครงการกลับไปรักษาตัวที่ภูมิลำเนา หรือกลับไปโดยไม่ทราบ ดังนั้น พื้นที่ระบาดเป็นปัจจัยสำคัญมาก เพราะเราไม่ทราบว่าใครติดเชื้อไปบ้างแล้ว เพราะ 80% ไม่มีอาการ หากไม่ได้ตรวจ หรือตรวจแล้ววันนี้เป็นลบ

พรุ่งนี้อาจติดก็ได้จากการสัมผัสคนอื่น จึงไม่ทราบอยู่ดี ดังนั้น ต้องเข้มมาตรการในการป้องกันโรคที่ยังต้องทำต่อเนื่อง ทำเสมือนคนรอบข้างติดเชื้อแล้ว เพื่อป้องกันเชื้อมาสู่ตัวเอง รวมทั้งเป็นการป้องกันหากตัวเองมีเชื้อ ดังนั้น คนที่เรารู้จัก หรือไม่รู้จักมีความเสี่ยงหมด ทั้งการออกไปซื้อของ การเดินทาง มีปัจจัยเสี่ยงหมด” นพ.จักรรัฐ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อของไทยหลักหมื่นต่อเนื่อง หากควบคุมไม่ได้จะมีความจำเป็นต้องใช้มาตรการอู่ฮั่น โมเดล หรือไม่ โดยคาดว่า ไทยจะอยู่กับตัวเลขรายวันกว่าหมื่นรายอีกนานเท่าไร นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า ขณะนี้มีการประกาศมาตรการตามสถานการณ์ เราพบผู้ป่วยหมื่นรายต่อวัน มาตรการสำคัญคือ งดเดินทางข้ามจังหวัด งดออกจากบ้านหากไม่จำเป็น และทำงานจากบ้านขั้นสูงสุด ซึ่งใกล้เคียงกับอู่ฮั่น โมเดล แล้ว โดยหลักการตอนนี้ คาดว่าคงจะพบผู้ติดเชื้อจำนวนมากเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในต่างจังหวัด ทั้งในครอบครัว และที่เดินทางจากกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พื้นที่ระบาดหนักเพื่อกลับไปรักษา

“หากดูสถานการณ์กรุงเทพฯ จะต่างกับปริมณฑลบ้าง เช่น กรุงเทพฯ ตัวเลขเพิ่มไม่เยอะ รวมถึงเราฉีดวัคซีนมากพอสมควร 50% ดังนั้น โดยสรุป กรุงเทพฯ จะเริ่มเห็นความคงตัวมากขึ้น และจะเห็นแนวโน้มที่ดีขึ้นใน 4-6 สัปดาห์ข้างหน้า ส่วนต่างจังหวัดจะยังพบผู้ติดเชื้อจำนวนมากต่อในระยะนี้

ฉะนั้นต้องร่วมมือกันไม่ให้เราไปถึงอู่ฮั่นโมเดลที่ต้องปิดทุกอย่าง เราอยากให้ทุกคนกลับมาใช้ชีวิตปกติ อย่างเร็วที่สุด ต้องร่วมมือกันลดการกระจายเชื้อ ลดการแพร่เชื้อจากครอบครัวหนึ่งไปสู่ครอบครัวหนึ่ง จากคนหนึ่งไปสู่อีกคนให้มากที่สุด อยู่บ้านให้ได้มากที่สุด เพื่อคนที่เรารัก ลดการเดินทาง และซื้ออาหารอย่างระมัดระวัง สร้างความปลอดภัยให้ตัวเองตลอดเวลา” นพ.จักรรัฐ กล่าว

นพ.จักรรัฐ กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ ขอความร่วมมือโรงงาน สถานประกอบการ รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องต้องเร่งสื่อสาร โดยหากโรงงานไหนยังไม่พบผู้ติดเชื้อให้เร่งศึกษาการควบคุมโรคแบบบับเบิล แอนด์ ซีล (Bubble and seal) เตรียมความพร้อมทั้งหมด และหากโรงงานที่พบผู้ติดเชื้อแล้ว เราเน้นไม่ปิดโรงงาน และป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ชุมชน โดยต้องแยกกลุ่มเสี่ยงต่อการป่วยรุนแรง เช่น มีโรคประจำตัว หรือหญิงตั้งครรภ์ หรือกลุ่มมีความเสี่ยงอื่นๆ

โดยต้องแยกกลุ่มออกจากกัน จัดหาเตียงสนาม/ห้องแยกกัก เป็นต้น การไม่ปิดโรงงาน เพราะมีประสบการณ์ คือ เมื่อปิดโรงงาน หลังจากนั้นการแพร่ระบาดในชุมชนจะตามมาทันที แต่การไม่ปิดโรงงาน สิ่งสำคัญต้องแยกผู้ติดเชื้อให้ได้ จัดระบบควบคุมกำกับ อย่างการเดินทาง หากไปเช้าเย็นกลับต้องมีระบบมั่นใจว่า จะไม่สัมผัสผู้อื่น ที่สำคัญขอให้พักในโรงงานดีที่สุด และต้องไม่กินข้าวร่วมกันในโรงงาน เพราะตรงนี้เป็นปัจจัยเสี่ยงมาก

เมื่อถามถึงปัญหาเรื่องเตียง นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมา ขีดความสามารถในการแพทย์ของไทยมีค่อนข้างจำเป็น ไม่ได้สูงมากเหมือนประเทศฝั่งยุโปร หรืออเมริกาที่แม้จะมีเตียง บุคลากรค่อนข้างมาก แต่ช่วงการระบาดที่ผ่านมาก็รับมือยากมาก ฉะนั้น การเพิ่มเตียง แต่ไม่สามารถผลิตบุคลากรได้ทันในไม่กี่เดือน เมื่อเพิ่มเตียงก็จะต้องกระจายบุคลากรไปทำงานในที่ต่างๆ เป็นภาวระสำคัญที่ไม่สามารถเพิ่มจำนวนเตียงได้มากอย่างที่หลายท่านอยากให้เกิด

“การบริหารให้ผู้ป่วยอาการน้อย ไม่กลายเป็นอาการหนัก ต้องเข้ารพ. ในกลุ่มสีเหลืองหรือแดง ที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ ให้น้อยที่สุดเท่าที่ทำได้ เพื่อให้เหมาะสมกับขีดความสามารถที่เรามีอยู่ในตอนนี้

ซึ่งกทม.และปริมณฑล เรามีข้อจำกัดส่วนนี้ เตียงเต็มมากแล้วจริงๆ ส่วนต่างจังหวัดก็ช่วยผ่อนเบากรุงเทพฯ ได้พอสมควร ตั้งแต่มีการรับผู้ป่วยกลับบ้าน ช่วยได้มาก เพียงแต่การระบาดที่เกิดขึ้นในต่างจังหวัด อาจเป็นภาระของบุคลากรทางการแพทย์ต่างจังหวัดต่อเนื่องหลังจากนี้” นพ.จักรรัฐ กล่าวและว่า เราจึงต้องหยุดการแพร่กระจายเชื้อให้มากที่สุด โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงที่ต้องใช้เตียงและใช้เวลารักษานาน

 

ข่าวจาก : มติชน

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: