โฆษกประกันสังคมเผย สิทธิทำฟันไม่ด้อย ชี้จำกัดวงเงิน เพราะรอคิวนาน





โฆษก สปส.ยันทำฟันประกันสังคมไม่ด้อยกว่าสิทธิกองทุนสุขภาพอื่น หลังกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ระบุว่า ผู้ประกันตนตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคมใช้สิทธิเบิกค่ารักษาทันตกรรมที่จำเป็นได้น้อยกว่าประชาชนทั่วไปในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท)

 

6 ก.พ.67 นางนิยดา เสนีย์มโนมัย โฆษกสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ชี้แจงว่า ปัจจุบันสิทธิทันตกรรมของสำนักงานประกันสังคมเป็นสิทธิเดียวในสามกองทุนสุขภาพที่สามารถเข้ารับบริการได้ในสถานพยาบาล หรือคลินิกเอกชน ที่ไหนก็ได้ทั่วประเทศ สามารถรับบริการได้ทันที ไม่ต้องมีการนัดหมายล่วงหน้า ไม่ต้องสำรองจ่าย ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคมได้มีการปรับค่าบริการกรณีทันตกรรมจากเดิม 600 บาท เป็น 900 บาท โดยสำรวจราคาจากสถานพยาบาลที่ให้บริการทันตกรรมทั้งภาครัฐและเอกชน และอัตราการใช้บริการเฉลี่ยต่อปีของผู้ประกันตน

 

นางนิยดากล่าวว่า อีกทั้งสำนักงานประกันสังคมยังให้สิทธิผู้ประกันตนที่ต้องเข้ารับบริการด้านสุขภาพช่องปากที่จำเป็น หรือประสบอุบัติเหตุที่เกี่ยวกับช่องปาก ซึ่งถือเป็นการรักษาพยาบาลอย่างหนึ่ง ผู้ประกันตนสามารถเข้ารับบริการ ณ สถานพยาบาลตามสิทธิโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และสำนักงานประกันสังคมได้มุ่งมั่นพัฒนาปรับปรุงสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ประกันตนอย่างต่อเนื่อง

 

โฆษก สปส.กล่าวต่อว่า ในปี 2549 สำนักงานประกันสังคมเคยปรับระบบให้ผู้ประกันตนสามารถใช้บริการทันตกรรม ในสถานพยาบาลตามสิทธิ ไม่จำกัดจำนวนครั้ง ไม่มีค่าใช้จ่ายส่วนเกิน แต่ผลลัพธ์คือผู้ประกันตนเข้าไม่ถึงสิทธิ รอคิวนาน โดยเสียงส่วนใหญ่ของผู้ประกันตนเรียกร้องให้สำนักงานประกันสังคมกลับมาจัดบริการในลักษณะกำหนดวงเงิน แต่ไปรับบริการที่ไหนก็ได้

 

“ในปี 2566 มีสถานพยาบาลที่ทำความตกลงร่วมกับสำนักงานประกันสังคมกว่า 13,000 แห่ง ในขณะที่สิทธิในระบบประกันสุขภาพอื่นจะต้องใช้บริการในหน่วยบริการของรัฐ ถึงแม้ว่าจะไม่จำกัดจำนวนครั้ง แต่ไม่สามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวก ต้องมีการนัดหมายล่วงหน้า และต้องเข้ารับบริการในเวลาราชการเท่านั้น” นางนิยดากล่าว

 

ทั้งนี้ จากข้อมูลการสำรวจการเข้ารับบริการสุขภาพช่องปากของคนไทย โดยสำนักสถิติแห่งชาติร่วมกับ สำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัยกระทรวงสาธารณสุข พบว่า ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมเข้าถึงบริการด้านทันตกรรมมากกว่าสิทธิบัตรทอง และเมื่อเปรียบเทียบการใช้สิทธิของแต่ละกองทุน พบว่าผู้ประกันตนมีการใช้สิทธิมากที่สุด และในปี 2566 มีผู้ประกันตนใช้บริการในสถานพยาบาลหรือคลินิกเอกชนสูงถึงร้อยละ 90 และรับบริการในสถานพยาบาลของรัฐเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น

ข่าวจาก มติชนออนไลน์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: