ตำรวจ ปคบ. บุกแหล่งผลิตไก่ยอ ไส้กรอกอีสานเถื่อน





15 มีนาคม 2567 พ.ต.อ.วีระพงษ์ คล้ายทอง ผกก.4 บก.ปคบ. สั่งการให้เจ้าหน้าที่ กก.4 บก.ปคบ. เข้าตรวจค้นทลายโรงงานผลิตไก่ยอ และไส้กรอกอีสานเถื่อน ย่านบางเขน พบนางสาวโชติกา (สงวนนามสกุลจริง) แสดงตนเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ พร้อมตรวจยึดไก่ยอ และไส้กรอกอีสานไม่มีเลข อย. กว่า 729 กิโลกรัม รวมทั้งเครื่องจักร บรรจุภัณฑ์ และส่วนผสมต่างๆ ที่ใช้ในการผลิตลูกชิ้น รวมกว่า 15 รายการ

สืบเนื่องจาก กองกำกับการ 4 บก.ปคบ. มีมาตรการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์อาหารที่ผลิตโดยไม่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดก่อนจำหน่าย ซึ่งอาจนำมาสู่กระแสอาหารสกปรก จึงทำการเฝ้าระวังและสืบสวนหาข่าวเรื่อยมา

ต่อมาพบว่ามีโรงงานไก่ยอและไส้กรอกอีสานเถื่อนย่านบางเขน กทม. ซึ่งโรงงานดังกล่าวมีการส่งไก่ยอและไส้กรอกอีสานขายตลาดขนาดใหญ่ จึงเข้าทำการตรวจสอบและตรวจยึดของกลางดังกล่าว โดยขณะเข้าตรวจค้นเจ้าหน้าที่ยังพบกองอุนจิของสุนัขอยู่บนพื้นโรงงานด้วย

น.ส.โชติกา (สงวนนามสกุล) รับสารภาพว่า ผลิตไก่ยอและไส้กรอกอีสาน โดยไม่ได้รับอนุญาตจาก อย. และไม่มีเลขสารบบอาหารแต่อย่างใด โดยใช้บ้านพักดัดแปลงเป็นสถานที่ผลิต จากนั้นนำมาแช่ไว้ในถังน้ำแข็งขนาดใหญ่เพื่อรอการจำหน่ายให้กับลูกค้า เนื้อไก่ที่ใช้เป็นวัตถุดิบ ตนซื้อมาจากโรงงานแยกชิ้นส่วนไก่ ส่งขายให้ลูกค้าตามตลาดสดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และพื้นที่ใกล้เคียง เช่น ตลาดสี่มุมเมือง ตลาดบางกะปิ เป็นต้น

จากนั้นจะมีผู้ค้ารายย่อยมารับสินค้าไปกระจายต่ออีกทอดหนึ่ง ซึ่งมีกำลังการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ไก่ยอและไส้กรอกอีสานวันละประมาณ 100 กิโลกรัม เฉลี่ยเดือนละ 1,600 กิโลกรัม ทำมาแล้วประมาณ 4 ปี

เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้เก็บตัวอย่างอาหารเพื่อส่งตรวจวิเคราะห์ หาสารบอแรกซ์ ชนิดและปริมาณวัตถุกันเสีย และจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค ณ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หากพบสารต้องห้ามในอาหารเพิ่มเติม จะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ฐาน “ผลิตอาหารไม่บริสุทธิ์” ระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เปิดความอันตราย “สารบอแรกซ์” ห้ามใส่ในอาหารทุกชนิด

บอแรกซ์ เป็นสารพิษร้ายแรงที่กฎหมายประกาศ ห้ามใส่ในอาหารทุกชนิด เพราะเป็นอันตรายกับทุกอวัยวะภายในร่างกาย โดยเฉพาะตับ ไต สมอง ระบบประสาทส่วนกลาง ระบบย่อยอาหาร และผิวหนัง อาการที่แสดงจะขึ้นอยู่กับปริมาณของสารบอแรกซ์ที่ได้รับเข้าสู่ร่างกายและความสามารถของร่างกายในการขับถ่ายออกมา แบ่งได้ 2 ลักษณะ ได้แก่

แบบเฉียบพลัน อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องรุนแรง โดยอาจเกิดอาการเฉียบพลันได้ หากได้รับสารบอแรกซ์ ตั้งแต่ 15 กรัม/ครั้ง กรณีเด็กเล็ก หากได้รับสารบอแรกซ์ในปริมาณ 5 กรัม/ครั้ง อาจถึงแก่ชีวิตได้

แบบเรื้อรัง จะมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ผิวหนังแห้ง หน้าบวม ตาบวม เยื่อตาอักเสบ และตับหรือไตอักเสบ
สารนี้สามารถสะสมในร่างกาย ซึ่งส่วนใหญ่จะสะสมไว้ที่กรวยไต ทำให้เกิดการอักเสบ ทั้งนี้ไม่ว่าร่างกายจะได้รับสารนี้เข้าไปในปริมาณมากในคราวเดียวหรือได้รับน้อยแต่เกิดการสะสม ก็เป็นอันตรายได้ทั้งนั้น

บอแรกซ์เป็นสารที่ห้ามใช้ในอาหาร ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 391 (พ.ศ. 2561)ออกตามความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย หากผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 2 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 บาท ถึง 20,000 บาท และจัดเป็นการผลิตหรือจำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

ข้อมูลจาก : สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: