รู้ไว้ใช่ว่า! นี่คืออาชีพและเงินเดือนเมื่อ100ปีที่แล้วในไทย!





 

เรื่องโดย : rebmem_pitnap
เว็บไซต์ : https://pantip.com/topic/31335653/

อาชีพ “ครู”

เงินเดือนของครูนั้น ขึ้นกับอายุงานราชการ และความรู้ความสามารถ หากเป็นเด็กใหม่ก็อาจจะยังได้เงินไม่เยอะนัก เช่น “…นายปั้นถวายตัวเป็นมหาดเล็ก เมื่อ พ.ศ. 2426 อายุ 22 ปี เป็นครูในโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ได้เงินเดือน 16 บาท…”

แต่พอมีประสบการณ์ และได้งานตำแหน่งใหม่ก็อาจได้เงินเดือนเพิ่มขึ้น ดังนี้ “…ต่อมานายปั้นได้ถวายการสอนหนังสือแด่พระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 4 พระองค์ ได้เลื่อนขั้นเงินเดือนเป็น 48 บาท…”

นายปั้นที่ว่านี้ก็คือ เจ้าพระยายมราช(ปั้น สุขุม) นั่นเองครับ

 

 

แต่หากเป็นผู้ที่เคยมีประสบการณ์การสอนก็อาจได้เงินเดือนที่สูงตามความรู้ความสามารถ เช่น "…พ.ศ. 2416 พระสารประเสริฐได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นอาจารย์สอนพระราชวงศ์ที่ยังพระเยาว์ และบุตรหลานข้าราชการได้รับพระราชทานเงินเดือนเดือนละ 60 บาท…" 

ทั้งนี้ พระสารประเสริฐเคยรับราชการมาอย่างยาวนาน เคยเป็นครูในโรงเรียนมหาดเล็ก และยังเคยแต่งหนังสือเรียน เช่น มูลบทบรรพกิจ และต่อมาพระสารประเสริฐได้รับเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น"พระยาศรีสุนทรโวหาร ญานปรีชามาตย์บรมนาคนิตยภักดีพิริยะ พาหะ"
 

 

 

มูลบทบรรพกิจ เป็นหนังสือแบบเรียนภาษาไทยสมัยโบราณ

 

 

นอกจากนี้ยังมีตำแหน่ง "ผู้ช่วยแต่งตำราเรียน" สำหรับผู้ที่สนใจอีกด้วย เช่น "…วันที่ 12 มิถุนายน ร.ศ. 121 เป็นวันแรกเข้ารับราชการในตำแหน่งผู้ช่วยแต่งตำราเรียน  นายคำได้รับพระราชทานเงินเดือน เดือนละ 40 บาท…" 

และหากรับราชการมานานเป็นสิบปี เงินเดือนก็อาจจะพุ่งขึ้นเป็นหลายร้อยบาท เช่น

"…พระยาบริหารราชมานพ แรกได้เป็นครูโรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร์ ๔ ปี ต่อมาได้ย้ายไปเป็นครูโรงเรียนมัธยมพิเศษวัดประทุมคงคา ๒ ปี ครั้นเมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เข้ามารับราชการเป็นอาจารย์โรงเรียนมหาดเล็กหลวง ตั้งแต่ยังตั้งอยู่ในพระบรมมหาราชวัง จนได้เลื่อนออกมาตั้งอยู่ที่พระราชวังดุสิต ริมถนนราชวิถี ตลอดจนได้เป็นอาจารย์ปกครองแลผู้บังคับการโรงเรียนนั้น ภายหลังได้เป็นเจ้ากรมโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์เป็นที่สุด รวมเวลาได้รับราชการอยู่ในสำนักกระทรวงศึกษาธิการ ๖ ปี ได้รับพระราชทานเงินเดือนตั้งแต่เดือนละ ๖๕ บาท จนถึงเดือนละ ๑๐๐ บาท และได้รับราชการอยู่ในพระราชสำนัก ๘ ปี ได้รับพระราชทานเงินเดือนเพิ่มขึ้นอีก จนถึงเดือนละ ๖๐๐ บาท …" 

สรุปคือเป็นครูในโรงเรียนมัธยมอยู่ 6 ปี ได้เงินเดือนเพิ่มขึ้นแค่ 35 บาทเอง แต่หลังจากไปเป็นครูในโรงเรียนมหาดเล็ก 8 ปี เงินเดือนก็พุ่งพรวดถึง 600 บาท 

นอกจากนี้ ยังมีชาวต่างชาติที่มารับราชการเป็นครูในสยามเช่นกัน เช่น  "…มิสเตอร์โรเบิตร์ มอรันต์ หรือที่เรียกว่า ครูโรฟ ได้รับเงินพระราชทานค่าจ้างสอนปีละ ๖๐๐ ปอนด์ พร้อมบ้านพักอาศัย (ตกเดือนละ ๕๐ ปอนด์) อย่างไรฏ็ตาม ชะตาชีวิตของครูโรฟ หันเหไปเมื่อเกิดวิกฤตการณ ร.ศ. ๑๑๒ ครูโรฟถูกเลิกจ้างและเดินทางกลับบ้านที่อังกฤษ ไปรับราชการที่ประเทศอังกฤษจนได้รับตำแหน่ง "เซอร์"…" 

Sir Robert Laurie Morant

 

 

แหล่งอ้างอิง
th.wikipedia.org/wiki/เจ้าพระยายมราช_(ปั้น_สุขุม)
http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=rattanakosin225&month=26-06-2007&group=1&gblog=30
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=4915.85;wap2
http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2009/05/K7901430/K7901430.html
http://board.postjung.com/625993.html
http://mulinet3.li.mahidol.ac.th/elib/cgi-bin/opacexe.exe?op=dig&db=MUSIC&pat=code&cat=aut&skin=u&lpp=16&catop=&scid=zzz&ref=A:@710&nx=1&lang=1
th.wikipedia.org/wiki/พระยาอธิกรณ์ประกาศ_(หลุย_จาติกวณิช)
th.wikipedia.org/wiki/เจ้าพระยารามราฆพ_(หม่อมหลวงเฟื้อ_พึ่งบุญ)
http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/K3664087/K3664087.html
th.wikipedia.org/wiki/พระยานรรัตนราชมานิต_(ตรึก_จินตยานนท์)
http://www.vcharkarn.com/vcafe/49906
http://www.prcdd.cdd.go.th/varasan_150prayadumrong/150_prayadumrong.pdf
th.wikipedia.org/wiki/เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์_(หม่อมราชวงศ์เย็น_อิศรเสนา)

ทั้งนี้ เราอาจสงสัยว่าเงินเดือนเพียงแค่ไม่กี่สิบบาทจะไปพอกินพอใช้หรือ ถ้าอยากรู้คำตอบ เราก็ต้องนำไปเทียบกับราคาสินค้าในสมัยนั้น เช่น เมื่อราวปี พ.ศ. 2475 ในหนังสือ “นานาอาชีพโบราณ” บันทึกไว้ว่า

“…ในขณะนั้นปลาทูเข่งละ ๔ ตัว  ราคา ๓ อัฐ    ๑  สตางค์เท่ากับ  ๘  อัฐ     ๑  บาทก็  ๘๐๐  อัฐ…” สรูปคือปลาทูเข่งละ 0.375 สตางค์ หรือ 0.00375 บาท 

 

 

“อาชีพขายก๋วยเตี๋ยว….สมัยก่อนชามละ ๒ สตางค์  จะใส่หมูต้มพร้อมตับเป็นพิเศษ    ค้าขายที่โรงเรียนต้องชามละ  ๑ สตางค์”

 

 

“อาชีพขายถ่าน….สมัยข้าพเจ้าเด็กๆ  เข่งละ ๓  สตางค์     ถ้าชนิดดีหน่อย  คือแข็งแกร่งให้ไฟแรง  เข่งละ  ๕  สตางค์”

“อาชีพ ขายหนังสือพิมพ์……..หนังสือพิมพ์รายวัน   เช่น  สยามราษฎร์   ศรีกรุง   หลักเมือง  ขายฉบับละ  ๓  สตางค์   ส่วนรายสัปดาห์  คือ  เดลิเมล์วันจันทร์  ฉบับละ  ๔  สตางค์”

หนังสือพิมพ์สยามราษฎร์

 

 

นอกจากนี้ โฆษณาในยุคก่อนๆ ยังทำให้เราได้เห็นภาพราคาสินค้า และค่าครองชีพในยุคนั้น

 

โฆษณารถบรรทุกเชฟโรเลต พ.ศ. 2472

 

 

 

โฆษณากล้องถ่ายรูป ไม่ทราบ พ.ศ.

 

 

ดังนั้น พ.ศ. 2461 พระยาบริหารราชมานพได้รับเงินเดือนสุดท้าย 600 บาท ขณะเป็นเป็นเจ้ากรมโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ ท่านเก็บเงินไม่เกินครึ่งปีก็น่าจะซื้อรถเชฟโรเลตด้วยเงินสดได้

อาชีพ ”นักดนตรี”

 

 

"ชนใดไม่มีดนตรีกาล ในสันดานเป็นคนชอบกลนัก"

เช่นเดียวกับอาชีพอื่นๆ ที่หากเป็นเด็กใหม่ไม่มีประสบการณ์ ก็จะได้เงินเดือนเริ่มต้นไม่มากนัก เช่น  “…พ.ศ. ๒๔๔๘ อายุ ๑๗ ปี นายโสมรับพระราชทานเงินเดือนขั้นต้น เดือนละ ๒๐ บาท เป็นคนระนาดเอกมาตั้งแต่ครั้งนั้น…”

แต่ด้วยความที่เป็นคนมีความรู้ความสามารถ จึงได้เลื่อนบรรดาศักดิ์ และได้รับเงินเดือนเพิ่ม

“…ได้ชื่อว่าตีระนาดได้เพราะมาก เป็นที่ต้องพระราชหฤทัยในพระพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมาก เมื่อเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ ในปี พ.ศ. ๒๔๕๓ มีการปูนบำเหน็จข้าราชการ และข้าหลวงเดิมครั้งแรก ก็ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "ขุนเพลงไพเราะ" เมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๓ ขึ้นเงินเดือนรวดเดียวจาก ๒๐ บาท เป็น ๖๐ บาททันที อีกสองปีต่อมา ในวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๔ ได้เลื่อนเป็น "หลวงเพลงไพเราะ" รับพระราชทานเงินเดือน เดือนละ ๑๐๐ บาท และเป็น "พระเพลงไพเราะ" เมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ รับพระราชทานเงินเดือน เดือนละ ๒๒๐ บาท และในวันที่ ๒๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๗ จึงได้เลื่อนตำแหน่งเป็นปลัดกรมพิณพาทย์หลวง คู่กับ พระประดับดุริยกิจ…”

 

 

สรูปได้ว่า พระเพลงไพเราะได้เงินเดือนเริ่มต้น 20 บาท เนื่องจากเป็นผู้ที่ตีระนาดได้ไพเราะมาก หลังรับราชการได้ 12 ปี จึงได้เงินเดือนเพิ่มขึ้นเป็น 220 บาท 

ทั้งนี้ หาก "คุณพระ" อยากหาความตื่นเต้นให้กับชีวิตหลังเกษียณ ผมแนะนำให้ "คุณพระ" ลองใช้บริการเรือบินยุงเกอร์ ของบริษัทวินด์เซอร์แอนด์กัมปะนี โดย "คุณพระ" จะได้ชมวิวรอบ "พระนคร" อย่างมิรู้ลืม สนนราคาต่อเที่ยวเพียงแค่ ๒๔ บาท ออกเดินทางที่สนามบินดอนเมือง

 

 

อาชีพ “ตำรวจ”

ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้จัดตั้งตำรวจภูธรขึ้นในรูปทหารโปลิศ เมื่อ พ.ศ. 2419 สำหรับเป็นกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยในส่วนภูมิภาคและให้สามารถปฏิบัติการทางทหารได้ด้วย ต่อมาใน พ.ศ. 2420 ได้เปลี่ยน "กองทหารโปลิศ" เป็น "กรมกองตระเวนหัวเมือง" จนถึงปี พ.ศ. 2440 ได้ตั้ง "กรมตำรวจภูธร" ขึ้นแทนกรมกองตระเวนหัวเมือง เมื่อได้จัดตั้งกรมตำรวจภูธรขึ้นแล้ว ก็ได้พยายามขยายการตำรวจไปยังหน่วยการปกครองส่วนภูมิภาคตามลำดับ เพื่อให้มีกำลังตำรวจสำหรับป้องกันปราบปรามโจรผู้ร้าย อำนวยความร่มเย็นเป็นสุขให้แก่ประชาชาชน

ตำรวจนายหนึ่งในช่วงปี พ.ศ.๒๔๖๐

 

 

ทั้งนี้ ในอดีต ตำรวจนับเป็นอาชีพหนึ่งที่มีฐานเงินเดือนค่อนข้างสูง ดังจะเห็นได้จากประวัติของพระยาอธิกรณ์ประกาศ (หลุย จาติกวณิช)

นายหลุย จาติกวณิช เริ่มรับราชการจากการเป็นล่ามภาษาอังกฤษ แต่ต่อมาได้เปลี่ยนไปรับราชการเป็นตำรวจแทน

•    15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2441 ตำแหน่งล่าม เงินเดือน 50 บาท
•    1 มิถุนายน พ.ศ. 2442 เป็นนายเวรสรรพการ เงินเดือน 100 บาท
•    1 กันยายน พ.ศ. 2452 เป็นเจ้ากรมกองพิเศษ เงินเดือน 400 บาท
•    31 มกราคม พ.ศ. 2458 เป็นพันตำรวจเอก
•    26 มีนาคม พ.ศ. 2458 เป็นผู้บังคับการกองพิเศษ เงินเดือน 500 บาท
•    16 มีนาคม พ.ศ. 2462 เป็นพลตำรวจตรี
•    17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2465 เป็นผู้บังคับการตำรวจนครบาลกรุงเทพฯ เงินเดือน 700 บาท
•    18 ธันวาคม พ.ศ. 2465 เป็นผู้บัญชาการตำรวจนครบาลกรุงเทพฯ เงินเดือนเท่าเดิม
•    1 พฤษภาคม พ.ศ. 2472 รั้งอธิบดีกรมตำรวจภูธร เงินเดือน 900 บาท
•    1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2472 เป็นพลตำรวจโท และรับตำแหน่งสูงสุดเป็น อธิบดีกรมตำรวจ (ปัจจุบันคือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ) เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2472 เงินเดือน 1,100 บาท ตราบจนกระทั่งเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อปี พ.ศ. 2475 จึงถูกพักราชการ

 

พระยาอธิกรณ์ประกาศ

 

 

สรูปคือ นายหลุยเริ่มเป็นตำรวจโดยได้รับเงินเดือนเริ่มต้นคือ 100 บาท หลังจากรับราชการไปได้ 31 ปี และได้เลื่อนยศเป็นพันเอก พลตรี และพลโทตามลำดับแล้ว นายหลุยก็ได้รับตำแหน่งสูงสุดเป็นอธิบดีกรมตำรวจ ได้รับเงินเดือน 1,100 บาท  อย่างไรก็ตาม เงินเดือนสูงสุดของตำรวจนั้นยังเทียบไม่ได้เลยกับอาชีพ “มหาดเล็ก” และ “เสนาบดี”

ทั้งนี้ หาก "ท่านเจ้าคุณ" อยากได้รถหรูขับเล่นใน "พระนคร" สักคัน ผมก็คิดว่าคงจะไม่เหลือบ่ากว่าแรงมากนัก ขอเพียง "ท่านเจ้าคุณ" ไม่ไปมั่วสุมในสุรา นารี หรือการพนัน ก็จะสามารถซื้อ "รถเชฟเปิดประทุน" ได้อย่างไม่ยากเย็น หากอยากสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมขอเพียงโทรไปที่เบอร์ ๖๐๐ ที่ห้าง "บัตเลอร์แอนด์เวบสเตอร์"  ซึ่งเป็น "เอเย่นต์แต่ผู้เดียวในกรุงสยาม" ที่นั่นมีผู้เชี่ยวชาญพร้อมตอบทุกคำถามครับ

 

 

เกร็ดประวัติที่น่าสนใจของพระยาอธิกรณ์ประกาศคือ

“…ในเช้าวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 อันเป็นวันที่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พระยาอธิกรณ์ประกาศ ได้ทราบรายงานเรื่องการปฏิวัติ ขณะที่นอนหลับอยู่ในบ้านพัก เมื่อสายตำรวจรายงานว่า คณะราษฎรกลุ่มหนึ่งเข้าทำการยึดกรมไปรษณีย์โทรเลข และตัดสายโทรศัพท์ โทรเลข ไว้ได้หมดแล้ว จึงตัดสินใจเดินทางเข้าสู่วังบางขุนพรหมทันที พร้อมกำลังตำรวจ เพื่อเข้าเฝ้าถวายรายงานแด่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ฯ เมื่อ พระประศาสน์พิทยายุทธ เป็นผู้นำกองกำลังในการบุกเข้ามายังวังบางขุนพรหม เมื่อทรงทราบ และกำลังจะทรงหนีทางท่าน้ำหลังวังพร้อมด้วยครอบครัวและข้าราชบริพารจำนวน หนึ่ง แต่ยังทรงลังเลเมื่อมีเรือตอร์ปิโดหาญทะเลของทหารเรือฝ่ายคณะราษฎรที่ควบคุม โดย เรือโท จิบ ศิริไพบูลย์ คอยลาดตระเวณดูอยู่ เมื่อทางพระประศาสน์ฯมาถึง พระยาอธิกรณ์ประกาศจะชักปืนยิง แต่ทางหลวงนิเทศกลกิจ ทหารเรือฝ่ายคณะราษฎรได้กระโดดเตะปืนจากมือของพระยาอธิกรณ์ประกาศกระเด็นลงพื้นเสียก่อน จึงยิงไม่สำเร็จ…” 

นี่มันต้นแบบหนัง action ชัดๆ!!

ทั้งนี้ พระยาอธิกรณ์ประกาศเป็นปู่ของนายกรณ์ จาติกวณิช โดยคุณย่าของนายกรณ์เป็นภรรยาคนที่ 2 ของพระยาอธิกรณ์ประกาศ

 

 

อาชีพ “มหาดเล็ก”

มหาดเล็ก ก็คือข้าราชการในพระราชสำนัก โดยมีหน้าที่รับใช้พระเจ้าแผ่นดินหรือเจ้านายที่ถวายตัว ทั้งนี้ หากใครได้เป็นมหาดเล็กห้องพระบรรทม ก็มักจะได้เลื่อนยศบรรดาศักดิ์เร็วกว่าผู้อื่น เพราะคนที่จะได้รับคัดเลือกให้ทำหน้าที่นี้ต้องเป็นผู้ที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัยสูงสุด เพราะสามารถเข้าถึงพระองค์ได้ตลอดเวลา  และหากจะลอบปลงพระชนม์ก็ทำได้โดยง่ายเพราะมีธรรมเนียมมาแต่โบราณต้องมีมหาดเล็กห้องพระบรรทมเข้าเวรนอนอยู่หน้าห้องพระบรรทมตลอด

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ เจ้าพระยารามราฆพ 

 

 

เจ้าพระยารามราฆพนั้น สำเร็จการศึกษาชั้นต้น ที่ร.ร.บพิตรพิมุข และถวายตัวเป็นมหาดเล็กในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่ออายุ 13ปีเศษ โดยเมื่อยังเป็นเด็กอายุราวสิบปีเศษๆ  กลางวันโปรดให้ไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดบพิตรภิมุข  ส่วนตอนเย็นกลับมาที่วังก็ได้ทำหน้าที่เป็นมหาดเล็กห้องพระบรรทม และเนื่องจากท่านสามารถสนองพระมหากรุณาธิคุณได้เป็นอย่างดี รัชกาลที่ 6 จึงทรงไว้วางพระราชหฤทัยให้ปฏิบัติหน้าที่ต่างๆที่ใกล้เชิดพระองค์มากกว่าผู้อื่น ไม่ว่าพระเจ้าอยู่หัวจะทรงกีฬา ทรงละคร หรือกิจกรรมอื่นใด ท่านจะเข้าร่วมด้วยทุกคราวไป และได้รับการเลื่อนยศ ตำแหน่ง ตลอดจนบรรดาศักดิ์เร็วกว่าคนหนุ่มที่รับราชการรุ่นเดียวกัน

 

เจ้าพระยารามราฆพในชุดผู้หญิง

 

 

เจ้าพระยารามราฆพรับพระราชทานเงินเดือน ๆ ละ
๑๐ บาท  ในปี ๒๔๔๘
๒๐ บาท  เมื่อวันที่ ๔ มีนาคม ๒๔๔๙
๓๐ บาท  เมื่อวันที่ ๕ มีนาคม ๒๔๕๐
๓๕ บาท  เมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๔๕๐
๔๕ บาท  เมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๕๒

๑๔๐ บาท เมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๔๕๒
๑๘๐ บาท เมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๕๓
๒๐๐ บาท เมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๔๕๔
๒๔๐ บาท เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๔๕๔
๓๐๐ บาท เมื่อวันที่ ๑ กันยสยน ๒๔๕๔

๔๐๐ บาท เมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๔๕๔
๘๐๐ บาท เมื่อวันที่ ๑ กันยายน ๒๔๕๕
๑๐๐๐ บาท เมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๔๕๖
๑๒๐๐ บาท เมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๔๕๗
๑๔๐๐ บาท เมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๕๘

๑๗๐๐ บาท เมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๕๙
๒๐๐๐ บาท เมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๖๐
๒๔๐๐ บาท เมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๖๑
๒๖๐๐ บาท เมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๖๒
๒๘๐๐ บาท เมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๖๓

๒๙๐๐ บาท เมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๖๔
๓๐๐๐ บาท เมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๖๕
๓๑๐๐ บาท เมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๖๖
๓๒๐๐ บาท เมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๖๗
๓๓๐๐ บาท เมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๖๘

ออกจากราชการในวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๔๖๘ เหตุด้วยผลัดแผ่นดิน รับพระราชทานบำนาญปีละ ๘,๐๐๐ บาท

สรุป เงินเดือนเริ่มต้น start ที่ 10 บาท รับราชการไปได้ 20 ปี เงินเดือนสุดท้ายอยู่ที่ 3300 บาท  เงินเดือนเพิ่มขึ้นเฉลี่ยคิดเป็นปีละ 33.64% และได้รับเงินบำนาญหลังออกจากราชการปีละ 8000 บาท หรือเดือนละ 666.67 บาท 

นอกจากนี้ เจ้าพระยารามราฆพยังได้รับพระราชทานเงินทำขวัญและสิ่งของพิเศษอีกเป็นประจำ (ได้ bonus ทุกปี ว่างั้นเหอะ ) เช่น เงินทำขวัญ 100ชั่ง (100 ชั่งเท่ากับ 8,000 บาทในขณะนั้น) พระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์ให้ไว้เป็นที่ระลึก และ "บ้านนรสิงห์"

 

บ้านนรสิงห์ขณะก่อสร้าง พ.ศ. 2463

 

 

“บ้านนรสิงห์” นั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นเพื่อพระราชทานแก่เจ้าพระยารามราฆพ ชื่อบ้านนรสิงห์นั้น ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าเป็นชื่อพระราชทานหรือเจ้าของบ้านตั้งขึ้นเอง คาดว่าเนื่องจากเจ้าพระยารามราฆพเคยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกรมมหรสพซึ่งมีตราเป็นรูปนรสิงห์ อันเป็นปางหนึ่งของพระนารายณ์อวตารลงมาปราบยักษ์หิรัณยกศิปุ แต่เดิมเคยมีรูปปั้นนรสิงห์เต็มตัวตั้งอยู่กลางสนามหญ้าหน้าตึกไกรสร (ตึกไทยคู่ฟ้า) ปัจจุบันไม่ปรากฏว่าเคลื่อนย้ายไปอยู่ที่ใด

ต่อมา ราวต้นปี พ.ศ. 2484 ระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพา ญี่ปุ่นได้เจรจาขอซื้อ หรือเช่าบ้านนรสิงห์ เพื่อทำเป็นสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ด้วยเห็นว่ามีความสวยงามยิ่ง ต่อมาในเดือนมีนาคมปีเดียวกัน เจ้าพระยารามราฆพเจ้าของบ้านได้มีหนังสือถึง นายปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อเสนอขายบ้านแก่รัฐบาลในราคา 2,000,000 บาท เพราะเห็นว่าใหญ่โตเกินฐานะและเสียค่าบำรุงรักษาสูง แต่กระทรวงการคลังปฏิเสธ

ล่วงมาถึงเดือนกันยายนปีเดียวกัน จอมพลแปลก พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เห็นควรให้รัฐบาลไทยซื้อบ้านนรสิงห์ไว้ เพื่อเป็นสถานที่รับรองแขกเมือง ในที่สุดได้ตกลงซื้อขายกันในราคา 1,000,000 บาท โดยคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และ พลเอกเจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน (อุ่ม) ได้อนุมัติภายใต้พระบรมราชานุญาต ให้กระทรวงการคลัง จ่ายเงินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์แก่เจ้าพระยารามราฆพ แล้วมอบบ้านนรสิงห์ให้สำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ดูแล โดยให้ใช้เป็นที่ตั้งทำเนียบรัฐบาล และเป็นสถานที่รับรองแขกเมืองตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา "บ้านนรสิงห์" จึงเปลี่ยนชื่อเป็น "ทำเนียบสามัคคีชัย" และ "ทำเนียบรัฐบาล" โดยลำดับ 

เดิมบ้านนรสิงห์ประกอบด้วยตึกไกรสร ตึกพระขรรค์ เรือนพลอยนพเก้า เรือนพราน ตึกสารทูล(ตึกขวาง) ตึกพึ่งบุญ ตึกบุญญาศรัย ตึกเย็น ตึกใจจอด และบ้านพักเจ้าพระยารามราฆพ ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นตึกไทยคู่ฟ้า ตึกนารีสโมสร และหลายๆสถานที่ได้ถูกรื้อและสร้างขึ้นใหม่

 

"ตึกไกรสร" ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น "ตึกไทยคู่ฟ้า"

 

 

"ตึกพระขรรค์" ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น "ตึกนารีสโมสร"

 

 

หากท่านทั้งหลายกลัวว่าเจ้าพระยารามราฆพจะไม่มีที่ใช้เงินละก็ ท่านคิดผิดถนัดแล้ว เพราะท่านเจ้าพระยามีบุตรธิดารวมทั้งสิ้น 34 คน  ซึ่งเกิดกับภรรยาทั้ง 6 คน ส่วนในบั้นปลายชีวิต นอกจากการรับราชการแล้ว ท่านเจ้าพระยารามราฆพ ก็ใช้ชีวิตอยู่กับบ้าน ท่านมีกิจวัตรประจำวัน คือ การจดบันทึก ซึ่งทำมาตั้งแต่อยู่ในมัธยมวัย จนถึงอสัญกรรม นอกจากนี้ก็เพลิดเพลินอยู่กับการบำรุงดูแลเรือ ทั้งเรือยนต์และเรือกล อันเป็นของชอบของท่านตั้งแต่ยังรับราชการ และไปพักตากอากาศที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทุกๆปี

ส่วนมหาดเล็กท่านอื่นๆ ถึงแม้จะไม่ได้เป็นผู้ที่โปรดปรานมากที่สุด แต่ก็ยังได้รับเงินเดือนที่จัดว่าสูงทีเดียว เช่น พระยานรรัตนราชมานิต (ตรึก จินตยานนท์)

 

 

พระยานรรัตนราชมานิตเมื่อจบชั้นมัธยม ท่านสามารถสอบได้เป็น  “ที่ 1” ของประเทศ  และต่อมาเมื่อท่านเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนข้าราชการพลเรือน(ต่อมาเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) สาขารัฐประศาสนศาสตร์ ท่านก็จบเป็นบัณฑิตจุฬารุ่นที่ 1  ด้วยคะแนนสอบที่เป็น  “ที่หนึ่ง”ของรุ่นอีกด้วย 

 

"โรงเรียนข้าราชการพลเรือน" ต่อมาเป็น "จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย"

 

 

ต่อมาเมื่อมีวาสนาได้สนองพระเดชพระคุณในล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 6  ด้วยผลการปฏิบัติงานดีเด่น ท่านจึงได้รับพระมหากรุณาฯแต่งตั้งเป็น  “พระยา” ที่มีอายุน้อยที่สุด  คือได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น  “พระยานรรัตนราชมานิต” เมื่อมีอายุได้เพียง  25 ปี เมื่อปี พ.ศ.2465 ต่อมาอีก 2 ปี  คือปีพ.ศ. 2467 ท่านก็ได้รับพระมหากรุณาฯให้เป็น  “องคมนตรี” คนแรกของประเทศไทยที่มีอายุน้อยที่สุดอีกตำแหน่งหนึ่ง เมื่อมีอายุได้เพียง 27 ปีเท่านั้น 

กุมภาพันธ์ ๒๔๕๗     โปรดเกล้าฯ ให้รับราชการในกรมมหาดเล็ก แผนกตั้งเครื่อง ยศ มหาดเล็กวิเศษ 
เมษายน ๒๔๕๘             เงินเดือน เดือนละ ๔๐ บาท 
พฤศจิกายน ๒๔๕๘     ยศ บรรดาศักดิ์ รองหุ้มแพร นายรองเสนองานประภาษ เงินเดือนเพิ่ม ๒๐ บาท รวม ๖๐ บาท 
เมษายน ๒๔๕๙         ย้ายไปอยู่กองห้องที่พระบรรทม 
กันยายน ๒๔๕๙       เงินเดือนเพิ่ม ๔๐ บาท รวม ๑๐๐ บาท 
มกราคม ๒๔๖๐        เงินเดือนเพิ่ม ๑๐๐ บาท รวม ๒๐๐ บาท 
ธันวาคม ๒๔๖๑        ยศ บรรดาศักดิ์ รองหัวหมื่น หลวงศักดิ์นายเวร 
มกราคม ๒๔๖๑        เงินเดือนเพิ่ม ๑๐๐ บาท รวม ๓๐๐ บาท 
เมษายน ๒๔๖๓        เงินเดือนเพิ่ม ๔๐ บาท รวม ๓๔๐ บาท 
พฤศจิกายน ๒๔๖๔     ยศ บรรดาศักดิ์ เจ้าหมื่นสรรเพธภักดี 
เมษายน ๒๔๖๕        เงินเดือนเพิ่ม ๑๖๐ บาท รวม ๕๐๐ บาท 
ธันวาคม ๒๔๖๕        เจ้ากรมห้องที่พระบรรทม 
ธันวาคม ๒๔๖๕        บรรดาศักดิ์ พระยานรรัตนราชมานิต 
กรกฎาคม ๒๔๖๗      องคมนตรี ร. ๖ 
มกราคม ๒๔๖๗        ยศ จางวางตรี (เทียบเท่าพลตรี)
เมษายน ๒๔๖๘        เงินเดือนเพิ่ม ๒๐๐ บาท รวม ๗๐๐ บาท 
เมษายน ๒๔๖๙        องคมนตรี ร.๗ 
เมษายน ๒๔๖๘        โปรดเกล้าฯ ให้ยุบเลิกตำแหน่งหน้าที่ราชการกรมมหาดเล็กหลวง ให้รับพระราชทานบำนาญ เดือนละ ๘๔ บาท ๖๖.๒/๓ สตางค์ 

สรุปคือ เงินเดือนเริ่มต้นที่ 40 บาท รับราชการไปได้ 11 ปี เงินเดือนสุดท้ายอยู่ที่ 700 บาท เงินเดือนเพิ่มขึ้นเฉลี่ยคิดเป็นปีละ 29.72% และได้รับเงินบำนาญหลังออกจากราชการเดือนละ 84.6667 บาท 

อย่างไรก็ตามในวันถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระยานรรัตนราชมานิตได้อุปสมบท ณ พระอุโบสถวัดเทพศิรินทราวาส เพื่ออุทิศเป็นพระราชกุศลจนกระทั่งท่านมรณภาพ รวมเวลาในผ้ากาสาวพัตร์ทั้งสิ้น 46 พรรษา ทั้งนี้ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าท่านมีบุตรหรือภรรยาก่อนอุปสมบท

 

เจ้าคุณนรฯได้รับการกล่าวขานว่าเป็น "พระอรหันต์กลางกรุง "

 

 

"เจ้ากรมป่าไม้"

ในเรื่องนี้มีบันทึกไว้ว่า 

"“…เรื่องตัวพนักงานที่ยังต้องใช้ฝรั่งคนของบริษัทจ้างมาเปนพนักงาน ป่าไม้อยู่บ้างนั้น ได้ความจากพระยามหาอำมาตยาธิบดีว่า นักเรียนไทยที่จะให้ออกไปเปนตัวพนักงานมีไม่พอ จึงต้องรับคนของบริษัทมาใช้ ด้วยเห็นว่ายังดีกว่าที่จะเรียกฝรั่งซึ่งยังไม่เคยทำงานป่าไม้จากเมืองนอกมา ฝึกหัด กว่าจะรอบรู้การงานต้องเสียเวลานานสู้คนของบริษัทที่เขาชำนาญมาแล้วไม่ได้ และทั้งยังไม่เคยปรากฏความเสียหายของคนพวกนี้…”"

"…มิสเตอร์สะเล็ด ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ขอยืมตัวมาจากรัฐบาลอังกฤษที่อินเดียให้มารับราชการเป็นเจ้ากรมป่าไม้คนแรก รับพระราชทานเงินเดือนๆ ละ ๔,๐๐๐ บาท พร้อมค่าเดินทางและที่พักต่างหาก มีกำหนดสัญญาจ้าง ๓ ปี"

 

เอช. เอ. เสลด(H. A. SLADE) เป็นเจ้ากรมป่าไม้ พ.ศ. 2439 – 2444

 

 

ในปี พ.ศ. 2439 เจ้ากรมป่าไม้ได้เงินเดือน 4,000 บาท  มากกว่าเงินเดือนมหาดเล็กตำแหน่งสูงสุดอีก อาจเป็นเพราะหาคนที่มีประสบการณ์และเชี่ยวชาญด้านนี้ยาก และตำแหน่งเจ้ากรมเป็นตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง ต้องใช้ความรับผิดชอบมาก นอกจากนี้ยังต้องยืมตัวมาจากรัฐบาลอังกฤษอีก ถ้าไม่ให้เงินเยอะเขาอาจจะไม่มา  นอกจากได้เงินเดือนแล้วยังมีสวัสดิการเป็นค่าที่พักและค่าเดินทางต่างหากอีก 

ทั้งนี้ เจ้ากรมป่าไม้ 3 คนแรกของประเทศไทยนั้น เป็นชาวต่างชาติทั้งหมดเลย แสดงให้เห็นว่าในช่วงรัชกาลที่ 5 นั้น ประเทศไทยยังขาดแคลนบุคคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านป่าไม้

 

"เสนาบดี"

ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เราอาจให้ความหมายของ "เสนาบดี" ว่าคือ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หรือเจ้ากระทรวง(เทียบเท่ารัฐมนตรี)ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศ ในยุคนั้น มีตำแหน่งเสนาบดีที่สำคัญอยู่หลายตำแหน่ง เช่น เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ เสนาบดีกระทรวงการคลัง และเสนาบดีกระทรวงกลาโหม เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ตำแหน่งเสนาบดีที่สำคัญที่สุดในยุคนั้น คือ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ซึ่งผู้ที่ดำรงตำแหน่งนั้นเป็นท่านแรกก็คือ "สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ"

 

 

ในเรื่องของเงินเดือน หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ธิดาของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้บันทึกไว้ในหนังสือ "บันทึกลูกเล่า" ว่า

"…เสด็จเข้ารับราชการเป็นนักเรียนนายร้อย เมื่อพระชันษา ๑๔ ปี อยู่ประจํากองที่พระระเบียงวัดพระแก้วในบังคับบัญชานายร้อยเอกเจิม แสงชูโต(เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี) ได้รับเงินเดือน ๆ ละ ๑๖ บาท…" ต่อมา "…ทรงโยนปืนอยู่ ๑ ปี ก็ได้เลื่อนขึ้นเป็นนายร้อยตรีทหารมหาดเล็กบังคับกองแตรวงได้เงินเดือน ๆ ละ ๔๐ บาท…" และ "…ทรงว่าทหารแตรวงอยู่ ๒ ปี ก็ย้ายไปเป็นว่าที่นายร้อยโทบังคับทหารม้าในกรมทหารมหาดเล็ก ได้เงินเดือน ๔๘ บาท…"

"…ในปี พ.ศ.๒๔๒๒ นี้ ได้ทรงเป็นนายร้อยเอกและราชองครักษ์ประจําพระองค์ และว่ากรมครัวเข้าต้นได้เงินเดือนถึงเดือนละ ๘๐ บาท พ.ศ. ๒๔๒๓ ได้ทรงเป็นนายพันตรีผู้รับพระราชโองการ แต่ว่ากรมกองแก้วจินดา (ปืนใหญ่) เงินเดือนขึ้นเป็น ๑๒๐ บาท ต่อมาอีก ๔ ปี ได้ทรงเป็นนายพันโทผู้บังคับการทหารมหาดเล็ก เงินเดือนขึ้น ๒๔๐ บาท ต่อมาอีก ๔ ปี ได้เลื่อนพระอิสริยยศเป็นกรมหมื่นดํารงราชานุภาพ เมื่อพระชันษา ๒๔ ปี พ.ศ.๒๔๓๑ ได้ทรงเป็นนายพลตรี เงินเดือนขึ้นถึง ๕๐๐ บาท…"

ต่อมาได้รับโปรดเกล้าฯให้ย้ายมาเป็นอธิบดีกรมศึกษาธิการและกํากับการธรรมการ มีตําแหน่งเทียบเท่าเสนาบดี ในปี พ.ศ. ๒๔๒๒ และอีก ๒ ปีถัดมา ก็ถูกพระราชประกาศย้ายไปเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย โดยพระองค์ท่านและสมเด็จกรมพระยาเทววงษ์วโรปการ เป็นเสนาบดีคู่แรกที่ได้รับพระราชทานเงินเดือน ๆ ละ ๑,๐๐๐ บาท

ต่อมา กรมพระดำรงราชานุภาพประชวรต้องทรงพักราชการใน พ.ศ. ๒๔๕๗ แล้วหมอถวายความเห็นว่าทํางานหนักไม่ได้ต่อไป จึงกราบถวายความบังคมลาออกจากตําแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๕๘ อย่างไรก็ตามในปีเดียวกันี้ "…โปรดเกล้าฯ ให้ทรงเป็นเสนาบดีที่ปรึกษาด้วยรับเงินเดือนเต็ม คือ ๓,๒๐๐ บาท และมีพระราชดํารัสในวันถวายตําแหน่งคืนว่า “กรมพระดํารงอย่าทรงทิ้งหอพระสมุดนะ”

 

หอพระสมุดสำหรับพระนคร

 

 

สรุปท่านเริ่มรับราชการได้เงินเดือน 16 บาท หลังรับราชการไปได้ 39 ปี เงินเดือนก็เพิ่มเป็น 3,200 บาท  และหลังออกจากราชการได้บำนาญอีกเดือนละ 3,600 บาท(แต่สุดท้ายถูกตัดหลังเกิดปฎิวัติเหลือ 960 บาท) และเงินเดือนค่าดำรงอิสริยยศของพระบรมวงศานุวงศ์อีกเดือนละ 500 บาท  

ส่วนสิ่งของที่ได้รับพระราชทานระหว่างรับราชการนั้น ได้แก่ รถตราจักรซึ่งรัชกาลที่ ๕ ทรงพระราชทาน รถเนเปียร์ซึ่งรัชกาลที่ ๖ ทรงพระราชทาน รถเล็ก Wanderer ซึ่งสมเด็จพระพันปีหลวงทรงพระราชทาน และรถราชสีห์พระเจ้าเชียงใหม่ซื้อฝากไว้ให้ทรงใช้(ถ้าพระเจ้าเชียงใหม่มากรุงเทพฯท่านจึงจะใช้) มีรถเฟียตอีกคันหนึ่งที่ทรงซื้อเองโดยผ่อนส่ง แต่ที่ทรงใช้จริง ๆ เป็นประจํามีรถตราจักรคันเดียว นอกจากนั้นก็เก็บไว้ในโรงโดยมาก ส่วนรถเนเปียร์ลงท้ายก็ถวายคืนไป เพราะทนค่ายางค่าน้ํามันไม่ไหว

อย่างไรก็ตาม รายได้ที่มหาศาลนี้ กลับไม่ได้ทำให้ท่านร่ำรวยเป็นเศรษฐี เนื่องจากท่านต้องทรงเลี้ยงดูพระโอรส-ธิดาทั้งหมด 33 องค์ ที่ประสูติกับหม่อมทั้ง 11 คน นอกจากนี้  ในสมัยนั้นไม่มีเบี้ยรับรองและเบี้ยประชุม เวลามีแขกเมืองใหญ่โตมา กระทรวงต่างประเทศก็ส่งกระดาษเปล่ามาให้จดว่าจะทรงเลี้ยงดูรับรองอย่างไรบ้าง ซึ่งท่านก็ทรงออกค่าใช้จ่ายเอง

ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กรมพระดำรงราชานุภาพทรงเป็นเสนาบดีมุรธาธรอยู่ได้ ๒ ปี พระเจ้าอยู่หัวก็เสด็จสวรรคต พอเปลี่ยนรัชกาลใหม่ก็เจอะมรสุมเศรษฐกิจตกต่ําทั่วโลก เสนาบดีสภาเห็นว่ามีทางทําได้เพียง ๒ อย่าง คือ 

๑.ขึ้นภาษี 
๒.ตัดงบประมาณลงให้ได้ 

กรมพระดำรงราชานุภาพทรงให้ความเห็นว่าการขึ้นภาษีนั้นคนทั่วไปต้องเดือดร้อน ถ้าตัดงบประมาณ คนจําพวกเดียวเดือดร้อน ฉะนั้นจึงทรงแนะรัฐบาลให้ล้มกระทรวงมุรธาธรที่ทรงว่าอยู่เสีย เพราะไม่มีงานสําคัญถึงจะต้องเป็นกระทรวง แล้วให้ตัดเงินเดือนกันลงไปตั้งแต่พระองค์ โดยพระเจ้าอยู่หัวเป็นผู้นํา ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้เงินอยู่ปีละ ๑๑ ล้าน รวมทั้งเลี้ยงดูพระราชวงศ์ ข้าราชการรักษาพระราชวังต่าง ๆ การพระราชพิธี และรับรองเลี้ยงดูแขกต่างประเทศด้วย แม้เช่นนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงยอมให้บ้านเมืองตัดกลับไปเป็นปีละ ๖ ล้าน เหมือนสมเด็จพระบรมชนกนาถ(พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) เพื่อช่วยเศรษฐกิจซึ่งกําลังทรุดโทรม

 

 

ทั้งนี้ มนุษย์ที่เกิดมาในโลกนี้ ไม่มีผู้ใดจะหนีทุกข์สุขพ้นได้ฉันใดก็ดี หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ เหตุการณ์ในชีวิตของท่านก็ต้องเปลี่ยนไป หลังจากท่านได้ทรงรับการปล่อยออกมาจากที่คุมขังแล้วได้ ๓ วัน ก็ได้รับแจ้งจากทางการให้ไปรับเบี้ยบํานาญซึ่งถูกตัดลงทันทีจากเดือนละ ๓,๖๐๐ บาทเป็น ๑,๕๐๐ บาท 

และในท้ายที่สุด ขณะที่ท่านเสด็จลี้ภัยทางการเมืองไปประทับอย่ที่ปีนัง คุณมังกร ก็ได้ทูลท่านว่า “ข้าพระพุทธเจ้าอยากเชิญเสด็จกลับกรุงเทพฯ เพราะมีคนแนะนําสภาว่าให้ตัดเงินเจ้านายที่ไปอยู่ต่างประเทศ เว้นแต่กรมพระนครสวรรค์ เพราะเขาให้ท่านไป ข้าพระพุทธเจ้ารู้ดีว่าฝ่าพระบาทไม่ใช่เจ้านายที่ทรงมั่งมี จึงไม่อยากเห็นทรงลําบากในเวลาทรงพระชราแล้ว” เวลานั้นพระชันษา ๗๘ ปี ท่านพระพักตร์แดง ยืดพระองค์ตรงแล้วตรัสว่า

“ขอบใจคุณมาก แต่กรมดํารงซื้อไม่ได้ด้วยเงิน ถ้าจะให้คุกเข่าลงเพื่อเงินแล้วเป็นอันไม่กลับ”

หลังจากนั้นทรงหันมาตบขา ตรัสถามธิดาของท่านว่า “อดตายกับพ่อไหมลูก” หม่อมเจ้าพูลพิศมัยทูลตอบว่า “ตกลง” แล้วก็ทรงปราศรัยกับคุณมังกรต่อไปว่า 

“ฉันมีมากก็ใช้มาก มีน้อยก็ใช้น้อย อายุก็ถึงปานนี้แล้ว เหตุใดจะเอาวันเหลือข้างหน้าอีก ๒-๓ วันมาลบวันข้างหลังที่ได้ทํามาแล้วเสียเล่า”

สุดท้ายท่านคงเหลือแต่เบี้ยบํานาญเดือนละ ๙๖๐ บาท สำหรับธิดา ๓ องค์รวมถึงตัวท่านเอง หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัยได้บันทึกเหตุการณ์ในขณะนั้นว่า "…เราก็ลงมือปลูกผักปลูกดอกไม้ขายต่อไป และลดการใช้จ่ายลงอีกเท่าที่จะอยู่ได้…"

 

กรมพระยาดำรงราชานุภาพและธิดาทั้ง 3 องค์

 

 

นอกจากนี้ ระหว่างเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ และญี่ปุ่นได้ครองปีนัง ท่านก็โดนญี่ปุ่นริบทรัพย์ที่ฝากไว้ในธนาคาร ซึ่งหม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัยบันทึกไว้ว่า "… วันหนึ่งเขาเรียกให้ส่งหลักทรัพย์สมบัติที่เกี่ยวข้องกับศัตรู เราก็ส่งใบรับของที่ฝากไว้ในแบงก์ฮอลันดา ๒-๓ หีบ ขออายัดไว้ว่าเราไม่ต้องการ ญี่ปุ่นแทงท้ายใบรับมาว่า “ริบโดยกองทัพญี่ปุ่น” เรากลับมานอนแผ่ไปหลายวัน นึกถึงตุ้มหู แหวนฯ และเครื่องแต่งตัวของแม่ ทําให้ใจเศร้า ข้าพเจ้าบ่นว่า “แม่จะนึกอย่างไร เสียแรงอุตส่าห์เก็บไว้ดูมาแต่เล็กแต่น้อย” …"

ในบั้นปลายชีวิต ทรงเสด็จกลับประเทศไทยเพื่อรักษาโรคพระหทัยพิการ ในขณะนั้น ญี่ปุ่นได้ส่งกองกำลังเข้ามาในประเทศไทย เมื่อทรงทราบว่าญี่ปุ่นอยู่ในบ้านในเมือง ท่านก็ฉุนกริ้ว และทรงบ่นแต่ว่าอยากตาย และสิ้นพระชนม์หลังเสด็จกลับประเทศไทยได้ประมาณ ๑ ปี เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๖ ที่วังวรดิศ รวมพระชนม์มายุได้ ๘๑ พรรษา ทั้งนี้ ก่อนสิ้นพระชนม์ได้ ๒ เดือน ท่านทรงขายนาใช้หนี้ ๒๐,๐๐๐ บาทจนหมด

 

 

"ยามเยาว์เห็นโลกล้วนแสนสนุก

เป็นหนุ่มสาวก็หลงสุขค่ำเช้า

กลางคนเริ่มเห็นทุกข์สุขคู่ กันนอ

ตกแก่จึ่งรู้เค้าว่าล้วนอนิจจัง…"

พระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ

กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

ทรงแต่ง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๖

 

ส่วนเสนาบดีท่านอื่นๆ ก็ยังคงได้รับเงินเดือนที่สูงมากเช่นกัน เช่น เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ (หม่อมราชวงศ์เย็น อิศรเสนา)

 

 

พ.ศ. 2420  ม.ร.ว.เย็นรับราชการยศนายสิบทหาร เงินเดือน 12 บาท มีหน้าที่ ควบคุมบังคับช่างที่รักษาความสะอาดในพระที่นั่ง หลังรับราชการมาอย่างยาวนาน ผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก เคยเป็นทั้งจางวางมหาดเล็กสมัยรัชกาลที่ 5 และเคยเป็นองคมนตรีสมัยรัชกาลที่ 6 ท้ายที่สุด ในสมัยราชกาลที่ 7 ท่านก็ได้เป็นเจ้าพระยาวรพงษ์พิพัฒน์เงินเดือน 2,200 บาท ในปี พ.ศ. 2469 และได้เป็นเสนาบดีกระทรวงวังในปี พ.ศ. 2473

นอกจากรับราชการแล้ว เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ยังได้ประกอบธุรกิจส่วนตัวมากมาย อาทิ  

•    2426 – 2427 ธุรกิจรับส่งผู้โดยสาร โดยรถม้า และรถเก๋ง 

•    2428 ธุรกิจสร้างตู้เสาเกลียว เครื่องเรือน และทำเครื่องแป้ง

•    2439 ธุรกิจโรงเลื่อยจักร ข้างวัดตรี ริมคลองบางลำพู (หน้าวัดรังสี)

•    2444 ธุรกิจเตาเผาอิฐ

•    2445 – 2447 ธุรกิจโรงสีข้าวที่บางโพ

•    2450 ตั้งท่าเรือจ้าง ณ ถนนพระอาทิตย์ ธุรกิจเรือเมล์เขียว (คลองบางหลวง)

•    2452 ธุรกิจมวนบุหรี่ ต่อมาสนใจโรงงานยาสูบ

•    2465 – 2469 ธุรกิจโรงงานน้ำตาลทรายที่ทับหลวง ลงทุนด้วยเงินยืม แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ

และธุรกิจทางรถไฟสายบางบัวทอง

•    2451 ได้รับพระบรมราชานุญาตให้ก่อตั้งบริษัท รถไฟบางบัวทอง จำกัดสินใช้ โดย สร้างทางรถไฟสายบางบัวทองลงทุนด้วยเงินยืม

 

ภาพหัวรถจักรรถไฟสายบางบัวทอง

 

 

•    2469 เริ่มการขยายเส้นทางไป วัดระแหง ที่ ลาดหลุมแก้ว

•    2473 แก้ไขสัญญาเดินรถไฟบางบัวทองกับกรมรถไฟหลวง เพื่อถอนรางที่อยู่วัดเฉลิมพระเกียรติให้เดินรถไฟตรงไปที่ท่านั้นฝั่งตรงข้ามศาลากลางจังหวัดนนทบุรีแห่งใหม่ที่ บางขวาง พร้อมยืดระยะรถไฟจากบางบัวทองไปที่วัดระแหง อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี (หลักฐานสัญญาเก็บรักษาที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

•    2485 ประกาศเลิกกิจการ รถไฟบางบัวทอง แล้วดำเนินการถอนรางและรถจักรไปขายแก่บริษัทส่งเสริมอุตสาหกรรมไทย จำกัด เจ้าของโรงงานน้ำตาลวังกะพี้

 

หัวรถจักรรถไฟสายบางบัวทอง
หลังจากเลิกกิจการได้ถูกขายต่อให้กับบริษัทส่งเสริมอุตสาหกรรมไทย

 

 

•    2486 เลิกกิจการรถไฟบางบัวทอง อย่างเป็นทางการ

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: