เปิดใจ2ผู้หมวดหญิงนักบินรุ่นแรกของกองทัพอากาศไทย”เป็นหญิง/เรียนสายศิลป์ก็เป็นนักบินได้”





เป็นไอดอลของ “ผู้หญิง” หลายๆ คนไปแล้ว สำหรับ “2 ผู้หมวดหญิง” ที่สร้างประวัติศาสตร์เป็น “นักบินหญิง” รุ่นแรกของ “ทัพฟ้า” กองทัพอากาศไทย สำหรับ หมวดพิซซ่า-เรืออากาศตรีหญิง ชลนิสา สุภาวรรณพงศ์ และ หมวดไอ-เรืออากาศตรีหญิง สิรีธร ลาวัณย์เสถียร

นับเป็น 79 ปี ของการเปลี่ยนวงการ “การบินทหารไทย”
หมวดพิซซ่า-เรืออากาศตรีหญิง ชลนิสา สุภาวรรณพงศ์ อายุ 25 ปี จบมัธยมสายศิลป์ภาษา โรงเรียนหอวัง จบปริญญาตรีคณะมนุษยศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ บอกว่า ชอบเครื่องบินมาตั้งแต่เด็ก และมีความฝันที่อยากทำงานที่เกี่ยวกับเครื่องบิน

อีกแรงบันดาลใจที่ทำให้มุ่งมั่น มาจากที่ไปเสิร์ชข้อมูลในอินเตอร์เน็ตแล้วพบข้อมูลว่า “เรียนสายศิลป์ก็เป็นนักบินได้” อีกทั้งยังสามารถ “ศึกษาด้วยทุนส่วนตัวได้”

“หลายคนอาจจะบอกว่า การเป็นนักบินยาก แต่เราไม่ได้คิดแบบนั้นเลย เพียงแค่นึกถึงเป้าหมาย คิดถึงอนาคตข้างหน้า อยากทำงานในเครื่องบิน ถ้าละความพยายามก็ไม่สามารถอยู่ในนั้นได้ จึงไม่ทิ้งความฝัน เดินหน้าตามความฝันต่อไป”

%e0%b8%ab%e0%b8%a1%e0%b8%a7%e0%b8%94%e0%b8%9e%e0%b8%b4%e0%b8%8b%e0%b8%8b%e0%b9%88%e0%b8%b2-5

pz-8

เมื่อทุกอย่างลงล็อก เธอก็ลุยทันที สมัครเข้าเรียนที่สถาบันการบินพลเรือนหัวหิน หลักสูตรนักบินพาณิชย์ตรี (CPL) ประกอบด้วยการเรียนการบิน และขับเครื่องบินเก็บชั่วโมง 200 ชั่วโมง โดยใช้ทุนตัวเอง 2.3 ล้านบาท

“1 ปีที่เรียนที่นี่ต้องปรับตัวเยอะ ในรุ่นมีทั้งหมด 19 คน มีเราเป็นผู้หญิงคนเดียว แต่นั่นไม่ใช่อุปสรรค เรามองว่าผู้หญิงผู้ชายทำได้เหมือนกันและเท่าเทียมกัน ซึ่งก็ทำการบ้านเยอะมาก อย่างเรื่องเครื่องยนต์ที่ไม่มีความรู้มาก่อน ก็ต้องตั้งใจเรียนสุดสุด อันไหนตามไม่ทันก็พยายามหาความรู้เพิ่มตลอด

เมื่อ “ด่านแรก” สำเร็จได้รับใบอนุญาต “นักบินพาณิชย์ตรี” ก็เป็นจังหวะที่กองทัพอากาศรับสมัคร “นักบินหญิงรุ่นแรก” หมวดพิซซ่าไม่ปล่อยให้โอกาสหลุดลอย รีบกรอกใบสมัครและได้รับคัดเลือกเข้าฝึกเป็นนักบินหญิง หรือ Female Pilots รุ่นแรก ซึ่งต้องฝึกตามหลักสูตรที่กองทัพอากาศกำหนด อาทิ หลักสูตรนายทหารชั้นผู้บังคับหมวด ณ โรงเรียนนายทหารชั้นสูงผู้บังคับหมวด กรมยุทธศาสตร์ทหารอากาศ หลักสูตรเวชศาสตร์การบินกองทัพอากาศ ณ สถาบันเวชศาสตร์การบิน หลักสูตรการฝึกยังชีพในป่าและโดดร่มรามาเซล ณ โรงเรียนการบิน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม และหลักสูตรศิษย์การบินฝ่ายยุทธการ ฝูงบิน 604 กองบิน 6 รุ่น 1 ประกอบด้วย หลักสูตรภาควิชาการ 35 ชั่วโมง และหลักสูตรภาคอากาศ 41 ชั่วโมง

“ฝึกหนัก” เธอว่า
“ที่หนักที่สุด คือ วินัยทหาร เพราะทหารกับพลเรือนมีระเบียบคนละแบบ หรือการฝึกยังชีพในป่าก็ต้องใช้ความอดทนสูง เพราะต้องเรียนรู้การดำรงชีวิตในป่าให้อยู่รอดให้ได้ ฝึกโดดร่ม แต่ก็ตั้งใจทำเต็มที่ โดยเฉพาะตอนฝึกบินกับเครื่องซีที 4 รวมทั้งฝึกบินหมู่ บินผาดแผลง และบินโซโลเดียว”

ทั้งหมดทั้งมวลของความพยายาม ทำให้เธอมีวันนี้ วันที่ได้ประดับเครื่องหมายความสามารถทางการบิน “ปีกนักบินหญิง”

pz1

pz-7

อีกหนึ่งสาว “หมวดไอ” สิรีธร ลาวัณย์เสถียร อายุ 24 ปี สาวคนนี้จบเกียรตินิยมอันดับ 1 คณะสถาบันการบิน สาขานักบินพาณิชย์ตรี มหาวิทยาลัยรังสิต บอกว่า เป็นคนสนใจเรื่องพวกนี้มาตั้งแต่เด็ก และชอบการขับขี่ เพราะคุณพ่อเป็นนักแข่งรถ ก็สอนให้ขี่รถมอเตอร์ไซค์เล็กเป็นตั้งแต่เด็กๆ เมื่อถึงจุดที่ต้องเลือกสายการเรียน เห็นว่าอาชีพนักบินรับผู้หญิงด้วย จึงมุ่งชีวิตมาเส้นทางนี้

“ไอเชื่อว่าถ้าเรียนในสิ่งที่ชอบเราจะทำได้ดี”
ตลอด 3 ปีครึ่งของการเรียนจึง “สนุกมาก” ยิ่งพอทำการบินได้ดีก็ยิ่งสนุก ซึ่งเธอถือเป็นคนแรกของรุ่นที่ได้ “บินเดี่ยว” คนแรก แต่ถึงอย่างนั้น หมวดไอก็ยืนยันว่า เธอมาถึงจุดนี้ได้ไม่ใช่เพราะว่าเป็นคนเก่ง แต่ทุกอย่างมาจากความตั้งใจล้วนๆ

“ไอนั่งเรียนหน้าสุดตลอด อัดเสียงอาจารย์ทุกคลาส เพราะรู้ว่าไม่ใช่คนเก่งเลย ตอน ม.ปลายต้องเรียนพิเศษทุกวันเพื่อให้ทันเพื่อน เรียนมหาวิทยาลัย ก่อนสอบต้องเอาเสียงครูมาฟัง สรุป 3 ครั้ง ไอต้องขยันมากกว่าคนอื่น 2-3 เท่า เพราะเราไม่ได้มีความสามารถเหมือนคนอื่น ดังนั้นต้องขวนขวาย อย่างก่อนหน้านี้ไม่ชอบวิชาคณิตเลย แต่เรียนสายวิทย์ เพราะชอบวิทยาศาสตร์ จากไม่ชอบก็เปลี่ยนทัศนคติว่า เราสนใจ ก็กลายเป็นว่าเราทำได้ดี”

i-3

และคำว่า “ผู้หญิง” ก็ไม่ใช่อุปสรรคให้เธอหยุดตามความฝัน
“มีคำพูดของนักบินที่ว่า Lady’s hand, Eagle’s eye, Lion’s heart หมายถึง ต้องบินให้สมูธเหมือนมือผู้หญิง มีสายตาที่เฉียบไวเหมือนนกเหยี่ยว และมีหัวใจที่กล้าหาญ แข็งแกร่งเหมือนสิงโต ซึ่งเรามี Lady’s hand อยู่แล้ว ที่เหลือไอเชื่อว่าเราสร้างขึ้นได้ มันไม่ใช่อุปสรรคในการทำงานเลย”

หลังจากจบเกียรตินิยมอันดับ 1 หมวดไอเข้าทำงานในบริษัท Flight Experience ตำแหน่ง Instructor Pilot ก่อนจะมาเป็น “ลูกทัพฟ้า” ติดปีกนักบินหญิงกองทัพอากาศไทย

“การเป็นทหารเป็นอาชีพที่รับใช้ชาติ จะตั้งใจทำหน้าที่ข้าราชการทหารนักบินให้ดีที่สุด”

i-9

[ads] 

i-7

ณ วันนี้ ทั้ง 2 ผู้หมวดหญิงเป็นนักบินประจำฝูงบิน 601 เครื่องบินลำเลียงซี 130 มีภารกิจลำเลียง ทิ้งร่ม ช่วยเหลือกู้ภัย ดับไฟป่า และฝึกรบร่วมกับต่างชาติ อย่างไรก็ตาม ก่อนขึ้นปฏิบัติภารกิจเครื่องบินลำเลียงซี 130 ต้องมีการไปฝึกเครื่องบินซี 130 อีกระยะหนึ่งก่อน เพื่อให้ได้ตามระเบียบมาตรฐานของการบิน และจะขึ้นปฏิบัติภารกิจแบบนักบินชายทุกประการ โดยช่วงต้นจะเป็นนักบินผู้ช่วยและขยับขึ้นเป็นนักบินที่หนึ่ง โดยเส้นทางจะเหมือนนักบินชายทุกประการ

เมื่อถามถึงอาชีพนักบินกับผู้หญิงบ้านเราเป็นอย่างไร หมวดไอบอกว่า ในประเทศไทย ผู้หญิงเป็นนักบินเยอะมาก ปัจจุบันมีกัปตันที่เป็นผู้หญิงแล้ว โดยที่แรกที่มีคือสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส รุ่นแรกมี 5 คน ซึ่งแต่ละคนตอนนี้ก็อายุเยอะกันแล้ว

“อาชีพนักบินแพร่หลายในหมู่ผู้หญิงไทย ผู้หญิงบางคนมาจากการเป็นแอร์โฮสเตส ซึ่งมีมาเรียนเยอะมาก และผู้หญิงแต่ละคนทุกคนมีความมุ่งมั่นสูง เพราะทุกคนจะถูกคนมองว่าเป็นผู้หญิงจะทำได้ดีแค่ไหนกัน ทำให้ผู้หญิงที่อยู่จุดนี้มีความตั้งใจสูงว่า ฉันต้องทำได้เหมือนที่คุณทำได้ ผู้หญิงไม่มีอะไรแพ้คนอื่น อยู่ที่ว่าแต่ละคนจะคิดยังไงมากกว่า”

สำหรับ “ผู้หญิง” ที่มีความฝันอยากเป็นนักบิน หมวดไอบอกว่า ถ้ามีความฝัน ไม่ควรดูถูกความฝันของคุณ ให้เดินตามเส้นทาง ไม่ว่าจะเป็นคนที่ไม่เก่ง แต่คุณสามารถทำให้ความฝันเป็นจริงได้ เพียงแค่มีความพยายาม ความอดทน ความขยัน ซึ่งสำคัญกว่าความรู้ เพราะถ้ามีความขยันในตัว ก็สามารถขวนขวายหาความรู้ได้

“มีคำพูดของนักบินที่ว่า เราจะต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต นั่นหมายความว่านักบินจะไม่หยุดนิ่ง อย่าทำตัวเป็นน้ำเต็มแก้ว ปัจจุบันเทคโนโลยีเปลี่ยนไป เราต้องทำตัวเราให้ตามทันยุคสมัยและสิ่งรอบกาย”

i-4


ข่าวจาก : matichon.co.th

[ads=center]

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: