‘สภาพัฒน์’ แนะเก็บภาษี ‘กำไรขายหุ้น’ แก้ปัญหารวยกระจุก จนกระจาย






“สภาพัฒน์” เผยความเหลื่อมล้ำไทยยังสูงเมื่อเทียบกับภูมิภาค ชี้คนรวย 10% มีส่วนแบ่งรายได้คิดเป็น 35.5% ของคนทั้งประเทศ แนะรัฐปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ-เก็บภาษี “Capital Gains Tax” จับตาหนี้ครัวเรือนเพิ่มต่อเนื่อง


เมื่อวันที่ 1 มี.ค. นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย ว่า แม้ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา (2531-2560) สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น แต่ถือว่ายังอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาค โดยปี 2560 ประชากร 40% ที่มีรายได้ต่ำสุด มีส่วนแบ่งรายได้เพียง 12% ขณะที่ประชากร 10% ที่มีรายได้สูงสุด มีส่วนแบ่งรายได้สูงถึง 35.5%


ทั้งนี้ หากพิจารณาในแง่สินทรัพย์ทางการเงินและการถือครองที่ดิน พบว่าสินทรัพย์เหล่านี้กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มคนจำนวนน้อย โดยในปี 2561 บัญชีเงินฝากที่มีวงเงินเกิน 10 ล้านบาทขึ้นไป มีเพียง 111,517 บัญชี หรือคิดเป็น 0.1% ของบัญชีทั้งหมด แต่มีวงเงินฝากสูงถึง 52.8% ของวงเงินฝากทั้งหมด ขณะที่บัญชีเงินฝากขนาดเล็ก วงเงินไม่เกิน 10 ล้านบาท มี 84 ล้านบัญชี หรือคิดเป็น 99.9% ของบัญชีทั้งหมด แต่มีวงเงินฝากเพียง 47.2% ของวงเงินฝากทั้งหมด


เช่นเดียวกับการถือครองที่ดิน ซึ่งการศึกษาของ ดร.ดวงมณี เลาหกุล (2556) พบว่าในปี 2555 กลุ่มประชากร ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสูงสุด 10% แรก มีการถือครองที่ดิน 94.86 ล้านไร่ คิดเป็นสัดส่วน 61.5% ของที่จำนวนที่ดินทั้งหมด ขณะที่กลุ่มประชากร ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจต่ำสุด 10% แรก มีการถือครองที่ดินเพียง 68,330 ไร่ คิดเป็นสัดส่วนการถือครองที่ดิน 0.1% หรือมีความแตกต่างกันถึง 853.6 เท่า


สำหรับสาเหตุของความเหลื่อมล้ำมาจาก 5 สาเหตุ คือ 1.โครงสร้างเศรษฐกิจที่ยังคงเอื้อประโยชน์ให้กับเจ้าของทุนมากกว่าแรงงาน 2.โครงสร้างทางภาษีที่ไม่สนับสนุนการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม 3.โอกาสการข้าถึงแหล่งทุนของคนในชนบทยังมีอยู่อย่างจำกัด 4.การกระจายตัวของทรัพยากรไม่มีประสิทธิภาพก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการพื้นฐานของรัฐ และ5.การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมยังมีความเหลื่อมล้ำ


อย่างไรก็ตาม แม้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลจะมีนโยบายในการแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ เช่น การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ การปรับโครงสร้างภาษี อาทิ ออกพ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก ร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง การขยายโอกาสให้ผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงแหล่งทุน การอุดหนุนเงินเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด การจัดให้มีกองทุนเพื่อความเสมอภาคด้านการศึกษา และการจัดทำบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นต้น แต่สภาพัฒน์มีข้อเสนอเพิ่มเติมต่อรัฐบาล 6 ข้อ ได้แก่


1.การสร้างกลไกในการแก้ไขปัญหาความยากจนและลดปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างบูรณาการ


2.การบูรณาการฐานข้อมูลด้านความยากจน และนำมาใช้ในการช่วยเหลือประชากรกลุ่มเป้าหมายแบบเจาะจงอย่างเป็นรูปธรรม


3.การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ โดยมุ่งเน้นการลดความเหลื่อมล้ำ


4.การกำหนดนโยบายการคลังเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น โดยเพิ่มการจัดเก็บภาษีจากฐานทรัพย์สิน เช่น การพิจารณาการจัดเก็บภาษีกำไรส่วนเกินทุน (Capital Gains Tax) และปรับปรุงระบบการจัดเก็บภาษีที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้สามารถจัดเก็บภาษีได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ตลอดจนปรับโครงสร้างการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายภาครัฐ โดยให้ความสำคัญกับการจัดสรรงบประมาณเชิงบูรณาการและเชิงพื้นที่ที่มีการกำหนดเป้หมายเพื่อลดความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม


5.การเพิ่มมาตรการในการยกระดับรายได้ โดยเฉพาะในประชากรกลุ่มเป้าหมาย 40% ที่มีรายได้น้อยที่สุด โดยการพัฒนาทักษะความชำนาญ การจัดสรรเงินทุนเพื่อประกอบอาชีพอย่างทั่วถึง และส่งเสริมทักษะการบริหารเงินเพื่อให้สามารถจัดการรายได้ เงินทุน และหนี้สินอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น และ


6.การเพิ่มมาตรการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ในกระบวนการยุติธรรม


นายทศพร กล่าวว่า ในส่วนของภาวะสังคมไทยไตรมาส 4 และทั้งปี 2561 พบว่า ในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2561 หนี้สินครัวเรือนไทยอยู่ที่ 12.56 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 77.8 ของจีดีพี และในช่วงไตรมาส 4 หนี้สินครัวเรือนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เห็นได้จากยอดคงค้างสินเชื่อรวมเพื่อการอุปโภค บริโภคส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 4 ที่ขยายตัว 9.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัวมากที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 2547


“หนี้สินครัวเรือนขยายตัวในระดับสูงจากสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยขยายตัว 7.8% สินเชื่อเพื่อการเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ขยายตัว 12.6% และสินเชื่อเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลอื่นๆ ขยายตัว 9.5% โดยส่วนหนึ่งเพราะมีการเร่งก่อหนี้ใหม่ในช่วงก่อนการปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยใหม่ ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เม.ย.2562 และการส่งเสริมการขายรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในงาน Motor Expo เมื่อปลายปีแล้ว”นายทศพรระบุ


ขณะที่ความสามารถในการช้าระหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภค เริ่มส่งสัญญาณที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยยอด คงค้างหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพื่อการอุปโภคบริโภค ในไตรมาส 4 ปี 2561 มีมูลค่า 120,213 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นสัดส่วน 2.7% ของสินเชื่อรวม และคิดเป็น 27.1% ต่อ NPLs รวม


เช่นเดียวกับสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับและสินเชื่อบัตรเครดิตมียอดค้างช้าระเกิน 3 เดือนขึ้นไป เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ มีมูลค่า 9,752 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.9% เทียบกับการหดตัว 15.8% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ยอดสินเชื่อผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือนขึ้นไปของสินเชื่อบัตรเครดิต มีมูลค่า 7,583 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.3% เทียบกับการหดตัว 26.2% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน


“หนี้สินครัวเรือนยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วงขาขึ้น อาจส่งผลต่อการขยายตัวของการบริโภคของครัวเรือนในอนาคต ขณะเดียวกัน หากมีปัจจัยมากระทบต่อความสามารถในการหารายได้ อาจส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน ทั้งนี้ ต้องติดตามแนวโน้มการก่อหนี้ประเภทการบริโภคอื่นๆ ซึ่งบางส่วนเป็นการก่อหนี้ที่ไม่จำเป็น และเกิดจากแรงจูงใจจากการส่งเสริมทางการตลาดของผู้ประกอบการ”นายทศพรระบุ


ข่าวจาก : brighttv

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: